เดิมวัดเป็นสถานที่ให้การศึกษา เป็นสถานที่กล่อมเกลาจิตใจของชุมชน ยังเป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมของชุมชน หมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานบวช งานประเพณี และงานประจำปี
ในการจัดงานในวัด ไม่ว่างานบุญ งานบวช งานผ้าป่าสามัคคี งานทอดกฐิน และงานทำบุญอื่น ๆ สิ่งที่ชาวพุทธเห็นจนชินตา คือ การดื่มเหล้า และการทะเลาะวิวาท กันให้เห็นอยู่เป้นประจำ
ไม่ว่างานประจำปีของวัด ของหมู่บ้าน แม้จะเป็นงานระดับจังหวัด การดื่มเหล้า การทะเลาะวิวาทก็มีกันทุกงาน กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วเช่นกัน
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณวัด หรือสถานที่สำหรับปปฎิบัติพิธีกรรมทางศาสนา(มาตรา ๓๑)
คำว่า "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" หมายความถึง สุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติควบคุมฯดังกล่าว ยังห้ามขายเครื่องแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณวัด หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา (มาตรา ๒๗)เช่นกัน
ส่วนคำว่า "ขาย" ไม่ได้มีความหมายอย่างธรรมดาตามที่ประชาชนเข้าใจกัน แต่ ยังหมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าอีกด้วย
สำหรับโทษผู้ที่ขายสุรา และดื่มสุรา ในสถานที่หรือบริเวณวัด หรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกกระทงละไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในระยะนี้ตามวัดต่าง ๆ จึงมีป้ายติดข้อความห้ามขายสุราภายในวัดไว้ หากฝ่าฝืนจะต้องรับโทษตามกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้วัดเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญของผู้ใจบุญ เป็นสถานที่กล่อมเกลาจิตใจและที่พึ่งทางจิตใจของชุมชน และหมู่บ้าน สมดังปรารถนาของชุมชนอีกด้วย