"ผญา " นับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมท้องถิ่นของชาวอีสานมาแต่ดั้งเดิม นอกจากนี้ยังเป้นคติเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลัง ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการครองตน ครองคน และครองงาน ให้ทันสมัยกับยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี (ผญา : มรดกอีสานเล่ม 3 : อ.สวิง บุญเจิม) เช่น
1. การครองตน ในการครองตนคนอีสานจะให้ความเคารพผู้อาวุโส มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เชื่อฟังบิดา มารดา พี่ และผู้เฒ่า แม้ได้ดีมีชื่อเสียง ก็ไม่ลืมท้องถิ่นของตนเอง ทุกเทศกาลไม่ว่าเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา คนอีสานแม้จะอยูไกลแค่ไหนจะต้องกลับมาเยี่ยมบ้าน จึงทำให้ถนนทุกสายที่มุ่งสู่อีสาน รถจะติดยาวเหยียด ดังคำผญาที่ว่า
"คันเจ้าได้ขี่ช้างกั้งฮ่มเป็พญา อย่าสิลืมเสนาผู้แห่นำตีนช้าง "
2. การครองคน ในการปฎิบัติงาน นอกจากเราจะประพฤติตนเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้ว ก็จะต้องมีความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่เล่นการเมือง ไม่แบ่งเป็นก๊วน เป็นก๊ก เป็นฝ่าย เป็นกลุ่มธรรม กลุ่มอธรรมในหน่วยงาน เพราะงานทุกอย่างจะสำเร็จได้ ต้องมีทีมงานเหมือนดังผญาที่ว่า
" คันเจ้าเป็นพญาแล้ว อย่าลืมไพร่เสนา บาดห่าสงครามมา สิเพิ่งคนทั้งค่าย นั่นเด.."
3. การครองงาน คนอีสานโดยบุคคลิกลักษณะแล้ว เป็นคนมีความมานะอดทน เลือดนักสู้ หนักเอา เบาชอบ หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน กินง่าย นอนง่าย งานไหนใครไม่ทำ อีสานลุย ตึกรามบ้านช่องในเมืองกรุง ถนนหนทางอันยาวไกล รถเมล์ รถไฟ ใต้ดิน บนดิน คนอีสานทั้งนั้นเป็นคนสร้าง เหมือนดังผญาที่ว่า
" ใจประสงค์แล้ว เมืองแก้วกะด้นฮอด ใจประสงค์ยอดแก้ว ในถ้ำกะก่นหา "
" ตกกะเทินว่าได้สู้ บ่มีถอยให้เขาด่า นับแต่เมื้อสิย่างไปหน้า สิถอยก้นนั่นอย่าหวัง "
ชาวอีสานแม้จะไปอยู่ถิ่นฐานใด ความเป็นลูกอีสานยังซึมซาบอยู่กลับสายเลือด เสียงแคน เสียงหมอลำ กลิ่นปลาร้า ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ปิ้ง แว่วเสียง และกลิ่นยังโชยมาตามสายลมในทุกที่ ทุกสถาน ในโลกใบนี้