เตือนอีก 11 ปี น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ (คมชัดลึก)
ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฝนจะตกเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือน้ำฝนมีปริมาณไม่มากนักก็ตาม ล่า สุดนักวิชาการไทยได้นำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาคำนวณเปรียบเทียบกับข้อมูลน้ำ ท่วมในอดีต จนพบว่าอีกไม่เกิน 11 ปี หรือในปี 2563 คนกรุงเทพฯ จะเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่หน่วยงานรัฐยังไม่มีนโยบายชัดเจน เพื่อรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังจากองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป (โออีซีดี) รายงานผลการวิเคราะห์ว่าในอีกไม่นานน้ำจะท่วม 9 เมืองใหญ่ทั่วเอเชีย ได้แก่ กัลกัตตา มุมไบ ดักกา กวางสี เซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ ไฮฟอง ย่างกุ้ง และกรุงเทพมหานครนั้น ศูนย์วิจัยจึงริเริ่มโครงการศึกษา "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล" ระหว่างเดือนเมษายน 2551-เมษายน 2552 โดยสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์สภาพเมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่ข้างเคียง มีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา คลอง ตึกรามบ้านช่อง ฯลฯ จากนั้นนำข้อมูลระดับน้ำฝนและระดับน้ำทะเลในอนาคตที่สำรวจโดยไอพีซีซี หรือคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ (ไอพีซีซี) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทำให้พบว่าอีก 11 ปีข้างหน้า หรือปี 2563 จะเกิดปรากฏการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คล้ายกับเหตุการณ์น้ำท่วมหนักปี 2538
"สิ่งที่พบชัดเจนคือปกติพื้นที่กรุงเทพฯ จะรับปริมาณน้ำฝนไหลผ่านได้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วงที่น้ำท่วมหนักในปี 2538 มีปริมาณน้ำฝนไหลผ่านถึง 4,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ในแบบจำลองวิเคราะห์ว่าอีก 11 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ จะมีน้ำฝนไหลผ่านประมาณ 4,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝนตกในเขตกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ระดับน้ำทะเลสถานีหลักปากแม่น้ำทั้ง 4 แห่ง คือ แม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 เซนติมเตรต่อปี ขณะที่ กรุงเทพฯ ทรุดตัวประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรทุกปี ปัจจัยหลักทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อได้ว่าประมาณปี 2563 ชาวกรุงเทพฯ ต้องรับมือกับภาวะน้ำท่วมหนัก" รศ.ดร.เสรี กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นยังพบปัจจัยเสริมอีก 4 ข้อ คือ
1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลหายไปปีละประมาณ 10 เมตร ดังนั้นในอนาคต 50 ปีข้างหน้า ชายฝั่งจะถอยไป 500 เมตร ส่งผลให้พื้นที่บางส่วนของกรุงเทพฯ มีน้ำทะเลท่วมขัง
2.พื้นดินของกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน มีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา คาดว่าอีก 40 ปีข้างหน้าจะทรุดต่ำลงไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร เช่น เขตบางกะปิทรุดตัวแล้ว 100 เซนติเมตร
3. ผลพวงจากภาวะโลกร้อน ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ใน 40 ปีข้างหน้า 4.พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมตามธรรมชาติถูกมนุษย์สร้างตึกหรือ สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ขวางทางน้ำไหล ทำให้น้ำท่วมขังไม่มีช่องทางระบายน้ำออกไป
