Advertisement
ศีล 4 ทางเศรษฐกิจ
ศีล 4 ทางเศรษฐกิจ
ดร. พิพัฒน์ ยอดพฤติการ แห่งเว็บ http://www.pipat.com หรือเรียกสั้น ๆ ว่า pipat.com (ตัวท่านเองใช้ชื่อ พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ในบทความของท่าน โดยไม่มีคำ ดร. นำหน้า) ได้เขียนบทความใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 18 กันยายน 2550 คอลัมน์ใหญ่ทัศนะวิจารณ์ คอลัมน์ย่อยพอเพียงภิวัตน์ เรื่อง ศีล 4 กับเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนท้ายของบทความมีดังนี้
“การปรับระบบเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ สามารถใช้ ศีล เป็นเครื่องกำกับ เนื่องจาก สี-ละ ตามความหมายเดิมแปลว่า ปกติ หากสิ่งใดเป็นไปด้วยความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ ศีลที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ กระบวนการผลิต (Production) กระบวนการบริโภค (Consumption) เรื่องอรรถประโยชน์ (Utility) และการกระจายผลผลิต (Distribution) ในที่นี้ขอเรียกว่า ศีล 4 ทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย
“1. อาชีวปาริสุทธิศีลในการผลิต คือ การเลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ การไม่ประกอบอาชีพที่เป็นการเบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่ชีวิตอื่น แก่สังคม หรือทำให้ชีวิต จิตใจ และสังคมเสื่อมโทรมตกต่ำ แต่หาเลี้ยงชีพโดยทางสุจริตด้วยความอุตสาหะพากเพียร สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ผลิตหรือทำกิจการงานเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ มีขนาดพอประมาณ ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป จนทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
“2. ปัจจัยสันนิสิตศีลในการบริโภค คือ การบริโภคปัจจัย 4 และสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจในคุณค่าแท้จริงของสิ่งนั้นด้วยปัญญา สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้บริโภคอย่างพอประมาณ ไม่หลงติดไปกับคุณค่าพอกเสริมหรือตามกระแสบริโภคนิยมจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
“3. อินทรียสังวรศีลในเรื่องอรรถประโยชน์ คือ การมิให้ถูกความชอบ ชัง ติดใจ หรือขัดใจ เข้ามาครอบงำ ให้รับรู้ตามความเป็นจริง โดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ ใช้อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่รู้หรือรับความรู้ (ซึ่งเป็นไปเพื่อการศึกษาหาความรู้) มากกว่าใช้ทำหน้าที่รู้สึกหรือรับความรู้สึก (ซึ่งเป็นไปเพื่อการเสพความรู้สึก) สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้คำนึงถึงความมีเหตุมีผล ปราศจากอคติ สามารถพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องว่ามีคุณค่า หรือก่อให้เกิดประโยชน์เพียงใด ตลอดจนให้คำนึงถึงความคุ้มค่ามากกว่าความคุ้มทุน
“4. ปาฏิโมกขสังวรศีลในการกระจายผลผลิต คือ การจัดระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ต่างๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม คำนึงถึงการกระจายผลผลิตเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันหรือความมั่นคงในชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ปิดกั้นโอกาสที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ รวมถึงสงเคราะห์เกื้อกูลผู้อื่นด้วยความสมัครใจโดยมีศรัทธาเป็นเครื่องกำกับ สอดคล้องกับทัศนะของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้คำนึงถึงการมีระบบภูมิคุ้มกันด้วยการไม่สร้างหนี้ ใช้จ่ายภายในกำลังของตัว รวมทั้งสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนโดยการอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก่อน ซึ่งที่สุดแล้ว ก็จะส่งผลกลับมาอำนวยประโยชน์แก่ตนให้อยู่รอดและเติบโต เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น และส่วนรวมให้ยืนอยู่ได้”
ขอเพิ่มเติมว่า ศีล 4 ของ ดร. พิพัฒน์ นั้น คือ ปาริสุทธิศีล ซึ่งพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ของพระธรรมปิฎกเขียนไว้ดังนี้
ปาริสุทธิศีล ศีลเป็นเครื่องทำให้บริสุทธิ์, ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ หรือความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล มี ๔ อย่างคือ
๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อนจึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช
และสำหรับคำ การกระจายผลผลิต (Distribution) ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ คือ การแบ่งผลตอบแทนในการผลิต ครับ
Create Date : 26 กันยายน 2550 |
วันที่ 29 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,398 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,163 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 33,301 ครั้ง |
เปิดอ่าน 20,218 ครั้ง |
เปิดอ่าน 18,798 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,227 ครั้ง |
เปิดอ่าน 90,117 ครั้ง |
|
|