ฝนดาวตกในปี 2552
ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางทิ้งไว้ ดาวตกที่เกิดจากสะเก็ดดาวเหล่านี้มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีลักษณะของดาวตกที่เห็น และจำนวนความถี่แตกต่างกันตามแต่องค์ประกอบและความเร็วของสะเก็ดดาว ฝนดาวตกบางกลุ่มอาจมีอัตราต่ำเพียงไม่กี่ดวงต่อชั่วโมงแต่ยังก็เรียกว่าฝนดาวตกเนื่องจากมีแหล่งกำเนิดที่สังเกตได้ว่าดูเหมือนพุ่งออกมาจากบริเวณหนึ่งบนท้องฟ้า จุดนั้นเรียกว่าจุดกระจายฝนดาวตก (radiant) มักเรียกชี่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวหรือดาวที่อยู่ในบริเวณจุดกระจายฝนดาวตก ฝนดาวตกกลุ่มดาวสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในปีนี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน ที่น่าดูที่สุดอาจจะเป็นฝนดาวตกสิงโต จุดกระจายฝนดาวตกชุดนี้อยู่บริเวณหัวของกลุ่มดาวสิงโตซึ่งมีลักษณะคล้ายเคียว นักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์ดาวตกหลายคนคำนวณพบว่าปีนี้โลกจะฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาวที่ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลทิ้งเอาไว้ในปี ค.ศ. 1466 และ 1533 ทำให้คาดหมายว่าฝนดาวตกสิงโตในปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง หรือมากกว่า 1-2 ดวงต่อนาที (อาจมากกว่านี้ได้อีก) ในเวลาประมาณ 4.00-5.00 ของเช้ามืดวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศไทย รายละเอียดของผลการพยากรณ์จะนำเสนอต่อไปเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากฝนดาวตกสิงโต ฝนดาวตกคนคู่ในเดือนธันวาคมก็น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนมากทุกปีและไม่มีแสงจันทร์รบกวน จุดกระจายฝนดาวตกคนคู่อยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ ต้นกำเนิดของฝนดาวตกชุดนี้มาจากดาวเคราะห์น้อยฟีทอนซึ่งอาจเคยเป็นดาวหางมาก่อน
ฝนดาวตกในปี 2552 |
ชื่อ |
คืนที่มีมากที่สุด |
เวลาที่เริ่มเห็น
(โดยประมาณ) |
อัตราสูงสุด
ในภาวะอุดมคติ
(ดวง/ชั่วโมง) |
อัตราสูงสุด
ในประเทศไทย
(ดวง/ชั่วโมง) |
หมายเหตุ |
ควอดแดรนต์ |
3/4 ม.ค. |
2.00 น. |
120 (อาจอยู่ระหว่าง 60-200) |
30-90 |
- |
พิณ |
22/23 เม.ย. |
22.00 น. |
18 (อาจมากถึง 90) |
10 |
- |
อีตาคนแบกหม้อน้ำ |
5/6 พ.ค. |
2.00 น. |
85 (อาจอยู่ระหว่าง 40-85) |
20-40 |
แสงจันทร์รบกวน
ก่อน 3.30 น. |
เดลตาคนแบกหม้อน้ำ |
27/28 ก.ค. |
21.00 น. |
20 |
15 |
แสงจันทร์รบกวน
ก่อน 23.00 น. |
เพอร์ซิอัส |
12/13 ส.ค. |
22.00 น. |
100 |
60 |
แสงจันทร์รบกวน |
นายพราน |
21/22 ต.ค.. |
23.00 น. |
30 |
15 |
- |
สิงโต |
17/18 พ.ย. |
00.30 น. |
100+ (อาจมากถึง 500) |
100+ |
อาจมากเป็นพิเศษ |
คนคู่ |
13/14 ธ.ค. |
20.00 น. |
120 |
100 |
- |
หมายเหตุ
- ตัวเลขสำหรับสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท หากมีแสงจันทร์และมลพิษทางแสงรบกวน จะมีจำนวนดาวตกที่เห็นลดลงจากค่าในตารางนี้
- คอลัมน์ "คืนที่มีมากที่สุด" เครื่องหมาย / ใช้คั่นคืนวันแรกกับเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เช่น 3/4 หมายถึงคืนวันที่ 3 ต่อเช้ามืดวันที่ 4
- ดัดแปลงจากตารางฝนดาวตกประจำปีเผยแพร่โดยองค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organization - IMO)
( หากมีโอกาสอย่าลืมประทับภาพแห่งความทรงจำไว้ด้วยครับ )
ขอบคุณ http://blog.eduzones.com/yo/25281