Advertisement
ปัญหาการศึกษาชายแดนใต้ กับโจทย์ที่ยังตีไม่ออก
Written by aman news center |
Friday, 15 May 2009 18:43 |
ณรรธราวุธ เมืองสุข
|
โจรใต้ป่วนอีกใช้จยย.บอมบ์สนั่น สนามแข่งนกกรงหัวจุกชิงถ้วยนายก “อภิสิทธิ์” ที่ปัตตานี ส่งผลให้รถ จยย.ที่จอดอยู่ข้างสนามพังเสียหายหลายคัน ผู้มาชมการแข่งขันหนีตายโกลาหล โชคดีไม่มีใครเจ็บตาย เนื่องจากขณะเกิดระเบิดไม่มีใครอยู่ใกล้จุดระเบิด ด้าน “จุรินทร์” รมว.ศึกษาฯ ลงใต้มอบนโยบายเรียนฟรีแก่ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ
สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คนร้ายยังป่วนไม่เลิก เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.พูนศักดิ์ ประเสริฐเมธ ผกก.สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สนามฟุตบอลโรงเรียนบ้านประตูโพธิ์วิทยา ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันนกกรงหัวจุกยะรัง ครั้งที่ 1 ชิงถ้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทั้งอยู่ หมู่ 3 ต.ยะรัง จึงรายงานให้ พล.ต.ต.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว ผบก. และนำกำลังตำรวจ ทหาร ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดไปที่เกิดเหตุ ไปถึงพบว่าจุดเกิดเหตุอยู่ทางเข้าด้านข้างของสนามแข่งนก พบซากรถ จยย.ที่คนร้ายซุกระเบิดยี่ห้อฮอนด้า ทะเบียน กบย 213 ยะลา สภาพถูกแรงระเบิดจนแหลกทั้งคัน แรงระเบิดยังทำให้รถ จยย.และรถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหายหลายคัน และพบชิ้นส่วนระเบิดกระจายไปทั่วบริเวณ แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
จากสอบสวนทราบว่า ขณะที่มีประชาชนหลายพันคนต่างนำนกกรงหัวจุกมาแขวนไว้ที่ราวกลางสนามแข่ง จำนวนกว่า 2 พันตัว เพื่อชิงถ้วยรางวัลของนายกรัฐมนตรีและอีกหลายรางวัล ถือเป็นงานใหญ่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร คอยดูแลความเรียบร้อยรอบๆ สนามแข่ง ปรากฏว่ามีคนร้ายนำรถ จยย.ที่ซุกระเบิดแสวงเครื่อง จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือมาจอดไว้ข้างสนาม เพื่อต้องการทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน จากนั้นจึงได้กดชนวนระเบิดทันที แรงระเบิดทำให้ผู้ที่มาร่วมงานต่างตกใจหนีตายกันอลมาน แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย ซึ่งหลังจากเกิดระเบิด ก็ยังมีการแข่งขันนกต่อไปจนจบ ส่วนสาเหตุเชื่อเป็นการสร้างสถานการณ์
วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ ได้เดินทางมาที่โรงเรียนบำรุงอิสลาม หมู่ 1 ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อมอบนโยบายโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ โดยมี นายธีระเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และหัวหน้าส่วนราชการ และ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ผู้บริหารโรงเรียนบำรุงอิสลาม คณาจารย์ โต๊ะครู ผู้นำศาสนา คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมให้การต้อนรับ จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้เข้าห้องประชุม ชี้ แจงมอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน/สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้, โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ และรับฟังปัญหา-ความคิดเห็น จากคณะครูผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี มอบทุนการศึกษาตามโครงการส่งเสริมการศึกษานักเรียนกลุ่มพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างจากภูมิภาคอื่น
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากสภาพการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหลากหลายในการจัดการศึกษามากกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะในการจัดการศึกษาของเอกชน ได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่มาก มีสถานศึกษาเอกชนที่หลากหลาย มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ, สอนศาสนาอย่างเดียว, สถาบันศึกษาปอเนาะ, ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา โรงเรียนเอกชนสามัญ และเอกชนอาชีวศึกษา รวมสถานศึกษาของเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 2,655 โรงเรียน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสถานศึกษาของรัฐกับเอกชน มีสัดส่วน 31 : 69 และเทียบในส่วนของนักเรียนระดับมัธยมของรัฐและของเอกชนมีสัดส่วนเป็น 30 : 70 ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ ขึ้นในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา 4 อำเภอเท่านั้น โดยคาดว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จะผลิตผู้เรียนออกมาอย่างมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีของสังคม ประกอบอาชีพสุจริต เป็นแกนนำที่สำคัญในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในพื้นที่
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า การพัฒนาหรือสนับสนุนทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของรัฐบาล รวมทั้งการจัดศึกษานิเทศก์ จะทำเท่าเทียมกันซึ่งล้วนแล้วส่งผลในการพัฒนาการศึกษาของไทยให้เจริญมากขึ้น ส่วนการเรียนฟรีนั้น ที่ทุกคนเป็นห่วงคือหนังสือเรียนนั้น จะไม่ทันเรียนเปิดเทอมในวันที่ 18 พ.ค.นั้น ซึ่งตนก็เป็นห่วงจะไม่ทันสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็น แน่เพราะการทำงานของเด็ก 12 ล้านคน จำนวน 4 หมื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จจากการมอบนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานีเพื่อพบปะกับ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหาร ผู้นำศาสนา พร้อมมอบนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน/สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ทายาท นายภูวนาท ยีจิ ข้าราชการครูโรงเรียนมูฮัมมาดียะห์ (ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตในโรงเรียน) และอีกหลายคนที่มีผลกระทบเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ ก่อนเดินทางกลับ กทม.
