"...ผู้ที่มืดบอดหาใช่ผู้สูญเสียนัยน์ตาไม่
แต่ผู้ที่มืดบอดคือผู้ที่ปกปิดความบกพร่องของตนเอง..." วาทะคานธี
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายได้ไปดื่มสุราที่งานบวชและกลับถึงบ้านประมาณ ๑ ทุ่ม ได้ดุบุตรสาวซึ่งกำลังอ่านหนังสืออยู่ สร้างความไม่พอใจแก่ภรรยาเป็นอย่างยิ่ง จึงเกิดการทะเลาะกันเสียงดัง สักพักหนึ่งได้ยินเสียงสิ่งของตกบนหลังคาบ้าน
ผู้เสียหายเดินออกไปดู เห็นจำเลยซึ่งมีบ้านติดกันยืนอยู่รั้วหน้าบ้าน จึงถามว่าขว้างสิ่งของ(ก้อนหิน)ใส่บ้านของผู้เสียหายทำไม จำเลยตอบว่าไม่ได้ขว้างและถามกลับว่าผู้เสียหายขว้างสิ่งของใส่บ้านจำเลยทำไม
ผู้เสียหายตอบว่า ขว้างสิ่งของใส่บ้านของจำเลยเป็นการแก้แคนที่จำเลยขว้างสิ่งของใส่บ้านผู้เสียหาย แล้วทั้งคู่ได้ท้าทายให้ออกไปฟันกัน และทั้งคู่ได้ถืดมีดออกไปต่อสู่กันบนถนนหน้าบ้านพัก
ผลปรากฎว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บหลังใบหูขวา ที่โหนกแก้มขวา บาดแผลที่ศีรษะด้านขวา และบาดแผลที่นิ้วก้อยมือขวา ญาตินำส่งโรงพยาบาลและแพทย์รักษาไว้ทัน
พนักงานสอบสวนได้จับกุมและทำการสอบสวนแล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณา มีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องต๋อศาลฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
จำเลยให้การต่อสู้ว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีปัญหาว่าจำเลยจะอ้างป้องกันได้หรือไม่ ?
กรณีดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า...การกระทำของจำเลยมีลักษณะชวนให้เกิดการวิวาทรุนแรง เพราะหากผู้เสียหายก่อความรำคาญให้จำเลย ก็น่าจะใช้วิธีพูดจาขอร้องแต่โดยดี มิใช่ถือมีดพร้าไปยืนอยู่หน้าบ้านของผู้เสียหายอันมีลักษณะก้าวร้าว
อีกทั้งเมื่อพิจารณาบาดแผลของผู้เสียหายที่ใบหูขวา โหนกแก้มขวา ศีรษะด้าขวาและบาดแผลที่นิ้วก้อยมือซ้าย ปรากฎว่าบริเวณหลังใบหูขวานั้นเป็นบาดแผลพาดยาวตัดใบหูเกือบขาด จากลักษณะบาดแผลดังกล่าวเชื่อว่าเกิดจากจำเลยจงใจฟันผู้เสียหายในระยะใกล้ชิด เป็นการเลือกฟันที่อวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายบริเวณเดียวกันหลายครั้ง
นอกจากนี้ขนาดของมีดพร้าของกลางมีความยาวรวมด้ามประมาณ ๒๕ นิ้ว นับว่าเป็นมีดขนาดใหญ่ที่อาจใช้เป็นอาวุธฟันทำอันตรายบุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ จำเลยจึงย่อมเเล็งเห็นผลได้ว่าผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์ทันท่วงที การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนา จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
เมื่อเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นจำเลยใช้มีดพร้าของกลางทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จำเลยจะอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหาได้ไม่(คำพิพากษฎีกาที่ ๔๖๒๘/๒๕๕๑)
...หลักเกณฑ์ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายมี ๔ ประการ คือ
๑. มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
๒. ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง
๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้น
๔.กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ
การที่ผู้สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กัน จะอ้างว่าจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตนให้พ้นจากภัยที่คู่วิวาททำร้ายตนไม่ได้ เพราะการวิวาท หมายความว่าทั้งสองฝ่ายสมัครใจเข้าต่อสู่กัน ต่างฝ่ายต่างท้าทาย และได้ต่อสู้กันขึ้น เช่นนี้จึงอ้างป้องกันไม่ได้
...การทะเลาะวิวาทนำมาซึ่งความแตกแยก ความรุนแรง และความหายนะต่อตนเองและคนใกล้เคียง...