ประวัติความเป็นมาของกรีฑาในต่างประเทศ
กรีฑา (Athletics) เป็นกีฬาอย่างหนึ่งมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ประกอบด้วยกิจกรรมประเภท การวิ่ง การกระโดด การพุ่ง การทุ่ม การขว้าง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์จะต้อง
ดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชีวิต เช่น การวิ่งหนี้สัตว์ร้าย หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ การแสวงหาอาหารต้องใช้
หอกหรือแหลนพุ่ง ขว้างหรือปา ผู้ที่มีความสามารถจึงจะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ
การแข่งขันกรีฑาครั้งแรกของโลกได้ดำเนินขึ้น โดยชาวกรีกสมัยโบราณได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ขึ้นที่เชิงเขาของโอลิมเปียเมื่อประมาณ 776 ปีก่อนคริสต์กาล โดยมีจุดประสงค์ในการแข่งขันเพื่อเป็นการบวงสรวง
เทพเจ้าซีอุส (Zeus) และให้ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมที่จะเป็นทหารรับใช้ชาติ การแข่งขันกีฬา
โอลิมปิกจะมีการแข่งขันกรีฑาเป็นหลัก ส่วนกีฬาอื่นก็มี การชกมวย มวยปล้ำ การแข่งรถ ผู้ที่ชนะเลิศจะได้มงกุฎ
ที่ทำด้วยใบมะกอกป่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะมี 4 ปีต่อครั้ง ได้มีการแข่งขันติดจ่อกันเรื่อยมาประมาณ 1,000 ปี
จนปี ค.ศ.393 ยุคโรมันเรืองอำนาจ จักรพรรดิทิโอดอร์ซีอุสได้สั่งให้ยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เชิงเขาโอลิมเปียและทำลายสถานที่แข่งขันรวมทั้งเทวรูปซีอุส เนื่องจากมีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการว่าจ้าง ซื้อตัวผู้เล่นที่มีความสามารถสูงเข้าแข่งขันในนามประเทศของตน
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ล้มเลิกไปนานประมาณ 15 ศตวรรษ จนกระทั่งต่อมา "บารอนเดอร์กูเบอร์แตง” ชาวฝรั่งเศส ได้ริเริ่มและฟื้นฟูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นในปี ค.ศ. 1896
เป็นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซและได้จัดให้มีการแข่งขัน 4 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยให้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันจัดการแข่งขันในระหว่างประเทศสมาชิก ตราบจนถึงปัจจุบันนี้ได้มีการแข่งขันไปแล้ว 22 ครั้ง
ประวัติของกรีฑาในประเทศไทย
ประเทศไทยได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2440
โดยจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรม
ราชินีนาถ ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานเปิดการแข่งขันและทอดพระเนตรการแข่งขัน
การแข่งขันในครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากนักเรียนและประชาชนโดยทั่วไป
จึงได้จัดให้มีการแข่งขันเป็นประจำทุกปีตลอดมา
ปี พ.ศ. 2476 กระทรวงธรรมการ ได้ตั้งกรมพลศึกษาขึ้น ซึ่งมีหน้าที่ ส่งเสริมและรับผิดชอบเกี่ยวกับกีฬาและกรีฑาและจัดให้มีการแข่งขันในระดับต่างๆ ขึ้น การแข่งขันกรีฑานักเรียน
ในครั้งแรกได้แข่งขันที่สนามหลวง และต่อมาได้ย้ายไปแข่งขันที่สนามโรงเลี้ยงเด็ก และให้มีการแสดงผลงานทางด้านการฝีมือของนักเรียนโดยทั่วไป จากนั้นได้ย้ายไปแข่งขันที่สนามโรงเรียนมัธยมราชบูรณะ หรือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน และมีการเพิ่มกิจกรรมการแข่งขันอีกมากมายเช่นการแสดงกายบริหาร ชักเย่อ วิ่งวิบาก ปิดตาหาหาง ฯลฯ จนในปี พ.ศ. 2484
ได้ย้ายสถานที่มาแข่งขันที่บริเวณ สนามกรีฑาแห่งชาติของ กรมพลศึกษาสืบมาจนทุกวันนี้
จนในปี พ.ศ. 2504 ได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีหน้าที่รับผิดชอบ
และส่งเสริมการแข่งขันทั้งทางด้านกีฬาและกรีฑาของประชาชนตลอดมา
ประโยชน์ของการเล่นกรีฑา
การเล่นกรีฑาที่เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพของร่างกายตลอดจนมีการฝึก
อย่างถูกหลักเกณฑ์และวิธีการ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์และ
สังคม เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น ๆ ดังนี้
