เดล (Dale 1946 : 485-486) ได้กล่าวถึงบทบาทของงานบริหารของนักเทคโนโลยีการศึกษา ที่ทำหน้าที่ เป็นหัวหน้าศูนย์โสตทัศนศึกษา ไว้ดังนี้
1.1 ศึกษาการขยายตัวของงานบริการโดยวิเคราะห์ความต้องการต่างๆ ของผู้ใช้และประเมินผล
1.2 ทำรายงานการคาดการณ์ต่างๆ เสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานที่สูงขึ้นไป
1.3 จัดทำคู่มือการนิเทศ แคตตาล็อกและวิธีการใช้โสตทัศนูปกรณ์ต่างๆกับบทเรียน
1.4 จัดวางกฏ ระเบียบล ในการยืม รับคืน แจกจ่ายหมุนเวียนโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ
1.5 จัดเตรียมการจัดนิทรรศการ
1.6 เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์โสตทัศนูปกรณ์กับชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงงานศิลป์ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
1.7 เสนอข่าวสารใหม่ๆ แก่คณาจารย์ เช่น วัสดุใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการศึกษา
บทบาทที่ได้กล่าวมาในข้างต้นเป็นบทบาทในเชิงบริหารจัดการ ส่วนบทบาทในฐานะบุคลกรประจำศูนย์ โสตทัศนศึกษา ชัยยงค์ (2523 : 40) ได้กล่าวไว้ว่า บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาจะอยู่ที่การช่วยกำหนดระบบ การวางแผนการผลิตและการใช้สื่อการสอน และพิจารณาคุณภาพของเนื้อหาและประสบการณ์ ที่จะถ่ายทอดไปให้แก่ผู้เรียน เพื่อที่จะให้ผู้เรียนรับความรู้ได้มากที่สุด
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาควรจะเป็นผู้นำทางความคิดเกี่ยวกับการ นำเทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม มาใช้ในโรงเรียน หน่วยงานและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดในเชิงระบบ เป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และเป็นผู้มีจิตใจที่พร้อมจะเป็นผู้ให้บริการ
2.หน้าที่ของนักเทคโนโลยีการศึกษา
2.1 หน้าที่ของนักเทคโนโลยีการศึกษาในฐานะนักวางแผน ออกแบบและพัฒนาระบบการสอน ซึ่งจะเป็น การวิเคราะห์หลักสูตร ให้ครอบคลุมและตรงตามจุดประสงค์ของการเรียนการสอน เป็นต้น
2.2 หน้าที่ของนักเทคโนโลยีการศึกษาในฐานะหัวหน้าศูนย์โสตทัศนศึกษา ซึ่งอีริคสัน (Erickson,1959 : 8)ได้กล่าวถึงนักเทคโนโลยีการศึกษาที่ทำหน้าที่ด้านบริหาร ต้องมีหน้าที่ด้านต่างๆ ดังนี้
2.2.1 ให้คำแนะนำ กำหนดนโยบายการบริหารงาน
2.2.2 วางแผนโครงการระยะยาวเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและวัสดุโสตทัศนูปกรณ์ให้แก่ศูนย์ฯ เพื่อนำ ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
2.2.3 วางมาตรการในการใช้โสตทัศนูปกรณ์
2.2.4 ดำเนินการอบรมครู และเป็นที่ปรึกษาแก่ครูผู้สอน
2.2.5 เตรียมประชุมปรึกษา เกี่ยวกับโสตทัศนศึกษาร่วมกับศึกษานิเทศ
2.2.6 จัดทำงบประมาณและจัดหาเงินทุน
2.2.7 จัดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคาร
2.2.8 วางมาตรการหรือกรรมวิธีในการเลือกซื้อโสตทัศนูปกรณ์
2.2.9 จัดหาบุคลากรของศูนย์โสตฯ
2.2.10 กำหนดเนื้อที่ภายในศูนย์
2.3 หน้าที่ของนักเทคโนโลยีการศึกษาในฐานะบุคลากรประจำศูนย์โสตทัศนศึกษา
ด้านบริการ
1. บริการการใช้เครื่องมือ เช่น บริการฉายภาพยนตร์ ฉายสไลด์ ถ่าย VDO บริการเครื่องเสียง เป็นต้น
2. บริการด้านการผลิตสื่อการสอน และการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์
