Advertisement
พ่ายแพ้อย่างสง่างาม |
เจ้าหญิงแห่งออสเตรีย มารี อังตัวเน็ตต์ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1755 ทรงสิริโฉมงดงาม เส้นเกศาสีบลอนด์ พระเนตรสีทะเล ทรงสนพระทัยดนตรีและศิลปะ เคยเล่นดนตรีคู่กับโมสาร์ทหลายครั้ง
สงครามและสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปห้วงเวลานั้นทำให้ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงถูกบังคับให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายดอฟิน หลุยส์-ออกัสท์ แห่งฝรั่งเศส
ในปี ค.ศ. 1774 กษัตริย์หลุยส์ที่ 15 สวรรคต พระสวามีของพระนางทรงขึ้นบัลลังก์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มารี อังตัวเน็ตต์ ก็ทรงกลายเป็นราชินีฝรั่งเศส ทว่าทรงไม่ใช่ราชินีในฝันของประชาชน มิใช่เพราะชาติกำเนิดออสเตรีย ผู้คนวิพากษ์พระนางที่ทรงใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อในราชสำนัก งานเลี้ยง ละคร การพนัน การแต่งพระองค์ ฯลฯ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนกำลังอดอยากยากแค้น
เล่าขานกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า เมื่อ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงได้ยินว่าประชาชนอดอยากไม่มีกินแม้แต่ขนมปังขึ้นรา พระนางตรัสว่า "ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ"
กลายเป็นคำคมประจำศตวรรษ ทว่าในกาลต่อมา นักประวัติศาสตร์หลายคนแย้งว่า ความจริง มารี อังตัวเน็ตต์ ไม่เคยทรงเอ่ยประโยคนั้น เป็นการสร้างกระแสเกลียดชังพระนางต่างหาก
ในปี ค.ศ. 1789 ไฟปฏิวัติกำลังคุกรุ่น ฝรั่งเศสก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง หลังจากประชาชนบุกเข้าทำลายคุกบาสติลล์ในวันที่ 14 กรกฎาคม แม้ชีวิตของพระนางจะอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง แต่ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงมิได้หลบหนีไปเช่นหลายคนในราชสำนัก ยืนหยัดเคียงข้างพระสวามีที่อำนาจในพระหัตถ์ลดน้อยลงไปทุกวัน การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นองเลือดที่สุดครั้ง หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ราชวงศ์ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษ ขึ้นศาลประชาชนข้อหาทรยศแผ่นดิน ในวันที่ 21 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงถูกศาลประชาชนตัดสินประหาร
มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ววาระสุดท้ายของพระนางจะมาถึง แต่ทรงปฏิเสธแผนการช่วยพระนางหนีออกไปจากคุกทุกแผน
วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มารี อังตัวเน็ตต์ ในสถานะนักโทษหมายเลข 280 ประทับยืนอยู่ต่อหน้าศาล แม้ทรงรู้ว่าคำพิพากษาประหารนั้นถูกกำหนดมาก่อนแล้ว แต่ก็ทรงตอบคำถามและโต้ข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน เยือกเย็น ทรงยืนรับฟังคำตัดสินประหารชีวิตอย่างสงบนิ่ง แม้แต่คนที่เกลียดชังพระนางก็ยังยกย่องความองอาจนั้น
สองวันต่อมา มารี อังตัวเน็ตต์ พระชนมายุสามสิบเจ็ดพรรษา ทรงเขียนจดหมายลาตาย เวลาสิบโมงเช้าวันนั้น ราชินีสัญชาติออสเตรียในภูษาเรียบสีขาวก็ดำเนินสู่ลานประหารอย่างเงียบสงบ
ชั่วขณะหนึ่ง พระนางทรงเผลอเหยียบเท้าของชายคนหนึ่ง เอ่ยคำขอโทษอย่างสุภาพ แล้วถูกบั่นเศียรด้วยคมกิโยติน
แม้ว่า มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงมิใช่ราชินีที่ดีในสายตาของประชาชน แต่ความสงบและความกล้าหาญของพระนางที่เผชิญหน้าความตายอย่างไม่พรั่นพรึง ทำให้หลายคนมองพระองค์ต่างจากเดิม
เมื่อแพ้แล้วก็ยอมรับชะตากรรมอย่างสง่างาม ไม่ตีโพยตีพาย ไม่เป็นขี้แพ้ชวนตี ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ขนาดของหัวใจทำให้คนคนหนึ่งยิ่งใหญ่กว่าอีกคนหนึ่ง
วิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาไม่นานมานี้ฉายภาพให้เราเห็นผู้นำที่บริหารองค์กร ขนาดยักษ์ผิดพลาดใกล้ล้มละลายจนรัฐต้องเข้ามาโอบอุ้ม แต่ผู้นำเหล่านี้ก็เห็นแก่ตัวฉกฉวยเอาเงินช่วยเหลือเป็นโบนัสของตัวเอง แทนที่จะช่วยองค์กรและลูกน้องก่อน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเรือโดยสารแตก กัปตันเรือก็ทิ้งผู้โดยสารลงเรือเล็กหนีไปก่อน
ประวัติศาสตร์หลายพันปีนี้ยังเต็มไปด้วยผู้นำที่หนีทัพ ผู้นำที่หนีหลังโกงกินจนชาติล่มจม ผู้นำที่หนีคดีฉ้อราษฎร์ ฯลฯ
แต่สำหรับผู้นำที่เข้าใจกติกาของเกมการเมือง ความไม่แน่นอนของอำนาจ และมีขนาดของหัวใจยิ่งใหญ่กว่าคนธรรมดา เมื่อล้มลงแล้ว ก็ยืดอกรับชะตากรรมนั้น และสามารถยิ้มเยาะความตายแม้มันมารออยู่ตรงหน้า
บทความโดย...วินทร์ เลียววาริณ |
|
|
วันที่ 25 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,186 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 26,571 ครั้ง |
เปิดอ่าน 42,080 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,103 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,604 ครั้ง |
เปิดอ่าน 17,103 ครั้ง |
|
|