"นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า ควายกินข้าวนกเอี้ยงหัวโต"
ประโยคนี้ ตอนเป็นเด็กเคยได้ยินจนจำขึ้นใจ และได้เห็นควายอยู่เป็นประจำ
นกเอี้ยง และเจ้าทุย กับวิถีชีวิตชาวนา
เมื่อเห็นทุ่งนา ก็ต้องเห็นควายตามทุ่งนา และเช่นเดียวกัน เมื่อเห็นควาย ก็
ต้องเห็นนกเอี้ยง
นกเอี้ยง ขี่หลังควายยามเช้า ควายก็เดินและเล็มหญ้าไปตามคันนา
โดยเหยียบย่างเดินช้าๆ ส่วนนกเอี้ยง ก็ขี่หลังควายไปพร้อมๆกัน เจ้านกเอี้ยง
เกาะยืนบนหัวควายโดยใช้สายตาจ้องมองดู จิ้งหรีด, ตั๊กแตน หรือแมลงอื่นๆ
ที่กระโดดขณะที่ควายเดินไปเรื่อยๆ ทำให้นกเอี้ยงได้จับกินเป็นอาหารเช้า
และนกเอี้ยง ได้จัดการดูแลหนอนเหลือบริ้น ที่อยู่บนหลังควาย โดยนกเอี้ยง
ได้จัดการดูแลไม่ให้รบกวนควาย ควายก็สบายมีเจ้านกเอี้ยงทำความสะอาด
ตัวให้ นกเอี้ยงก็ได้อาหารกิน ควายก็ได้เพื่อนที่แสนดี
ควายทุกตัวรักนกเอี้ยง นกเอี้ยงทุกตัวรักควาย ส่วนคนเมื่อได้เห็นนก
เอี้ยงขี่ควาย เกิดความเมตตาสงสาร ที่ได้เห็นสัตว์ที่เอื้ออาทรต่อกันอย่างมี
ความสุข ถึงกับเกิดบทกวีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาพย์โคลง กลอน หรือบทเพลง
ดังที่ได้นำมาให้ท่านได้รับฟังอยู่นี้ ล้วนแล้วมาจากทุ่งนาได้กลั่นกรองความ
งดงามให้ชาวนามีความสงบสุข สุดจะบรรยายให้ครบถ้วน.
เจ้าทุยครวญ
เอี้ยงจ๋า เอี้ยงเอี้ยงจ๋า
ไปไหนหนา ไม่ขี่หลัง
วันวาน น้องร้องดัง
วันนี้ช่าง เงียบเสียงจริง
หรือว่า น้องไปไหน
บินไปไกล เจอเสือสิงห์
หรือว่า น้องถูกยิง
น้องจึงทิ้ง พี่ทุยไป
หรือว่า ทุ่งนาพี่
จะไม่มี ให้อาศัย
อีกหน่อย พวกคนไทย
จะเปลี่ยนไป ทำนาปาล์ม
หมดนา จะทำแล้ว
ทุยไม่แคล้ว ถูกเหยียดหยาม
อยู่ไป ไม่กี่ยาม
ถูกคนถาม ซื้อฆ่าแกง
อยู่ไป ไร้ความหมาย
เมื่อเจ้านาย คิดกินแหนง
บอกขาย เขาฆ่าแกง
โอ้หมดแรง หมดคู่เคียง
เอี้ยงไป อยู่ไหนเล่า
ทำไมเจ้า ไม่ส่งเสียง
หรือไป อยู่วังเวียง
ทิ้งทุ่งนา ให้ทุยคอย.
...หยาดกวี...
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒
|