น.พ.เชิดพงษ์ ชินวุฒิ สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช สาทร-คอนแวนต์ เผยว่า เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำสาธารณะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เชื้อในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน เชื้อเริม และเชื้อที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้ออุจจาระร่วง เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เป็นต้น
เชื้อพวกนี้อาจแฝงอยู่ตามจุดต่างๆ ของห้องน้ำ เช่น ชักโครก อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งลูกบิดประตูแต่ โอกาสที่เราจะติดเชื้อพวกนี้จนทำให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายนั้นน้อยมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่า
1.เชื้อพวกนี้จะสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ต้องมีปริมาณที่มากพอ เราอาจไปสัมผัสกับเชื้อพวกนี้ก็จริง แต่ปริมาณไม่มาก จึงไม่เกิดอันตรายใดๆ
2.เชื้อพวกนี้มักจะเจริญเติบโตได้ดีในร่างกายคนเรา แต่เมื่อออกมาสัมผัสกับแสง และอุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อมักจะมีชีวิตอยู่ไม่นานพอที่จะติดต่อไปสู่คนอื่น
3.เชื้อพวกนี้จะก่อให้เกิดโรคได้ ต้องมีหนทางที่จะผ่านเข้าไปในร่างกายของคนเรา เช่น ผ่านเข้าทางผิวหนังที่มีแผล หรือรับเข้าทางปาก การที่เราไปสัมผัสและเชื้อนั้นติดอยู่กับผิวหนังเฉยๆ จะไม่ทำให้เกิดโรค เพราะผิวหนังเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี
4.หากได้รับเชื้อเข้าไปจริง ร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจัดการเจ้าเชื้อโรคแปลกปลอมนี้อยู่แล้ว
น.พ.เชิดพงษ์ แนะนำวิธีปฏิบัติตัวแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะไว้ว่า ใช้เวลากับการทำกิจธุระในห้องน้ำสาธารณะให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ชักโครก เลือกที่ดูสะอาด ทำความสะอาดที่รองนั่งด้วยกระดาษทิชชูสักหน่อย แล้วจึงใช้งาน ไม่ต้องถึงกับใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญเมื่อเสร็จกิจธุระแล้วต้องล้างมือทุกครั้ง เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคติดมากับมือของเรา
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=chicstory&date=15-03-2009&group=5&gblog=7