การทำนาเกลือ....
...ก่อนที่จะมาเป็นเกลือ คุณทราบไหมว่าเขามีขั้นตอนในการทำอย่างไร? วันนี้ครูรัชขออนุญาตนำเรื่องราวขั้นตอนในการทำนาเกลือ มาลงบทความภูมิปัญญาไทย ในท้องถิ่น เพื่อให้ท่านได้ศึกษาขั้นตอนการทำนาเกลือ ซึ่งอาจนำประโยชน์จากความรู้นี้สู่ลูกศิษย์ต่อไป...
การเตรียมพื้นที่ทำเกลือ พอฝนท้ายฤดูจะผ่านไปในราวกลางเดือนตุลาคม ของทุกๆปี ชาวนาเกลือจะเริ่มปิดกั้นน้ำฝนที่ขังอยู่ในนาเพื่อไว้ใช้ขุดรอกร่องนาและเสริมคันดินใหม่เพื่อให้คันดินสูงขึ้นสำหรับใส่น้ำเกลือในปีต่อไป การทำคันดินเพื่อขังน้ำไว้ทำเกลือนี้ ชาวนาเกลือจะใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งเรียกว่า "รั่ว" ทำด้วยไม้ซึ่งชาวนาเกลือส่วนมากทำใช้กันเอง รั่ว มีลักษณะคล้ายคันไถ ใบรั่วมีส่วนกว้างประมาณ 10-12 นิ้วยาว 20-25 นิ้ว มีด้ามถือเหมือนรูปคันไถ ด้ามใช้ไม้กลมๆ ผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ใบรั่วตัดแบบหน้ากระดานปาดเป็นคมมีดสำหรับขุดดินแบบไถนาแต่พอบางๆ แล้วช้อนเอาดินขึ้นมาทำคันนา การขุดดินทำคันนานี้ ชาวนาเกลือเรียกว่า "เจื่อนนา" เจื่อนจากนาปลงไปจนถึงนาตากน้ำคันดินที่ชาวนาใช้รั่วขุดดินทำคันนี้จะเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ตะปุ่มตะป่ำเหมือนใช้พลั่วเหล็กขุดคันนา เพราะใบรั่วที่ชาวนาสร้างขึ้นเองจะตกแต่งคันนาได้ดียิ่ง หมาะแก่การทำคันดินนาเกลือโดยแท้
ในระยะที่ชาวนาเตรียมทำพื้นที่นาเกลือนี้ ก็จะทำการขุดรอกรางส่งน้ำจากนาเกลือถึงชายทะเลด้วย เพื่อเอาน้ำทะเลมาใช้ทำเกลือ ลำรางส่งน้ำจากชายทะเลถคงนาเกลือมีระยะทางยาวประมาณ 4กิโลเมตร ชาวนาเกลือต้องจ้างกรรมการที่รับจ้างขุดลอกลำรางเป็นเงินประมาณ 2,000 บาท ซึ่งต้องจ้างขุดลอกทุกๆ ปี การเตรียมพื้นที่ทำเกลือและขุดลอกลำรางส่งน้ำกว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาประมาณ 30 วัน และเมื่อเตรียมพื้นที่ทำเกลือขุดลอกลำรางส่งน้ำแล้วในราวกลางเดือนพฤศจิกายน ชาวนาเกลือก็จะทำการติดตั้งอุปกรณ์ในการทำเกลือ เช่น ระหัดวิดน้ำ พัดลม เครื่องยนต์วิดน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ อีก
เมื่อติดตั้งอุปกรณ์สำหรับทำเกลือแล้ว ชาวนาก็เริ่มวิดน้ำจากรางส่งน้ำขึ้นวังเป็นอันดับแรก เมื่อวิดน้ำเข้าวังได้เต็มวังแล้วก็ไขน้ำจากวังเข้านาประเทียบ (นาตากน้ำ) จากนาประเทียบไขเข้านารองเชื้อจากนารองเชื้อไขเข้านาเชื้อ จากนาเชื้อไขเข้านาปลง การไขน้ำเข้าแช่นาทุกๆ ไร่นี้ชาวนาเกลือเรียกว่า "ลาดนา" เมื่อลาดนาทุกๆไรแล้ว ในระยะนี้ชาวนาจะได้พักผ่อนประมาณ 10-15 วัน ถึงแม้จะออกนาบ้างก็เพียงแต่คอยดูระหัดวิดน้ำด้วยพัดลมล้าง ด้วยเครื่องยนต์บ้าง ซึ่งต้องวิดน้ำขึ้นวังอยู่เรื่อยๆ และคอยเติมน้ำที่ลาดนาไว้ให้ได้ระดับอยู่เสมอเพื่อไว้ใช้ในกาลต่อไป เมื่อลาดนาได้ประมาณ 15 วันแล้ว ชาวนาก็จะเริ่มไขน้ำออก ชาวนาเกลือเรียกว่า "ถอดนา" การถอนนานี้ชาวนาจะต้องถอดนาเชื้อก่อนแล้วปล่อยทิ้งตากแดดไว้ประมาณ 