Matichon
เห็นแล้ว "เจ็บ" แทน แต่วัยรุ่นน่ะเป็นวัยอยากรู้อยากลอง คะนองไปตามเรื่องราว จนลืมความเจ็บปวด ไม่อย่างนั้นเนื้อตัวร่างกายของวัยรุ่นยุคสมัยที่อะไรๆ ก็เป็น "เทรนด์" คงไม่มีรอยสัก รอยเจาะเต็มไปหมด
ว่าแต่แฟชั่นทั้ง "สัก" ทั้ง "เจาะ" น่ะเชยเต็มทีแล้ว เพราะถ้าจะให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ เขาต้อง "กรีด"
แฟชั่นเจ็บตัวอีกหนึ่งอย่างที่กำลังมาแรงนั่นคือ "สการ์" (Scar) หรือการกรีดผิวหนังให้เป็นรอยแผลเป็น ตามแบบลวดลายต่างๆ คล้ายกับการสัก แต่เรื่องความเจ็บไม่ต้องพูดถึง การทำสการ์เจ็บกว่าการสักหลายสิบเท่า แต่ก็อย่างว่าเทรนด์ใหม่เสียอย่างแม้ว่าจะเจ็บมากแค่ไหน วัยรุ่นวัยโจ๋ทนได้กันอยู่แล้ว แถมแฟชั่นเจ็บๆ อย่าง "สการ์" กำลังฮิตฮ็อตในหมู่วัยรุ่นที่นิยมความเจ็บอีกด้วย หลายเสียงของเจ้าของร้านสักต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ามีวัยรุ่นสนใจเข้ามาทำสการ์กันไม่น้อยทีเดียว
"บอล" เจ้าของร้านสัก "นานา แทตทู" ย่านตรอกข้าวสาร เล่าว่า แฟชั่นการทำสการ์เป็นเทรนด์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นชาวต่างชาติ ระยะหลังวัยรุ่นไทยเริ่มให้ความสนใจทำสการ์กันมากขึ้น มีวัยรุ่นเริ่มสนใจมาสอบถามและสนใจทำกันมากขึ้น บางเดือนสูงถึง 10 คน สาเหตุที่วัยรุ่นไทยยังไม่กล้าทำ เพราะรู้สึกว่าวิธีการทำสการ์น่ากลัวเจ็บมากกว่าการสัก และเสียเลือดมากด้วย
ชักอยากรู้แล้วสิว่าถ้าอยากให้แฟชั่นเจ็บนี้มาประดับบนเรือนร่างต้องทำอย่างไรบ้าง
ช่างสักย่านถนนข้าวสาร อธิบายว่าขั้นแรกต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อนว่าทำแล้วไม่สามารถลบได้และต้องดูแลความสะอาดแผลให้ดี เพราะโอกาสที่แผลจะติดเชื้อมีสูงมาก เมื่อเข้าใจแล้วลูกค้าจะเลือกลาย จากนั้นจะทำความสะอาดผิวหนังด้วยแอลกอฮอล์บริเวณที่จะทำสการ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นบริเวณหัวไหล่ ท้อง และแผ่นหลัง หลังจากทำความสะอาดเสร็จก็จะฉีดยาชา เมื่อร่างกายชาแล้วจึงเริ่มใช้มีดกรีดผิวหนังเป็นลวดลายต่างๆ มีดที่ใช้จะเป็นมีดชนิดเดียวกันที่หมอใช้ผ่าตัด
โดยจะเลาะผิวหนังด้านนอกออก ที่สำคัญการกรีดมีดลงบนผิวหนังต้องกรีดให้เบาที่สุดไม่ควรลึกมาก เพราะหากลึกเกินไปคมมีดอาจไปโดนเส้นเลือดได้ โดยเครื่องมือในการทำทุกชิ้นต้องผ่านการทำความสะอาดมาอย่างดี ประมาณ 2-3 อาทิตย์เนื้อที่เลาะออกก็กลายเป็นแผลเป็น หลังจากทำเสร็จแล้วก็จะมียาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดให้ลูกค้ากลับไปทานต่อที่บ้าน ระยะเวลาในการทำขึ้นอยู่กับลายที่ลูกค้าเลือก หากลายยากการทำก็จะนานเป็นชั่วโมง ส่วนราคาจะแพงกว่าการสักประมาณ 2-3 เท่า ตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท
ด้านเจ้าของร้านสักย่านตลาดนัดตะวันนาบางกะปิ ย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า แฟชั่นการทำสการ์นั้นยังใหม่มากสำหรับวัยรุ่นไทย แต่ช่วงนี้วัยรุ่นจะเข้ามาถามที่ร้านกันมากขึ้น เพราะเห็นมาจากในหนังสือและตามเว็บไซต์ต่างๆ แต่พออธิบายถึงขั้นตอนการทำว่ามันเจ็บมาก และค่าใช้จ่ายสูง หลายคนก็กลัวและไม่กล้าทำ แต่ก็มีหลายคนที่พร้อมจะทำสการ์ ลวดลายการทำนั้น ร้านก็ดูแบบมาจากหนังสือลายสักจากต่างประเทศ ซึ่งช่างสักที่ร้านก็กำลังเรียนการทำสการ์อยู่ ส่วนใหญ่ก็ไปเรียนกันที่ย่านสักดังๆ อย่างถนนข้าวสาร
สิ่งที่เป็นห่วงคนทำสการ์ก็คือแผลที่กรีดเสร็จแล้วนั้นต้องดูแลความสะอาดให้ดี และห้ามโดนน้ำ หากดูแลไม่ดีแล้วโอกาสแผลจะติดเชื้อและเน่าก็มีโอกาสสูงเช่นเดียวกัน และที่สำคัญค่าใช้จ่ายที่แพงในการทำสการ์นั้นหากวัยรุ่นที่ยังต้องหาเงินเองไม่ได้ก็ควรวางแผนการใช้จ่ายเงินให้ดีด้วย
เทรนด์ใหม่อย่างแฟชั่นการทำสการ์นั้น ไม่ใช่เห็นแค่เป็นแฟชั่นเทรนด์ใหม่เข้ามาแล้ววัยรุ่นจะต้องทำตามกันไปเสียทุกอย่าง หากแต่วัยรุ่นที่ตัดสินใจจะทำอะไรตามแฟชั่นแล้ว ควรคิดและไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจะมีผลกระทบต่อร่างกายและอนาคตของตัวเองมากแค่ไหน เพราะบางทีตามแฟชั่นมากเกินไปก็อาจจะทุกข์ใจในอนาคตก็เป็นได้