โจรใต้เผาร.ร.ปัตตานีวอด
โจรใต้เผาร.ร.ปัตตานีวอด-สงกรานต์ชายแดนใต้เงียบ
โจรใต้ ลอบเผา อาคารเรียน โรงเรียนบ้านด่าน อ.มายอ จ.ปัตตานี วอด ด้านบรรยากาศสงกรานต์ใน จ.ปัตตานี และ ยะลา เป็นไปด้วยความเงียเหงา
เมื่อสักครู่ที่ผ่านมาเกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงอาคารเรียนโรงเรียนบ้านด่าน ม.10 ต.ลางาม อ.มายอ จ.ปัตตานี เพลิงได้ลุกไหม้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จนทำให้อาคารเรียนไม้ชั้นเดียว 4 ห้องเรียนได้รับความเสียหายจำนวน 1 หลัง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่
สำหรับ บรรยากาศเล่นน้ำสงกรานต์ปัตตานี ค่อนข้างเงียบเหงาเนื่องจากประชาชนไม่กล้าออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายเริ่มมีประชาชนออกมาเล่นน้ำบนถนนบางสาย เช่น ถนนสายเจริญประดิษฐ์ และ มะกรูด โดยได้มีการปิดถนนชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนได้เล่นน้ำคลายร้อน ร่วมเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ยังมีการแสดงดนตรี จากเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นจำนวนมาก
ขณะที่บรรยากาศวันสงกรานต์ ในเขตเทศบาลนครยะลาเงียบเหงาไปถนัดตา ประชาชนไม่ได้ออกมาเล่นสาดน้ำเท่าที่ควร มีเพียงกลุ่มเด็ก ๆ ในเขตเทศบาลนครยะลาบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ เป็นผลกระทบจากการก่อเหตุความไม่สงบที่ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางไปเที่ยวสงกรานต์ในต่างจังหวัดกันมาก และร้านค้าต่าง ๆ ได้ปิดให้บริการกันเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้บรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ในจังหวัดยะลาเงียบเหงาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบว่า สัญญาณโทรศัพท์มือถือยังคงถูกตัดทำให้ใช้การไม่ได้เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลกระทบให้การติดต่อทางโทรศัพท์ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
ถ้าการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาในชายแดนใต้ยังถูกประเมินด้วยคำพูดว่า ‘ต่ำกว่ามาตรฐาน’ ด้วยเหตุของการ ‘อ่อนด้อยภาษาไทย’ จนกลายเป็นจุดอ่อนของการตีโจทย์ในวิชาอื่นไม่แตก ส่งผลให้เกิดความ ‘อ่อน’ ตามกันไป ดูเหมือนบทสรุปนี้ ผู้พูดเองก็คง ‘ตีโจทย์ไม่แตก’ ยิ่งกว่า เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ปัญหาที่ส่งผลกระทบให้การศึกษา ‘ภาคสามัญ’ ของนักเรียนนักศึกษาในภาคใต้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของรัฐอยู่ตรงไหน
สัปดาห์ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางลงมาเยือน จ.ปัตตานี โดยมีเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การมอบนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของรัฐบาลให้แก่โรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้เวลานี้ในการพบปะกับผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาพร้อมกับนักเรียนและผู้ปกครอง และใช้เวลาในการทำความเข้าใจเรื่องนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลค่อนข้างมาก
ในช่วงหนึ่งของการแถลงมอบนโยบาย นายจุรินทร์กล่าวว่า “สำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำที่สุดของประเทศ ซึ่งต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยผลการสอบวัดผลกลาง หรือ คะแนนโอเน็ตของนักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในอันที่ 74 – 76 ของประเทศ ตนจึงมีนโยบายให้เร่งดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดงบประมาณพัฒนาเฉพาะสำหรับวิชาภาษาไทย เนื่องจากเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อ่อนภาษาไทย จึงตีโจทย์ไม่แตก ส่งผลให้วิชาอื่นๆ อ่อนลงไปด้วย
“ส่วนเรื่องที่สองคือการพัฒนาครู ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้งการศึกษาสายสามัญและอิสลามศึกษา เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการวัดผลการศึกษาทั้งสายสามัญและอิสลามศึกษาด้วย ซึ่งจะต้องกำหนดแผนและตัวชี้วัดต่อไป”
คำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอะไรผิด และเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างยิ่ง แต่เมื่อถามว่าในปัจจุบัน ปัญหาทางการศึกษาของเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ตรงไหน โจทย์ที่รัฐมนตรีฯ จุรินทร์กล่าวถึงนั้น ไม่ใช่ ‘สาเหตุ’ กลับแต่เป็น ‘ผล’ ของการตีโจทย์ที่ไม่เคยแตกของกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ทุกรัฐบาล ทุกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปัญหาภาคใต้ปะทุ ดูเหมือนยังแก้โจทย์นี้ไม่สำเร็จ แต่กลับใช้วิธีการหยาบๆ ประเมินผลของเด็กๆ ว่าต่ำกว่ามาตรฐานเด็กไทยคนอื่นเสมอ
การประเมินด้วยเกณฑ์ความรู้ภาษาไทย ไม่ใช่เป็นคำตอบที่ถูกต้องตายตัว ในเมื่อคนส่วนใหญ่ที่เป็นมลายูมุสลิมไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสื่อสารหลักในชีวิตประจำวัน นอกจากออกไปรายงานหน้าชั้นเรียนหรือคุยกับคุณครูแล้ว ภาษาไทยดูเหมือนเป็นเรื่อง ‘ไม่จำเป็น’ สำหรับเด็กๆ คำว่า ‘ภาษาราชการ’ ยังอยู่ห่างจากความเข้าใจของคนวัยนี้
เห็นด้วยกับวิธีการเพิ่มครูสอนภาษาไทย เห็นด้วยกับสิ่งที่พยายามทำเพื่อเพิ่มศักยภาพของเด็กชายแดนใต้ แต่ถ้าคาดหวังให้ประสบผลสำเร็จทั้งระบบ ก็ต้องบอกตรงไปตรงมา ว่าวิธีการอย่างนั้นไม่อาจแก้ไขได้
และในพื้นที่แห่งนี้ไม่ควรวัดด้วยระดับเกณฑ์มาตรฐานของการสอบวัดผลกลางหรือ ‘โอเน็ต’ ในเมื่อโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสองระบบ เรียนทั้งสายสามัญและสายศาสนา โรงเรียนปอเนาะถือเป็นแหล่งวิชาการที่นักเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องผ่านให้ได้ เพราะศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าความรู้ทางโลก
นักเรียนนอกพื้นที่ 3 จังหวัด หรือคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้ภาษาไทยและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้มากกว่านักเรียนมลายูมุสลิม ไมได้อยู่ในสังคมที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาหลัก การเอามาตรวัดมาตรเดียวกันมาชั่งตวง อย่างไรเสียคำตอบที่ได้ก็ไม่อาจบ่งชี้มาตรฐานที่แท้จริง
ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าไม่อาจบ่งชี้ถึงมาตรฐานว่า รับกับมาตรวัดนั้นไหวแค่ไหน ความรู้ความสามารถถึงขั้นรับมือกับสิ่งที่เด็กต้องเรียนมากกว่านักเรียนนอกพื้นที่ได้หรือไม่ แต่เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะเข้าใจข้อมูลตรงนี้ดี
แต่ถ้าเด็กอ่อนวิทยาศาสตร์ อ่อนสังคม อ่อนคณิตศาสตร์แล้วบอกว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพราะการอ่อนวิชาภาษาไทยทำให้ไปตีโจทย์เหล่านั้นไม่แตก ดูจะเป็นการสรุปผลที่หยาบคายจนเกินไป
ระบบที่ตั้งไว้ มาตรฐานที่วาง สามารถนำไปใช้กับคนทุกกลุ่มได้จริงหรือ-หรือต้องสร้างมาตรฐานเฉพาะขึ้นมาใหม่อีกรูปแบบ นั่นคือสิ่งที่ต้องขบคิด
อย่าให้เด็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องรับการผลการประเมินว่าอ่อน -อ่อนกว่ามาตรฐานที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด ในขณะที่สมองต้องใช้ทั้งการเรียนทางโลกและทางธรรม ไม่มีคนมาถามว่าไหวแค่ไหน แต่ก็ยังคิดว่านั่นคือหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบให้ได้ดีทั้งสองทาง
ผลจากการประเมิน มันจะเกิดเป็นมายาคติสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ที่จะตัดสินไปว่า เด็กๆ ในพื้นที่แห่งนี้เป็นผู้ขาดความสามารถ ไม่ควรรับเข้าเรียนต่อหรือทำงาน ซึ่งคำกล่าวนี้ถูกพิสูจน์มาแล้วนักต่อนัก จนกลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจของเด็กๆ ที่ถูกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกระชากโอกาสทิ้ง
จึงนำไปสู่คำถามว่าแล้วปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน...
