Advertisement
ความงามของความเงียบ |
หากคุณเดินเท้าในเมืองหลวงของสยามประเทศ จากหัวถนนสีลมไปยังท้ายถนนในชั่วโมงเร่งด่วน คุณจะผ่านยามจำนวน 207 คน หนึ่งในสามของยามเหล่านี้ทำหน้าที่โบกรถเข้าออกอาคารสำนักงานต่างๆ ด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่านกหวีด ระดับเสียง 120 เดซิเบลที่กรีดร้องในระยะใกล้หู สูงพอทำให้ใจคุณสั่น แก้วหูสะเทือนถึงขั้นอันตราย พลานุภาพไม่แพ้พลังเสียงดูหลำแห่งทะเลใต้อย่างแน่นอน!
มิน่าเล่าถนนสายนี้จึงมีโรงพยาบาลและคลินิกหู(คอจมูก) คั่นทุกๆ หลายช่วงตึก!
สีลมเป็นเพียงหนึ่งในถนนใหญ่หลายสิบสายที่พลุกพล่านด้วยคน รถ และยามซึ่งนิยมใช้นกหวีดมากกว่าสัญญาณมือ ที่แปลกก็คือไม่ค่อยมีใครคิดว่านี่เป็นเรื่องแปลก ไม่เห็นใครบ่นอะไร แต่ละคนก้มหน้าก้มตาเดินไป ยามก็ตั้งหน้าตั้งตาเป่านกหวีด คนขับรถก็กดแตรไป
ความจริงที่หลายคนอาจไม่รู้หรือรู้แต่ลืมไปแล้วก็คือ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลนานๆ เป็นอันตรายต่อหูมนุษย์ และเสียงนกหวีดกับเสียงแตรรถนั้นเกินระดับ 85 เดซิเบลไม่น้อย
นี่คือรายการเดซิเบลของเสียงต่างๆ :
เสียงคุยกันปกติ 50-60 เดซิเบล
นาฬิกาปลุก 70-80 เดซิเบล
เสียงตะโกน 90-100 เดซิเบล
เสียงแตรรถยนต์ 110 เดซิเบล
ฟ้าร้อง / ไนท์คลับ / ร็อค คอนเสิร์ต 120 เดซิเบล
ลูกโป่งแตก 150 เดซิเบล
ประทัด 120-140 เดซิเบล
เครื่องบินขึ้นฟ้า 150-180 เดซิเบล
คุณไม่ควรอยู่ในสภาวะเสียงที่ดัง 80-90 เดซิเบลนานกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน การฟังเสียงดัง 115 เดซิเบลนานเพียงสิบห้านาทีต่อวัน สามารถทำลายเยื่อแก้วหูได้ เกิน 110 เดซิเบลขึ้นไปเป็นอันตรายต่อหู เกิน 180 เดซิเบลคือหูพัง
จำไว้ง่ายๆ คือ ทุกๆ 5 เดซิเบลที่เพิ่มขึ้น ให้ลดเวลาที่อยู่กับเสียงนั้นลงครึ่งหนึ่ง
หากคุณชอบฟังเพลงดนตรีในผับที่ระดับเสียง 100 เดซิเบล ก็ไม่ควรขลุกอยู่ในนั้นเกินสิบห้านาที มิเช่นนั้นวันหนึ่งคุณอาจตื่นขึ้นมาพบว่าโลกใบนี้เงียบผิดปกติ
วิถีชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับเสียงดังจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ นอกจากเสียงจอแจของจราจร เมื่อเข้าสำนักงานก็ได้ยินเสียงด่าของเจ้านาย (มักได้ยินชัดเจนจากทุกมุมสำนักงาน) เสียงเพลงในที่ทำงาน (คนไทยเรามักใจดีอยากให้เพื่อนทุกคนในสำนักงานได้ยินเพลงที่เราชอบด้วย) ฯลฯ
ทุกวันคนขายผักผลไม้แถวบ้านผมขับ 'ยานเวลา' มาขายไข่ไก่ ผักกาดขาว ส้ม ทุเรียน ลำไย เงาะ ถึงหน้าบ้าน
ยานเวลา นี้ย่อมาจากคำว่า 'หย่อนยานเรื่องเวลา' นั่นคือใช้เครื่องขยายเสียงประกาศขายไข่ไก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า ฯลฯ กันสองเวลา คือตอนห้าทุ่มเมื่อหลายคนหลับไปแล้ว กับตีห้าก่อนไก่หลายตัวโก่งคอขัน!
แม้กระทั่งในสถานที่ที่ไม่ควรมีเสียงอย่างที่สุดเช่น สวนสาธารณะ ก็ยังเต็มไปด้วยมลพิษทางเสียง สวนสาธารณะในบ้านเรานิยมใช้เครื่องขยายเสียง ตั้งแต่การประกาศห้ามพาหมามาเดิน ไปจนถึงการใช้ไมโครโฟนร้องเพลงคาราโอเกะอย่างสุขสม
ในช่วงเทศกาลรื่นเริง เรามักเห็นการจัดปาร์ตี้ยามดึกดื่นพร้อมเสียงดนตรีดังจากท้ายซอยถึงต้นซอย
เมื่อขึ้นแท็กซี่ น้อยครั้งคุณจะพบคันที่ไม่เปิดวิทยุ
เราเป็นชาติที่หนวกหูที่สุดชาติหนึ่งในโลก!
มนุษย์เมืองหลวงเคยชินกับเสียงเหล่านี้จนมองไม่เห็นว่ามันไม่ปกติ
สุภาษิตโบราณว่า ถ้าทุกคนพูดพร้อมกัน ก็จะไม่มีใครได้ยิน
อาจจะจริง ถ้าเรายังไม่ยอมลดการใช้เสียงดังอย่างนี้ วันหนึ่งก็จะไม่มีใครได้ยินจริงๆ
การแก้ปัญหามลพิษเสียงก็เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาจราจรและอีกหลายๆ ปัญหา นั่นคือแก้ที่คน ไม่ใช่ป้ายห้ามใช้เสียง แก้ด้วยหลักง่ายๆ : "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"
อย่าทึกทักว่าคนอื่นชอบเพลงที่คุณชอบ อย่าสรุปว่าคนอื่นอยากฟังคุณร้องเพลง ถ้าไม่ชอบเสียงนกหวีดข้างหูคุณ คนอื่นก็ไม่ชอบ ถ้าไม่อยากให้ใครมาตะโกนตะคอกใส่ ก็ไม่ตะโกนตะคอกใส่คนอื่น
เงียบๆ ไว้บ้าง โลกจะสดใสขึ้นมาก
เดินเงียบๆ คิดเงียบๆ ทำงานเงียบๆ
เมื่อโลกเงียบลง คุณอาจจะได้ยินเสียงแมลงกระซิบกัน เสียงลมพัด เสียงใบไม้ไหว เสียงนกบอกรัก
ที่สำคัญที่สุด คุณจะได้ยินเสียงความคิดและเสียงหัวใจของคุณชัดขึ้น
บทความโดย..วินทร์ เลียววาริณ |
|
วันที่ 25 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,149 ครั้ง เปิดอ่าน 7,387 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,181 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,151 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 15,564 ครั้ง |
เปิดอ่าน 65,384 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,670 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,435 ครั้ง |
เปิดอ่าน 46,141 ครั้ง |
|
|