"ผลวิเคราะห์ชี้ชัดว่าทุกๆ 25 ปีจะเกิดฝนตกหนัก ทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำ เปรียบเทียบจากปีที่ไม่มีน้ำท่วมหนัก ปริมาณน้ำฝนปกติเฉลี่ยเดือนละ 150 มิลลิเมตร แต่ปีที่น้ำท่วมหนักจะมีปริมาณน้ำฝนพุ่งสูงขึ้นไป 2-3 เท่า ประมาณ 400 มิลลิเมตรต่อเดือน เมื่อฝนตกหนักและต่อเนื่องเป็นเดือน ก็ไม่มีใครระบายน้ำได้ทัน ส่วนแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก็เต็มล้นจนท่วมจังหวัดรอบกรุงเทพฯ มีการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วม 2538 ว่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แต่หากผลคาดการณ์นี้ถูกต้อง น้ำท่วมในปี 2563 จะสร้างความเสียหายให้กรุงเทพฯ สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายป้องกันน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน โดย เฉพาะในพื้นที่สาทร คลองเตย บางแค บางนา สาเหตุที่เปิดเผยผลการศึกษานี้ออกมาก็เพื่อให้สังคมไทยรับรู้ และเตรียมพร้อมรับมือภัยน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอีก 11 ปีข้างหน้า" รศ.ดร.เสรี กล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ วิเคราะห์ถึงระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ว่าจากเดิมที่เคยออกแบบให้มีระดับความปลอดภัย 1 ใน 100 จากสภาพปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ความปลอดภัยที่ตั้งไว้จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5 เท่านั้นเอง หมายความว่า ไทยจะต้องเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ทุกๆ 5-10 ปี กล่าวคือเศรษฐกิจเราจะเสียหายประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ในทุกๆ 5-10 ปี
"เมื่อข้อมูลวิเคราะห์ตรงกันว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลประเทศอื่นเตรียมแผนการรับมือน้ำท่วมอย่างจริงจัง มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เช่นที่อังกฤษได้ปรับปรุงประตูกั้นแม่น้ำเทมส์ ส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องน้ำทะเลท่วมซ้ำเติม โดยเนเธอร์แลนด์ทำคันดินปลูกหญ้าทับ ส่วนญี่ปุ่นมีเงินมากก็ทำเป็นกำแพงคอนกรีต สิงคโปร์สร้างคันดินยกระดับให้สูงเพิ่มอีก 1.5 เมตร สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพป้องกันน้ำท่วมระดับประเทศ แม้จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แต่ขาดความร่วมมือ ขาดเอกภาพ งบประมาณบานปลาย สูญเสียปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อเป็นงบช่วยเหลือมากกว่าป้องกัน" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ ระบุ
ด้าน นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำฝนของกรุงเทพฯ ในปีนี้ว่า ตั้งแต่ เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 1 เท่า เนื่องจากฝนตกหนักและต่อเนื่องหลายวัน โดยมีปริมาณน้ำฝน 530 มิลลิเมตร จากเดิมที่เฉลี่ยถึงเดือนพฤษภาคม จะมีเพียง 260 มิลลิเมตรเท่านั้น หากฝนยังตกต่อเนื่องทุกวันเป็นระยะๆ การระบายน้ำจะทำได้น้อย แม้ว่าจะใช้เครื่องสูบน้ำช่วยเต็มที่แล้วก็ตาม พื้นที่น่าเป็นห่วง คือ เขตหนองบอน ทุ่งครุ บางขุนเทียน และเขตทวีวัฒนา ส่วนพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณสีลม สาทร หรือสุขุมวิทนั้น ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นถนนช่วงสั้นๆ จะมีน้ำกักขังสักพักก็สามารถระบายได้หมด
ส่วนเรื่องการพยากรณ์ว่าจะมีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2563 นั้น นายชาญชัยยอมรับว่ามีการคาดเดาจากหลายสถาบัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามได้เตรียมป้องกันน้ำท่วมตามโครงการพระราชดำริแก้มลิง จากเดิมที่มี 20 แห่งในกรุงเทพฯ ปีนี้จะสร้างเพิ่มอีก 6 แห่ง คือ บึงสะแกงามสามเดือน บึงมะขามเทศ บึงหมู่บ้านสัมมากร บึงหมู่บ้านเมืองทองการ์เด้น บึงหมู่บ้านเมืองทอง 2/2 บึงหมู่บ้านศุภาลัย 1 รวมถึงการสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
ติดตามเรื่องราวข่าวสารดีๆได้ที่ www.urrac.com/rangsit