Advertisement
"กาสรกสิวิทย์" โรงเรียนฝึกควาย
รายงานพิเศษ
ข้าว อาหารหลักและสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย มีกรรมวิธีและขั้นตอนในการปลูกมากมาย ต้องใช้แรงงานในการคราดไถหว่านกล้าและปักดำเป็นอย่างมาก
หนึ่งในแรงงานสำคัญของการปลูกข้าวของชาวนาไทย คือ "ควาย" หรือ "กระบือ" ที่ช่วยผ่อนแรงเกษตรกรไทยทำนาได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
ด้วยความที่ทรงสนพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานที่ดินจำนวน 110 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ที่สองคุณตาคุณยายใจบุญ นายสมจิตต์ และนางมณี อิ่มเอิบ น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงตรวจเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนใน จ.สระแก้ว เมื่อ พ.ศ.2544
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการพระราชดำริ เป็นศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาควายไทย พร้อมทั้งทำแปลงสาธิตด้านการเกษตร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วประเทศ
นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงเรียนฝึกควายแห่งนี้ว่า "กาสรกสิวิทย์" ทรงสมาสคำว่า "กาสร" ที่แปลว่า ควาย และคำว่า "กสิวิทย์" หมายถึง ศาสตร์แห่งการทำกสิกรรม
|
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จึงหมายถึง สถาบันอันประสิทธิ์ประสาทวิชาว่าด้วยการเลี้ยงควาย เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้หวนกลับมาอีกครั้ง
ทรงพระกรุณา เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2551 เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เสด็จฯ ทรงติดป้ายชื่อ "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" เพื่อเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา
พื้นที่กว่า 110 ไร่ ของ "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" ถูกจัดแบ่งไว้ทั้งสิ้น 7 ส่วนหลักด้วยกัน ประกอบด้วย
แปลงฝึก มีแปลงฝึกไถ คราด ตีลูกทุบ และหมักดิน ให้เกษตรกรและควายมีความคุ้นเคยในการทำนาจนชำนาญ เพื่อกลับไปทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง
แปลงนา เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว คัดเลือกให้ตรงตามสายพันธุ์ และมีคุณภาพดี ไม่มีการเจือปน เพื่อขยายผลถึงเกษตรกรให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี เพื่อนำไปปลูกให้ได้ผลผลิตต่อไป
นิทรรศการเครื่องมือการทำนา แสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำนาที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ทำขึ้นตามภูมิปัญญาชาวบ้าน
แปลงหญ้าอาหารสัตว์ ปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ 11 แปลง แปลงละ 1 ไร่
บ้านพักปราชญ์ท้องถิ่น แสดงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความผูกพันกับควาย และความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบพอเพียง มีพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ในบริเวณที่อยู่อาศัย รวมทั้งการประมงพื้นบ้าน
คอกควาย มีที่พักกระบือทรงเลี้ยง จำนวน 26 ตัว และมีที่พักของควายที่มาจากธนาคารโคกระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ที่เข้ามาเรียนรู้การทำนาในโรงเรียนด้วย
ส่วนสุดท้ายเป็น บ้านดิน ที่พักของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต้นแบบของ "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" เป็นแบบที่ผู้เข้ารับการฝึกสามารถกลับไปปลูกสร้างเองได้
การก่อสร้าง "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน และยังได้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างโครงการพระราชดำริ นำราษฎรในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ระดับท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น
เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และภูมิปัญญาในระดับชาวบ้านด้วยกัน
เกษตรกร ผู้ที่จะรับควายจาก "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" ต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการนำควายไปใช้ในการเกษตรอย่างจริงจัง และต้องเข้าพักอาศัยในโรงเรียน ฝึกฝนกับครูฝึกสอนผู้ใช้ควายของโรงเรียน ให้มีความชำนาญในการฝึกและควบคุมควายเพื่อใช้ในการเกษตร
ขณะนี้ "โรงเรียนกาสรกสิวิทย์" มีควายผู้ให้ความรู้ 26 ตัว ทั้งหมดนี้เป็นควายทรงเลี้ยง ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย
ส่วนควายผู้เรียนรู้จะมาจากธนาคารโคกระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ โดยควายที่นำเข้ามาฝึกเป็นลูกควายที่มีอายุประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 5 ปี เพราะอยู่ในวัยที่สามารถฝึกหัดได้
ปีแรกจะมีการฝึกจำนวนรุ่นละ 5 ตัว ปีละ 10 รุ่น 1 ปี รวม 50 ตัว และจะเพิ่มจำนวนควายผู้เรียนรู้ เมื่อการฝึกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ควายที่ผลิตได้ จะมีความสามารถในการทำเกษตรกรรมได้อย่างดี เพื่อให้เกษตรกรที่รับควายจากโรงเรียนไป สามารถใช้ควายดังกล่าวทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
www.khaosod.co.th
วันที่ 30 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,410 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 22,186 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,781 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,516 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,763 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,028 ครั้ง |
|
|