วันงดสูบบุหรี่โลกนั้นเริ่มมีการจัดงานครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
เนื่องจากองค์การอนามัยโลกเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่และสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่ไม่สูบแต่ต้องมารับควันบุหรี่ด้วย จึงจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า World No Tobacco Day เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ใช้ชื่อว่า World Spidemic ซึ่งสื่อถึงการสูบบุหรี่ที่เป็นเหมือนโรคระบาดที่ระบาดอยู่ทั่วโลก โดยในวันงดสูบบุหรี่โลกในแต่ละปีก็จะมีคำขวัญที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
ปี 2531 บุหรี่หรือสุขภาพ ต้องเลือกสุขภาพ (Between tobacco and the health, choose health)
ปี 2532 พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ (Women and Tobacco: Added risk)
ปี 2533 เติบโตอย่างสดใส ห่างไกลจากภัยบุหรี่ (Growing up without tobacco)
ปี 2534 สถานที่สาธารณะและยวดยานปลอดบุหรี่ (Public places and transport: Better be tobacco free)
ปี 2535 ที่ทำงานปลอดบุหรี่ สุขภาพดี ชีวีปลอดภัย (Tobacco free work places: Safer and healthier)
ปี 2536 บุคลากรสาธารณสุขร่วมสร้างสรรค์สังคมปลอดบุหรี่ (Health services, our window to a tobacco – free world)
ปี 2537 ทุกสื่อร่วมใจต้านภัยบุหรี่ (The media against tobacco)
ปี 2538 บุหรี่ก่อความสูญเสียมากกว่าที่คุณคิด (Tobacco costs more than you think)
ปี 2539 ศิลปะและกีฬาไม่พึ่งพาบุหรี่ (Sport and the arts: play it tobacco free)
ปี 2540 ผนึกกำลังเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ (United for a Tobacco – free world)
ปี 2541 คนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ (Growing up without tobacco)
ปี 2542 อนาคตมีคุณค่า เมื่อบอกลา...เลิกบุหรี่ (Leave the pack behind)
ปี 2543 บุหรี่คร่าชีวิต อย่าหลงผิดตกเป็นเหยื่อ (Tobacco kills don’t be Duped)
ปี 2544 เห็นใจคนรอบข้าง ร่วมสร้างอากาศสดใส ปลอดจากภัยควันบุหรี่ (Second-Hand Smoke: Let’s Clear the Air)
ปี 2545 กีฬาปลอดบุหรี่ ส่งผลดีต่อสุขภาพ (Tobacco Free Sports – Play it clean)
ปี 2546 ภาพยนตร์ปลอดบุหรี่ ส่งผลดีต่อเยาวชน (Tobacco free films tobacco free fashion)
ปี 2547 บุหรี่ : ยิ่งสูบ...ยิ่งจน (ครอบครัวปลอดบุหรี่ จะมั่งมีและแข็งแรง) (Tobacco and Poverty (A Vicious Circle))
ปี 2548 ทีมสุขภาพร่วมใจ ขจัดภัยบุหรี่ (Health Professionals and Tobacco Control)
ปี 2549 บุหรี่ทุชนิดนำชีวิตสู่ความตาย (Tobacco: Deadly in any form or disguise)
ปี 2550 ไร้ควันบุหรี่ สิ่งแวดล้อมดี ชีวีสดใส (100% Smoke-Free Environments: Create and Enjoy)
ปี 2551 เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่ (Tobacco - free Youth)
สำหรับปี 2552 นั้นมี
คำขวัญโดย องค์การอนามัยโลก Tobacco Health Warning
คำขวัญโดย กระทรวงสาธารณสุข บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย
คำขวัญโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เตือน! ควันบุหรี่ฆ่าคุณ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ได้ตระหนักถึงความสูญเสีย ทางด้านชีวิตของประชากรที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพยายามให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่ ดังเช่นที่กระทรวงได้ประกาศบังคับใช้มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือน และโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีกฏหมายที่ใช้คุ้มครองสุขภาพประชาชน ได้แก่
1. พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ที่มีสาระสำคัญในการประกาศเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งแบ่งเขตปลอดบุหรี่ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
- เขตปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง เช่น รถยนต์โดยสารประจำทาง ทั้งแบบปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ รวมถึงแท็กซี่ ตู้รถไฟปรับอากาศ และห้องชมมหรสพ
- เขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เช่น โรงเรียน ห้องสมุด แต่ยกเว้นห้องส่วนตัว
- เขตปลอดบุหรี่เกือบทั้งหมด เช่น สถานพยาบาล ศูนย์การค้า สถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ หากจะสูบก็ให้สูบเฉพาะในเขตสูบบุหรี่
- เขตปลอดบุหรี่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ เช่น ตู้รถไฟโดยสารทั่วไปที่ไม่ใช่แบบปรับอากาศ และร้านขายอาหารทั่วๆ ไป เฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ แต่ต้องจัดเขตสูบบุหรี่ไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด
2. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีสาระสำคัญในการห้ามขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงห้ามขายสินค้าอื่นและแถมบุหรี่ให้ หรือขายบุหรี่แล้วแถมสินค้าอื่น และห้ามการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม
|