เช้าวันที่ 13 พฤษภาคม โรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเปิดการเรียนการสอน แต่ที่โรงเรียนบูกิตประชาอุปถัมภ์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นักเรียนร้อยกว่าคนต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติหน้าเสาธงที่ตั้งอยู่ด้านหน้าซากอาคารไม้ 2 ชั้นซึ่งถูกคนร้ายลอบวางเพลิงได้รับความเสียหายทั้งหลัง เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาเข้าเรียน เด็กๆ ต้องเรียนกันในห้องเรียนชั่วคราว อุปกรณ์การเรียนการสอนก็แทบไม่มี ส่วนช่วงพักรับประทานอาหารเที่ยง นักเรียนต้องนั่งรับประทานอาหารกับเสื่อ เนื่องจากโต๊ะเก้าอี้ถูกเผาไปหมดแล้ว
และที่สนามยิงปืนหน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 บ้านยีลาปัน หมู่ 11 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา พ.ท.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 พร้อมด้วย พ.ต.อ.สมเพียร ภูวพงษ์พิทักษ์ ผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา และ ว่าที่ ร.ต.นริทร์ สาโร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ได้นำข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งชาย-หญิง ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จำนวน 60 คน เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรยิงปืน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้า ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธปืน กฎหมายอาวุธปืน วิธีใช้อาวุธปืนพกระบบกึ่งอัตโนมัติ (แม็กกาซีน) และปืนพกระบบรีวอลเวอร์ (ลูกโม่) อย่างถูกต้องปลอดภัย ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการฝึกยิงปืนด้วยกระสุนจริง
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากในพื้นที่ อ.บันนังสตา เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย และ เคยเกิดเหตุร้ายกับบุคลากรทางการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ทำให้ขวัญและกำลังใจของครูในพื้นที่ลดลง หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจัดโครงการฝึกยิงปืนเพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาเกิดความมั่นใจในการป้องกันตนเองมากยิ่งขึ้น
นี่คือที่โจทย์ที่แท้จริงสำหรับปัญหาการศึกษาของเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้...
โรงเรียนยังถูกเผาเป็นว่าเล่น ครูยังถูกคร่าเอาชีวิต ส่วนหนึ่งขอย้ายตนเองออกนอกพื้นที่ คนที่ยังอยู่ก็หาวิธีการให้ตนเองอยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไปฝึกเรียนยิงปืน ซึ่งสะท้อนว่า บุคลากรทางการศึกษาไม่อาจใช้ความสามารถของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ ใจหนึ่งสอนเด็ก อีกใจหนึ่งก็กลัวตาย แทนที่รัฐจะหาทางออกของภาวะนี้ด้วยวิธีอื่น กลับยื่นปืนให้ครู ฝึกวิธีการใช้ให้พร้อมสรรพ แต่ยังวาดหวังพวกเขาทำหน้าที่ชี้ทางแห่งความรู้ให้กับเยาวชน
มือหนึ่งถือชอร์ก ส่วนเอวเหน็บซองปืน แล้วจะคาดหวังมาตรฐานของเด็กชายแดนใต้เท่ากับนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุมดมศึกษาในกรุงเทพมหานครได้อย่างไร
โจทย์นี้ต่างหากที่รัฐเป็นผู้ตีไม่เคยแตก....
วันที่ 29 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,191 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,221 ครั้ง เปิดอ่าน 7,153 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,149 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,152 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 36,898 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,939 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,442 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,604 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,305 ครั้ง |
|
|