เครื่องแบบสำคัญกว่าความรู้ ?
การที่สถาบันการศึกษาไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องของการแต่งกายมากเป็นพิเศษ ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมบังคับอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดนั่นเอง
เคยมีการถกเถียงประเด็นเรื่องเหล่านี้อยู่มากครั้ง แต่ก็ไม่มีผลอะไร ที่จริงแล้วสังคมไทย (ที่ถูกครอบงำอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตยมานานเสียจนเคยชิน) ดูเหมือนจะชอบถูกปกครองในลักษณะนี้ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งการจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ก็ยังมีลักษณะของการปกครอง-ครอบงำจากอำนาจเบื้องบนให้เห็น ดังหนังสือ “ชาตินิยมในแบบเรียนไทย” ของอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ ที่หยิบเอา “ความรู้” ที่ชนชั้นปกครองสอนเด็กๆ ให้เหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนจำนวนมากมาตีแผ่โดยละเอียด
ชาตินิยมในแบบเรียนไทยเป็นที่มาของการดูถูกลาว กัมพูชา และประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายโดยรอบ ทะเลาะกับเขาไปหมด ภูมิอกภูมิใจในความเป็นไทยที่ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น แต่วิถีชีวิตที่แท้จริงกลับถูกครอบงำจากชาติตะวันตกโดยสิ้นเชิง
ชาตินิยมปลูกฝังความแค้น ส่งผลให้เกิดคนอย่างสองวัยรุ่นจากสงขลาที่เป็นข่าวเร็วๆ นี้ ว่าจงใจเลือกปล้น-ข่มขืนชาวพม่า แล้วมาอ้างกับตำรวจว่าเป็นเพราะแค้นที่พม่าเคยมาเผาอยุธยา
ความเคยชินจากการปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย และระบบอุปถัมถ์ ทำให้ครูบาอาจารย์เองก็ใช้ชีวิตที่ถูกปกครองมาตลอดเวลาอย่างเซื่องๆ หลับตาพร่ำสอนไปวันๆ แล้วด้วยความแค้นหรืออย่างไรก็ไม่ปรากฏ ก็เลยต้องมาลงเอากับนักเรียนนักศึกษา ทำให้ครูอาจารย์ประเภทนี้เหลิงอำนาจ วันๆ ก็เฝ้าจับผิดเครื่องแบบนักศึกษา ถกเถียงกันแต่เรื่องนักศึกษานุ่งกางเกงยีนส์ จับนักเรียนมากร้อนผม ยึดเครื่องประดับ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องโง่เง่าปัญญาอ่อน และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการศึกษาที่แท้จริงเลย
ก็การศึกษาที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมบังคับได้อย่างไร? การศึกษาที่แท้จริงนั้นคือการตั้งคำถามไม่ใช่หรือ? การศึกษาคือการตรวจสอบสภาพสังคมที่ตนเองมีชีวิตอยู่ คือการเรียนรู้ทำความเข้าใจในส่วนของจิตใจ ซึ่งสุดท้ายย่อมต้องในไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย คือนำไปสู่การประท้วงและเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ยอมก้มหน้ารับความอยุติธรรมอย่างสยบราบคาบ แล้วก้มกราบคลานเข่าเข้าไปนั่งพับเพียบอยู่ใต้ฝ่าตีนครูอย่างที่เป็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้
ตามรากศัพท์แล้ว คำว่า Art ไม่ได้หมายถึงศิลปะในความหมายแบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ แต่คำๆ นี้มาจากศัพท์เดิมในภาษาอินโด-ยุโรเปี้ยน ว่า /ar-/ มีความหมายว่า to fit together คือการต่อ การติดต่อ การแต่ง การจัดเรียงให้เข้ากัน คือหมายถึงงานช่างพื้นฐานเช่นต่อบ้าน ต่อเรือ ทำอาวุธ
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาคำว่า Art ก็ครอบคลุมถึงวิชาต่างๆ มากมายขึ้น ดังวิชา Liberal Arts หรือศิลปศาสตร์ หมายถึงกลุ่มวิชาหลายหลาก ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องของรัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โหราศาสตร์ นาฏยศาสตร์ ดุริยางคศาสตร์เหล่านี้เป็นต้น
จึงเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ ไม่ใช่การรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ความรู้ต้องเป็นไปอย่างกว้างขวางด้วย ที่จริงแล้ว การมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างศาสตร์ต่างๆ นั่นแหละคือศิลปะแห่งการดำรงชีวิตที่แท้จริง
การศึกษาทางตะวันตกที่แยกส่วนจนมองภาพรวมไม่เห็น (อย่างวิชาแพทย์ที่แยกออกไปเป็นหมอหู หมอตา หมอหัวใจ) ได้รับการทบทวนแล้ว และเริ่มมีการขยับตัวไปในทิศทางที่จะมองสรรพสิ่งอย่างเป็นองค์รวม งานเขียนสำคัญๆ ที่ให้แนวคิดแบบนี้คืองานของฟริตจอฟ คาปร้า ที่ชื่อว่า เต๋าแห่งฟิสิกส์ (ว่าด้วยศาสนาและวิทยาศาสตร์) และจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ (ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและศาสตร์ต่างๆ ที่ยึดโยงเข้าด้วยกัน)
ส่วนสังคมไทยก็ได้ตัวอย่างการกลับลำแนวคิดนี้มาเหมือนกัน ก็เลยทำเท่ด้วยระบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrated) ซึ่งผลก็คืองงกันไปหมดทั้งคนสอนคนเรียน เพราะระบบวิธีคิดแบบนี้มันเป็นระบบสำหรับสังคมที่ก้าวข้ามไปอีกขั้นแล้วต่างหาก ครูอาจารย์ก็เลยกินไม่ได้นอนไม่หลับ เรียกได้ว่างุนงงกันแบบบูรณาการ
ก็การที่เราจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ต่างๆ กันได้นั้น เราต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์กันจริงๆ ของผู้คนและสังคมด้วย การเรียนการสอนที่เอาแต่ดูถูกคนจน เหยียดหยามเพื่อนบ้าน ไม่มีทางจะชี้ให้เห็นภาพของสังคมจริงๆ ไปได้ ทั้งปัญหาการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะที่แก้ไม่เคยได้ ก็เป็นการสร้างระบบชนชั้นขึ้นมาอยู่ในตัว (คนจะมีการศึกษาดีต้องมีเงินมาก) ทำให้การศึกษานั้นถูกผูกขาดอยู่กลุ่มบุคคลที่พอจะมีฐานะเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นการฝากเด็ก การเรียกเงินใต้โต๊ะเหล่านี้ ก็ย่อมสร้างความเชื่อที่ว่าเงินคือพระเจ้าให้แก่ตัวเด็กเองนั่นแหละ แล้วสุดท้ายแนวคิดเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้คนชาชินไปกับการโกง การคอร์รัปชั่น เพราะเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
ยิ่งนโยบายประชานิยมที่เอาเงินมาแจกเด็กๆ ให้ซื้อชุดนักเรียนนั้นก็เห็นๆ อยู่ว่ามันเป็นเรื่องสิ้นหวัง และการให้เรียนฟรีก็ไม่ใช่ความยุติธรรม เพราะการให้นักเรียนที่รวยอยู่แล้วได้เรียนฟรีเหมือนกับคนที่ยากจน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สมเหตุสมผล มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ โตๆ ที่ใช้งบของรัฐปีละจำนวนมหาศาลในขณะที่มีชนชั้นล่างจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล
ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อสังคมเปลี่ยนเท่านั้น