3. บริการด้านบำรุงรักษา ซ่อมแซม เครื่องมือต่างๆ
4. จัดฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ
5. ให้บริการด้านความรู้ ความชำนาญ เฉพาะอย่าง เช่น วิธีการผลิตสื่อการสอนชนิดต่างๆ
ด้านการใช้วิธีระบบ ได้แก่การออกแบบและพัฒนาระบบการสอน การให้คำปรึกษาแก่ครูผู้สอน เป็นต้น
ด้านการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ครูเห็นความสำคัญของการใช้สื่อการสอน และประชาสัมพันธ์ด้านอื่นๆ
3.คุณลักษณะของนักเทคโนโลยีการศึกษา
นิสิตปริญญาโทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2524 : 87-88) ได้สรุปคุณลักษณะของนักเทคโนโลยีการศึกษา ที่พึงประสงค์ของหน่วยงานดังนี้
1. ด้านบุคลิกภาพของนักเทคโนโลยีการศึกษา
1.1 ควรมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และยินดีที่จะรับงานด้านบริการ
1.2 มีความคิดสร้างสรรค์
1.3 มีความอดทน มีอุดมการณ์ที่แน่นอน ไม่ย่อท้อ
1.4 ต้องเป็นคนทันสมัย ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ
1.5 รู้จักปรับปรุง และนำความรู้มาประยุกต์เข้ากับสถานการณ์ที่เหมาะสม
1.6 มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้
1.7 รู้จักรับผิดชอบต่องานที่ปฏิบัติ
1.8 รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นคนใจกว้าง
1.9 รู้จักประชาสัมพันธ์งานด้านเทคโนโลยีการศึกษาให้กว้างขวางในหน่วยงาน
1.10 เพศชายเหมาะกับงานนอกสถานที่มากกว่าเพศหญิง
2. ด้านความรู้
ระดับปริญญาตรี
1 มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีการศึกษาทั้งหมด
2 สามารถผลิตสื่อ
3 สามารถควบคุมเครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์
ระดับปริญญาโท
1 มีความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับงานด้านเทคโนโลยีการศึกษาทั้งหมด
2 สามารถผลิตสื่อและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆได้
3 สามารถออกแบบสื่อการสอนได้ดี
4 รู้จักวางแผนและวางระบบในการทำงาน
5 รู้จักแก้ไขปัญหาให้กับหน่วยงานนั้นๆได้
6 มีความรู้ในด้านการวางแผนจัดบุคลากร
7 มีความรู้ สามารถให้คำแนะนำ ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรในหน่วยงานและบุคคลภายนอกได้
8 เน้นความรู้ทางด้านงานบริการมากกว่างานทางด้านทักษะ
สรุป
บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษา จากที่กล่าวมาทั้งหมด มิใช่สูตรสำเร็จของการเป็นนักเทคโนโลยีการ ศึกษาที่พึงประสงค์เท่านั้น การแสวงหาความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ก็ย่อมมีความจำเป็นเช่นกันบทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษาคงจะไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานศึกษาเท่านั้น การพัฒนาการศึกษาในองค์รวมระดับชาติ จำเป็นต้องมีนักการศึกษาที่หลากหลายสาขาวิชา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน จึงจะทำให้การศึกษาของชาติประสบผลสำเร็จ นักเทคโนโลยีการศึกษาจึงควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกระบวนการในการจัดการเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
"บทบาทของนักเทคโนโลยีการศึกษา คงจะไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลังเท่านั้น"