Advertisement
ยกให้เป็นสื่อใหม่ ด้วยอิสระและเสรีภาพทางความเห็น พร้อมชูประเด็นหลัก ปฏิวัติการสื่อสาร-สร้างความหลากหลายในการรับรู้ ช่วยสะท้อนกติกาสังคม แนะคอไซเบอร์กลั่นกรองข้อมูล ชี้ทุกสิ่งที่เปิดกว้างล้วนต้องการกติกาที่เป็นกลาง...
เมื่อ “อินเทอร์เน็ต” ได้เข้ามามีบทบาทและกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ โดยปัจจัยดังกล่าวได้แทรกอยู่ในทุกด้านของสังคม จึงมีผู้ให้ความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ถึงบทบาท หน้าที่ และประโยชน์ที่แท้จริงของเทคโนโลยีดังกล่าว รวมถึง ทางออกในการดูแลและแก้ปัญหา เพื่อป้องกันผลร้ายที่จะตามมา จากความอิสระและเสรีในการแสดงความเห็น ที่เปิดกว้างของเครือข่ายไซเบอร์ เช่นเดียวกับ งานเสวนาในหัวข้อ “การเมืองไทยในโลกอินเทอร์เน็ต” ที่มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอินเทอร์เน็ต ร่วมแสดงทัศนคติและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ด้วยมุมมองและประสบการณ์ของตน...
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน แสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน คนส่วนมากใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาความรู้และติดต่อสื่อสาร รวมถึง ใช้ค้นหาความทรงจำในอดีต ถือเป็นประโยชน์และข้อแตกต่างจากสื่อประเภทอื่นที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดมิติในการแลกเปลี่ยนความรู้ เปรียบเสมือนการเมืองระหว่างผู้ใช้และระบบทุน แม้ว่า หลายครั้งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาก็ตาม ทำให้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเยาวชนหรือวัยรุ่น ถือเป็นการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงทางการสื่อสารอย่างแท้จริง นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตยังเปลี่ยนสถานะของผู้ติดต่อ โดยเปลี่ยนฐานะผู้รับสารให้กลายเป็นผู้ส่งสาร ขณะเดียวกัน ยังสามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้จำนวนมากในเวลาเดียวกัน
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แสดงความเห็นต่อว่า สังคมดังกล่าวกำลังขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่แพร่หลายและความนิยมที่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้บางคนปกปิดตัวตนโดยการซ่อนอัตลักษณ์ ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ว่าตนเองเป็นใคร เพื่อแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งทางการเมือง เพื่อใช้ในการสร้างฐานการเมืองใหม่ และทำให้ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมได้หลายระดับ ด้วยศักยภาพและบทบาทสื่อกระแสหลัก จึงหนีไม่พ้นที่โลกอินเทอร์เน็ตที่เปรียบเป็นโลกเสมือน จะถูกดึงมาใช้และเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ด้วยความอิสระของสื่อสาธารณะอย่างอินเทอร์เน็ต จึงกลายเป็นโอกาสที่คนทั่วไปสามารถเปิดเผยความคิดของตนเองได้โดยไม่ต้องรู้จักกัน
ด้าน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายว่า อินเทอร์เน็ตถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างในสังคม และทำให้เกิดความหลากหลายในการรับรู้ ด้วยสิทธิ ความรับผิดชอบ ความน่าเชื่อถือ และพลังทางการเมือง ที่เป็นธรรมชาติหรือหน่อของประชาธิปไตย ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยประโยชน์และความอิสระในการเข้าถึงข้อมูล รวมถึง ความอิสระในการแสดงความคิดเห็น ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นอีกหนึ่งเวที ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีทุนและโอกาสได้เข้าถึง ด้วยลักษณะคล้ายป่าที่ต้องอาศัยความพยายามและการสืบค้น
กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายต่อว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสื่อใหม่ แต่ผู้บริโภคยังคงเป็นคนกลุ่มเดิม ดังนั้น การออกสื่อใหม่จึงควรสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างความเข้าใจ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดและการกลั่นกรอง ภายใต้การเปิดรับข้อมูลที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเว็บไซต์และมีฐานะเปรียบเสมือนเจ้าบ้าน ก็ควรดูแลคนในบ้าน แขก และเพื่อนบ้านของตนให้ดี เนื่องจาก อินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นเพียงตัวอักษรที่ปรากฏอยู่บนระบบ จึงสมควรต้องมีกติกาและผู้ดูแลความเรียบร้อยด้วย ส่วนการบล็อกหรือปิดเว็บไซต์นั้น อาจส่งผลให้คนทั่วไปเกิดความอยากรู้ รัฐจึงควรพิสูจน์ความเหมาะสมด้วยหลักการและเหตุผล ไม่ควรใช้หลักการของมารยาทเพื่อนำกฎหมายมาปิดกั้นอิสระทางความคิด
