ผู้หญิงกับหลายบทบาทในสังคม
โดย. ศันสนีย์ สว่างวิวัฒน์
เป็นผู้หญิงตำราที่ว่าสวย ต้องกอปรด้วยเบญจลักษณ์เป็นศักดิ์ศรี
ถึงไม่ครบทั้งห้าตามมาลี สมัยนี้สำคัญด้วยจรรยา
อันงามรูปงามทรัพย์บังคับยาก มีน้อยมากก็ตามชาติวาสนา
ถึงร่างกายบุญกรรมก็ทำมา มิใช่ว่าสรรสร้างได้ดังใจ
คงแต่เพียงที่สามให้งามจิต งามจริตกิริยาอัชฌาสัย
งามวาจาไพเราะเสนาะใน ดำรงค์ไว้ให้งามสามประการ
แม้สตรีมีงามเพียงสามสิ่ง นับว่าหญิงน่ารักสมัครสมาน
ถึงรูปทรัพย์คับแค้นแสนกันดาร ต้องประมาณว่างามตามตำรา
อีกนัยหนึ่งเครื่องประดับสำหรับนาฎ ศิลปศาสตร์เป็นของจะต้องหา
งามอะไรก็ไม่เยี่ยมเทียมวิชา อาจจะพาให้กายสบายเบา
อันสตรีที่งามด้วยความรู้ เป็นที่ชูโฉมเชิดเลิศเฉลา
แต่อย่าเพียรเรียนเล่นพอเป็นเรา ต้องเรียนเอารู้ดีจึงมีคุณ
( สุภาษิตสอนหญิง พระนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ คงสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในอดีต มีความคาดหวังต่อผู้หญิงอย่างไร? ผู้หญิงไทยสมัยก่อนนอกจาก “ดาบต้องแกว่ง เปลต้องไกว”แล้ว
ผู้หญิงยังต้องมีความงามทั้ง กิริยา วาจา จิตใจและมีความรู้ด้วย ไม่ใช่มีแค่ความสวยงามด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว คำสอนในวิถีแห่งไทยนี้มีคุณค่าและยังไม่ล้าสมัย หากแต่คนรุ่นใหม่ได้ละเลยและละทิ้งสิ่งดีงามไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งอาจเป็นเพราะสังคมปัจจุบันได้ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของสื่อและถูกกลืนด้วยกระแสวัฒนธรรมต่างชาติไปโดยไม่รู้ตัว
อิทธิพลของสื่อ ได้สร้างทัศนคติและค่านิยม ให้ผู้หญิงมีความฟุ้งเฟ้อ ต้องสิ้นเปลืองเงินทองและอุทิศเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ความสวยงามภายนอก บางคนถึงกับยอมเจ็บตัว เพื่อแลกกับความสวยที่ออกแบบได้ ด้วยการศัลยกรรม ทั้งดารา พิธีกร นางแบบในโฆษณา ทั้งหลายต่างกระตุ้นจูงใจและสร้างค่านิยมว่า ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องสวย ต้องผอม ต้องผมนุ่ม ต้องมีผิวขาวอมชมพู (และขาวแม้บริเวณใต้วงแขน) ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในสื่อที่คุ้นเคยเหล่านี้ เร่งเร้าให้ ผู้หญิงต้องดิ้นรน ซื้อหาเครื่องสำอาง รองเท้า กระเป๋า น้ำหอม เสื้อผ้า in trend และสินค้า Brand name ทั้งหลาย เพื่อการแต่งกายที่บ่งบอกรสนิยมที่ดี สิ่งเหล่านี้เพิ่มคุณค่าของผู้หญิงได้ตามภาพและข้อความในโฆษณาได้จริงหรือ ? สิ่งที่สื่อได้ปลุกกระแสวัตถุนิยมในเวลานี้ ชี้ให้เห็นว่าค่านิยมของสังคมไทยสมัยก่อนกับปัจจุบันกำลังเดินสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้นทั้งสื่อโฆษณา ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ยังได้ชี้นำให้คนในสังคมคาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องเป็นทั้ง working mother และ caring mother นั่นคือการรับภาระทั้งงานนอกบ้าน ในบ้านและเลี้ยงดูลูกเบ็ดเสร็จ ผู้หญิงจะต้องรับบทหนัก ในการเป็นคุณแม่คนดีที่หนึ่ง บทบาทภรรยาที่ฉลาดและแสนดี และบทบาทผู้หญิงเก่ง แบบ working woman ในเวลาเดียวกัน
สังคมคาดหวังกับผู้หญิงมากไปหรือเปล่า ? สื่อควรจะช่วยส่งเสริมสถานภาพของผู้หญิงเพื่อสร้างความเข้าใจ ในเรื่องGender มากขึ้นหรือไม่ ? เป็นคำถามที่คนในสังคมควรร่วมกันหาคำตอบ
ในความจริงนั้น นักวิชาการ ได้แบ่งบทบาทภาระ ของผู้หญิง( Women's Multiple Roles ) ไว้ดังนี้
1. Productive Roles (บทบาทการผลิต) ได้แก่การทำงานที่ก่อให้เกิดมูลค่าที่สามารถแลกเป็นตัวเงินหรือสิ่งของได้ รวมทั้งกิจกรรมที่สามารถซื้อแลกเปลี่ยนได้ในตลาด และแม้แต่กิจกรรมที่ผลิตเพื่อยังชีพในครัวเรือน แต่สามารถมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยนได้
2. Reproductive Roles (บทบาทในการทะนุบำรุงสมาชิกในครอบครัว) ได้แก่ การให้กำเนิดบุตร การทะนุบำรุงให้สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ดี เพื่อสามารถเป็นกำลังแรงงานของประเทศ รวมถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่มุ่งสร้างปัจเจกบุคคลให้มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโครงสร้างของสังคม ให้สังคมดำรงคงอยู่สำหรับคนรุ่นหลังต่อไปได้
3. Community Management and Political Activities (บทบาทการจัดการชุมชน) เป็นบทบาทของสตรีที่ขยายจากระดับครัวเรือนออกไปสู่ชุมชน เพื่อให้มีการจัดหาหรือบำรุงรักษาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อการอุปโภคร่วมกับของสมาชิกชุมชน เป็นงานอาสาสมัครที่ทำในเวลาว่างไม่มีค่าตอบแทน
จากบทบาททั้ง 3 ข้างต้น จะเห็นว่าผู้หญิงได้ทำบทบาทหน้าที่ ในการผลิต และบทบาทในความเป็นแม่ได้เป็นอย่างดีแล้ว เหลือเพียงบทบาทที่ 3 คือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในชุมชน ในการเมือง การปกครองและการบริหาร ที่ผู้หญิงยังมีส่วนร่วมน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะบทบาทความเป็นแม่และบทบาทในการทำงานได้ดึงเอาเวลาและสรรพกำลังของผู้หญิงไปมากแล้ว ผู้หญิงจึงไม่สามารถแสดงบทบาทหรือศักยภาพในบทบาทที่ 3 ได้อย่างเต็มที่ และบางครั้งผู้หญิงอาจไม่ได้รับโอกาสนั้น เพราะการรับรู้และทัศนะที่สังคม ซึ่งมองผู้หญิงด้อยกว่าในการทำงาน ทำให้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับและทำให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานน้อยกว่าผู้ชาย