3-4 วัน เมื่อท้องนาถูกแดดเผาพอเท้าเหยียบดิน ดินไม่คิดเท้าแล้วก็เอาลูกกลิ้งมากลิ้งนาที่ถอดไว้แล้วนั้นจนทั่วนา 2 ครั้ง ชาวนาเกลือเรียกว่า "หลบ" 2 ครั้งก็คือ 2 หลบ แล้วเอาน้ำจากนาปลงไร่ที่ 1 ใส่แช่ แล้วก็กลิ้งไร่ที่ 1 สองหลบเช่นเดียวกัน ไขน้ำไร่ที่ 2 ใส่แช่ กลิ้งไร่ที่ 3 ใส่ กลิ้งไร่ที่ 3 ไขน้ำไร่ที่ 4 ใส่ กลิ้งไร่ที่ 4 ไขน้ำไร่ที่ 5 ใส่ กลิ้งไร่ที่ 5 ไขน้ำไร่ที่ 6 ใส่ กลิ้งไร่ที่ 6 เอาน้ำไร่ที่ 1 มาใส่อีกทำอยู่เช่นนี้ประมาณ 3 รอบ นาเชื้อไร่ที่ 6 ที่กลิ้งก่อนก็จะเริ่มตกผลึกเป็นอันดับแรก นาไร่ที่ 6 นี้จึงได้ชื่อว่านาเชื้อเพราะเป็นเกลือขึ้นก่อนนาทั้งหลาย
เมื่อนาเชื้อไร่ที่ 6 ตกผลึกเป้นเกลือแล้วชาวนาเกลือก็จะกลิ้งไร่ที่ 1 เป็นรอบที่ 4 ในการกลิ้งรอที่ 4 นี้ชาวนาเกลือเรียกว่า "กลิ้งกวดท้อง" การกลิ้งกวดท้องนี้จะต้องกลิ้งประมาณ 10 หลบขึ้นไป และเมื่อเห็นว่าท้องนาแข็งได้ที่ตามความต้องการแล้วก็ไขน้ำออกจากไร่ที่ 2 ใส่ไร่ที่ 1 ชาวนาเกลือกเรียกว่า "ปลงนา" และไร่ที่ 2-3-4 ก็ทำเช่นเดียวกับไร่ที่ 1 ไปตามลำดับ วิธีทำอย่างนี้เป็นกรรมวิธีชนิดหนึ่งของการทำเกลือ ในระยะที่ปลงนาปล่อยให้เกลือตกผลึกอยู่นี้ ชาวนาก็จะคอยเติมน้ำเกลือจากนาเชื้อไม่ให้นาปลงแห้งน้ำได้ผลึก เกลือในนาปลงก็จะค่อยๆ เกาะตัวกันหนาขึ้นเรื่อยๆ เกาะตัวกันหนาขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา รอจนได้ระยะเวลาประมาณ 20 วันหรือกว่านั้น ชาวนาก็จะเก็บผลผลิตของผลึกเกลือ การเก็บผลึกเกลือนี้ชาวนาเรียกว่า "รื้อนา" กรรมวิธีของการเก็บผลึกเกลือหรือรื้อนาเอาผลึกเกลือเข้าเก็บในฉางหรือยุ้งเกลือนี้ จะใช้เครื่องมือซึ่งทำขึ้นเอง มี รั่วซอย ไม้รุนเกลือ ทับทา ลักษณะของรั่วซอยคล้ายกับรั่วขุดดินทำคันนาแต่เล็กกว่าลักษณะของไม้รุนเกลือใช้ไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งกว้างประมาณ 6 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้วเศษ ยาวประมาณ 50 ซม.เจาะรูตรงกลางใส่ด้ามถือ ด้ามจะเป็นไม้อะไรก็ได้ยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ส่วนลักษณะของทับทารูปร่างคล้ายจอบพันดิน ต่างกับจอบที่ทับทาทำด้วยไม้ยางและไม้เนื้อแข็ง ส่วนกว้างประมาณ 12 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยาวประมาณ 85 ซม. เจาะรูตรงกลาง ใช้ไม้รวกลำงามๆ 3 เมตร เศษทำเป็นด้าม ทางเกลือตกผลึกหนาประมาณ 2 ซม. ขึ้นไป ชาวนาก็ทำรั่วซอยเกลือโดยให้ผลึกเกลือแตกออกจากกันจนทั่วนาแล้ว ก็ใช้ทับทาซึ่งมีลักษณะคล้ายจอบขนาดยักษ์นำมาชักผลึกเกลือให้เป็นแถวยาวไปตามคันนาส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็ใช้ทับทาซุ่ม (ตะล่อมเกลือ) ให้เป็นกองๆ เกลือ 1 ไร่ เมื่อตะล่อมเป็นลูกเกลือแล้วมีจำนวนประมาณ 100 ลูกขึ้นไป อันนี้ก็ไม่แน่เสมอไป แล้วแต่เกลือจะตกผลึกหนาบางซึ่งจำนวนก็ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา
สถานที่ที่เหมาะสมแก่การทำนาเกลือ คือ พื้นที่ราบริมทะเล ที่น้ำทะเลสามารถขึ้นได้ในช่วงเดือนข้างขึ้นตลอดปี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีริมทะเล เพราะดินเป็นดินเหนียว นาเกลือมี 2 ลักษณะตามสภาพพื้นที่ คือ ถ้าเป็นพื้นที่กว้างแนวตรงก็ทำ "นายืน" แต่ถ้าพื้นที่คดเคี้ยวไม่ตรงก็จะทำ "นาวน" สลับไปมา แต่นาเกลือทั้งสองประเภทจะต้องมีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน คือ
วังน้ำ เป็นแปลงที่เก็บกักน้ำทะเลที่ชักเข้ามา เรียกว่า "น้ำอ่อน" เก็บไว้ใช้ตลอดฤดูกาลทำนาเกลือ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่หมดฤดูฝนราวปลายเดือนตุลาคม จากนั้นน้ำอ่อนจะไหลไปตามช่องหูนา (ช่องน้ำไหลระหว่างอัน) เข้าสู่ "นาตาก"
"นาตาก" หรือ "นาประเทียบ" เพื่อตากแดดให้น้ำระเหยออกไป ความเค็มจึงเข้มข้นขึ้น ทุกๆ วัน น้ำจะเดินทางไปเรื่อยๆ โดยมีกระแสลมช่วยให้น้ำไหลยัก (การยักน้ำ คือ ร่องที่ทำไว้ให้น้ำไหลไปตามทิศทางที่กำหนด) ลงนาตากอันต่อไป
"นารองเชื้อ" น้ำที่ไหลมาถึงนารองเชื้อจะเข้มข้นพอสมควร จากนั้นจะตากน้ำให้ได้ความเค็มที่ 15 ดีกรี ซึ่งปัจจุบันใช้เครื่องมือวัด แต่เดิมใช้การสังเกตว่ามีคราบน้ำมันสีสนิมหรือ "รกน้ำ" จับอยู่ที่ริมบ่อหรือไม่ จากนั้นจะระบายน้ำเข้าไปใน "นาเชื้อ"
"นาเชื้อ" เป็นนาสำหรับเพาะเชื้อเกลือ ซึ่งต้องรอให้เป็น "น้ำแก่" ดีกรีความเค็มสูงถึง 24 ดีกรี ระหว่างรอก็จะเตรียมปรับพื้นที่นาให้เรียบแน่นป้องกันไม่ให้ "นาย่น" คือ พื้นนาแยกเป็นรอยร้าว น้ำจืดแทรกขึ้นมาแทน เกิดอาการท้องคืน คือผิวดินด้านล่างบวมลอกเป็นแผ่น
"นาปลง" เป็นนาขั้นตอนสุดท้าย ตากน้ำเค็มไว้ประมาณ 10-15 วัน เมื่อเริ่มตกผลึกเป็นเกลือหนาประมาณ 1 นิ้ว ก็จะเริ่ม "รื้อเกลือ" โดยใช้ "คฑารื้อ" แซะให้เกลือแตกออกจากกันแล้วใช้ "คฑาแถว" ชักลากเกลือมากองรวมกันเป็นแถวๆ จากนั้นใช้ "คฑาสุ้ม" โกยเกลือมารวมเป็นกองๆ เหมือนเจดีย์ทราย เพื่อให้เกลือแห้งน้ำ จากนั้นจะหาบเกลือลงเรือบรรทุกล่องไปตาม "แพรก" หรือคลองซอยเล็กๆ แล้วหาบขึ้นไปเก็บไว้ในลานเกลือหรือฉางเกลือรอการจำหน่ายต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฟังเพลง หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ
ศิลปิน สรเพชร ภิญโญ น้องนุช ดวงชีวัน
(ช) บ้านของพี่ทำนาทำนาปลูกข้าวทุกเมื่อ
(ญ) น้องก็ทำนาเกลือขายเกลือนั้นซื้อข้าวกิน
(ช) บ้านของพี่อยู่ที่กาฬสินธิ์
(ญ) ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร
(ช) พี่มาเจอะคนงามคนงามมาเที่ยวดาวคะนอง
(ญ) นับว่าเป็นบุญของน้องมาพบที่พี่ทักน้องก่อน
(ช) อยากไปอยู่จังที่สมุทรสาคร
(ญ) ที่พี่เว้าวอนพูดมากลัวไม่จริง
* (ช) พี่ทำนาปลูกข้าวรักน้องสาวแก้มเรื่อ
(ญ) น้องเป็นสาวนาเกลือ
(ช) หนุ่มนาข้าวไม่ทอดทิ้ง
(ช) ถ้าพี่จะไปขอไปขอพ่อจะว่ายั้งไง
(ญ) น้องสุดแสนดีใจถ้าพี่ไปขอน้องจริงจริง
(ช) หนุ่มนาข้าวรับรองไม่ทอดทิ้ง
(ญ) ถ้ารักน้องจริงอย่าทิ้งสาวนาเกลือ
ซ้ำ *