นางสาวสฤณี อธิบายอีกว่า ด้วยความเจริญและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเวทีที่มีประสิทธิภาพและง่ายต่อการเข้าถึง หากมีผู้ก่อการร้ายใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ก็เปรียบเหมือนสิงโตออกมาจากป่ามาทำร้ายชาวบ้าน วิธีที่จะสามารถจับสิงโตก็มีอยู่หลายวิธี จะเลือกเผาป่าให้หมดแล้วฆ่าสิงโตหรือใช้วิธีอื่น เช่นเดียวกับ ความผิดที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เจ้าหน้าที่ควรสืบให้ถึงตัวผู้กระทำความผิดจริงๆ ไม่ใช่จับกุมและดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซต์ แม้บางครั้ง รัฐจะอ้างถึงอันตรายจากการก่อการร้ายเพื่อป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่การบล็อกเว็บไซต์ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึง
ส่วน นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท แสดงทัศนคติว่า อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเปลี่ยนความจริงใหม่ทั้งหมด จากเดิม ที่รัฐเป็นผู้กำหนดความจริงและความรู้ของหนังสือพิมพ์ แต่ในยุคปัจจุบัน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ที่นิยมแสดงความเห็นผ่านโลกไร้พรมแดนดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายต่อสื่อประเพณีอย่างชัดแจ้ง ด้วยธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ก่อให้เกิดสังคมใหม่ รวมถึง กระบวนการทางปัญญา และความชัดเจนทางอุดมการณ์ที่ทุกคนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ถือว่า อินเทอร์เน็ตได้ทำลายกำแพงความกลัวภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐ
บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท แสดงทัศนคติต่อว่า จากการมุ่งนำเสนอและเปลี่ยนแปลงที่ตัวปัจเจกบุคคล ทำให้สื่ออินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างกระแสหรือปลุกการสนับสนุนของคนหมู่มากได้เต็มประสิทธิภาพ แต่จำเป็นต้องอาศัยพลังในการผลักดัน จากผู้ใช้และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แม้ว่า อินเทอร์เน็ตกำลังกระจายและคลืบคลานไปสู่สังคมชนบท อาจส่งผลให้มีบทบาทและปรับเข้ากับสังคมได้มากขึ้น โดยรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับตัวตนของบุคคล ความเข้าใจและความจริง ที่นำมาซึ่งความหลากหลาย ทำให้ความเชื่อบางประการเปลี่ยนแปลงไป
จากมุมมองและประโยชน์ของเทคโนโลยีอันล้ำหน้า ที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอินเทอร์เน็ตได้อธิบายไว้ข้างต้น ช่วยสะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งของการใช้อินเทอร์เน็ต โดยผู้ใช้ทั่วไปไม่เคยคำนึงถึงหรือรู้มาก่อน ว่านอกจากประโยชน์ที่สามารถใช้ในการสื่อสาร ส่งข้อมูล และสร้างความบันเทิงแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกติกาของสังคมในบ้านเราและกติกาสากลอีกด้วย เมื่ออินเทอร์เน็ตมีหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะ เป็นเวทีเปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็น สิ่งที่จะตามมาพร้อมประโยชน์และความเจริญเหล่านั้น คือ ปัญหานานาประการ หากไม่ได้รับการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ ไม่แน่ว่า พื้นที่แห่งความอิสระบนโลกเสมือนใบนี้ อาจก่อให้เกิดวิกฤตที่ไม่มีจุดสิ้นสุดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้ ดังนั้น ความชัดเจนจากอำนาจของภาครัฐ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของทางออกที่ดีเพื่อควบคุมเรื่องดังกล่าว หากเป็นกฎที่สร้างขึ้นจากความเห็นพ้องและยอมรับของทุกฝ่าย ภายใต้พื้นฐานการปฏิบัติที่เท่าเทียม...
แหล่งที่มา : ไทยรัฐ
Advertisement
เปิดอ่าน 13,688 ครั้ง เปิดอ่าน 56,723 ครั้ง เปิดอ่าน 15,091 ครั้ง เปิดอ่าน 22,694 ครั้ง เปิดอ่าน 19,524 ครั้ง เปิดอ่าน 20,516 ครั้ง เปิดอ่าน 31,382 ครั้ง เปิดอ่าน 11,658 ครั้ง เปิดอ่าน 14,167 ครั้ง เปิดอ่าน 12,562 ครั้ง เปิดอ่าน 10,287 ครั้ง เปิดอ่าน 12,190 ครั้ง เปิดอ่าน 9,533 ครั้ง เปิดอ่าน 14,403 ครั้ง เปิดอ่าน 11,119 ครั้ง เปิดอ่าน 4,381 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 19,274 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,428 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 18,759 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,759 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,278 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,513 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,658 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,533 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,230 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,708 ครั้ง |
เปิดอ่าน 43,106 ครั้ง |
เปิดอ่าน 34,053 ครั้ง |
|
|