ประโยชน์ทางด้านร่างกาย
1. ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางด้านร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง สมบูรณ์ มีความคล่องแคล่วว่องไว มีความทรหดอดทน
2. ช่วยเสริมบุคลิกภาพให้เป็นผู้สง่างามสมส่วน สง่าผ่าเผย การทรงตัวดี
3. ช่วยให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี
ยิ่งขึ้น เช่น ระบบการหมุนเวียนโลหิต ระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร
4. ช่วยให้ร่างกายมีความอดทน ทำงานได้นาน เหนื่อยช้าและหายเหนื่อยเร็ว
5. ช่วยระบายพลังงานส่วนเกินออกไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
6. ช่วยให้ร่างกายมีความต้านทานโรคได้ดี
ประโยชน์ทางด้านจิตใจและอารมณ์
1. ช่วยให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความกล้าในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
2. ช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เร้าใจและตื่นเต้น
3. ช่วยให้มีอารมณ์และจิตใจแจ่มใส ร่าเริง
4. ช่วยระบายความตึงเครียด หลังจากที่ตรากตรำจากการทำงาน
5. ช่วยให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะและรู้อภัย
ประโยชน์ทางด้านสังคม
1. ช่วยให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฏระเบียบ กติกาอย่างเคร่งครัด
2. ช่วยแก้ปัญหาของสังคม โดยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3. ช่วยให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี
4. ช่วยก่อให้เกิดสัมพันธไมตรี และความสามัคคีระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย
5. ช่วยก่อให้เกิดสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศโดยใช้การแข่งขันกรีฑาเป็นสื่อ
มารยาทของการเป็นผู้เล่นที่ดี
การเป็นผู้เล่นที่ดีจะได้รับการยกย่องจากสังคมทั่วไปว่าเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา เป็นที่นิยมชมชอบของบุคคลทั่วไป จึงควรมีข้อปฏิบัติดังนี้
1. นักกรีฑาที่ดีจะต้องศึกษาและเข้าใจในระเบียบ กฎ กติกาการแข่งขันอย่างถูกต้อง
2. นักกรีฑาที่ดีจะต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกติกาการแข่งขันอย่างเคร่งครัด
3. นักกรีฑาที่ดีจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย รัดกุมและปลอดภัย
4. นักกรีฑาที่ดีจะต้องมีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย
5. นักกรีฑาที่ดีจะต้องรู้จักประมาณความสามารถของตน ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
6. นักกรีฑาที่ดีจะต้องเล่นและแข่งขันด้วยชั้นเชิงของนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย
7. นักกรีฑาที่ดีจะต้องให้เกียรติผู้แข่งขันอื่น รวมทั้งผู้ตัดสินด้วย
8. นักกรีฑาที่ดีจะต้องยอมรับและเชื่อฟังคำตัดสินของผู้ตัดสิน
9. นักกรีฑาที่ดีจะต้องเป็นผู้รู้จักข่มใจ รักษาสติไม่แสดงโมโหโทโส
10. นักกรีฑาที่ดีจะต้องรู้จักทำใจให้หนักแน่นเมื่อปราชัย และไม่แสดงอาการดีใจจนออก นอกหน้าเมื่อมีชัย
11. นักกรีฑาที่ดีจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่นทั้งในขณะซ้อมและแข่งขัน
12. นักกรีฑาที่ดีจะต้องไม่หยิบอุปกรณ์เครื่องใช้ก่อนได้รับอนุญาต
มารยาทของการเป็นผู้ดูที่ดี
การเป็นผู้ดูที่ดีควรปฏิบัติต่อไปนี้
1. ผู้ดูที่ดีควรปรบมือแสดงความยินดีต้อนรับผู้แข่งขันทุกคน และปรบมือให้เกียรติแก่ผู้เล่นที่ดีทุกฝ่าย
2. ผู้ดูที่ดีจะต้องศึกษาและเข้าใจในระเบียบ กฎ และกติกาการแข่งขันเป็นอย่างดี
3. ผู้ดูที่ดีจะต้องให้เกียรติและยอมรับคำตัดสินของผู้ตัดสิน
4. ผู้ดูที่ดีไม่ควรเปล่งวาจาสนับสนุนผู้เล่นไปในทางที่ผิด
5. ผู้ดูที่ดีควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
6. ผู้ดูที่ดีไม่ควรรบกวนผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่ด้วยประการใด ๆ
7. ผู้ดูที่ดีไม่ควรส่งเสียงโห่ร้อง เยาะเย้ยผู้แข่งขันหรือเจ้าหน้าที่
8. ผู้ดูที่ดีจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาที่ไม่สุภาพ