Advertisement
ใครที่สนใจตำราแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนโบราณ ย่อมจะเคยได้ยินหรือผ่านตาชื่อของสมุนไพรที่ชื่อ "เจตมูลเพลิง" มาบ้างแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงของผู้ปรุงหรือผู้ขายยาตำรับโบราณ ส่วนใหญ่ก็คงจะไม่เคยเห็นหรือไม่รู้จักต้นเจตมูลเพลิงมาก่อนเป็นแน่ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ผู้เขียนต้องนำเอาเรื่องราวของเจตมูลเพลิงมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้
เจตมูลเพลิง หรือที่ตำราแพทย์แผนโบราณอาจจะเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า "ลุกใต้ดิน" เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีกิ่งก้านสาขามากมาย เป็นไม้ใบเดี่ยว สีเขียว ลักษณะคล้ายใบมะลิแต่มีขนาดใหญ่กว่า ดอกมีลักษณะส่วนโคนเป็นหลอดชูขึ้น (คล้ายลำโพง) ส่วนปลายจะมีเป็น 5 กลีบ มี 2 ชนิด คือ ชนิดดอกสีแดง กับชนิดดอกสีขาว ลักษณะของลำต้นและใบจะเหมือนกันทุกประการ จะรู้ว่าต้นใดเป็นดอกสีแดงหรือสีขาวก็ต่อเมื่อมันออกดอกมาปีละครั้งเท่านั้น กลีบเลี้ยงของดอกมีสีเขียวและมีขนปกคลุม ที่ขนจะมีต่อมของเหลวเหนียวติดมือ ชนิดที่ใช้ทำยาคือส่วนรากที่ตากแห้ง และส่วนมากก็จะเป็นเจตมูลเพลิงชนิดดอกสีแดงเท่านั้น (แม้ชนิดดอกสีขาวจะมีสรรพคุณทางยาอยู่ก็ตาม)
เจตมูลเพลิงแดง มีชื่อสามัญว่า เจตมูลเพลิงแดง (ภาคกลาง) พิดพิวแดง หรือปิดปิวแดง (ภาคเหนือ) และภาษาอังกฤษว่า Rose-Coloured Leadwort ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumbago rosea Linn. (P. indica Linn.) และจัดอยู่ในวงศ์ PLUMBAGINACEAE. ส่วนเจตมูลเพลิงขาว หรือปิดปิวขาว หรือแปะฮวยตัง (แต้จิ๋ว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumbago zeylanica Linn. วงศ์เดียวกันกับเจตมูลเพลิงแดง
รากเจตมูลเพลิง (แดง) นั้น แพทย์แผนไทยท่านระบุสรรพคุณไว้ว่า เป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย แก้ลมในกองเสมหะ แก้ริดสีดวงทวาร แก้บวม แก้คุดทะราด แก้โลหิตเน่า และกระจายเลือดลม ซึ่งถูกจัดให้เป็นยาในชุดที่ชื่อว่า "เบญจกูล" อันได้แก่ 1. ดอกดีปลี 2. รากชะพลู 3. รากเจตมูลเพลิง 4. เถาสะค้าน และ 5. เหง้าขิงแห้ง ที่ใช้เป็นยาแก้โรคในกองเตโชธาตุ กองวาโยธาตุ และกองอากาศธาตุ ทั้งนี้ จะมีอัตราส่วนของสมุนไพรแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น กองเตโชธาตุ ให้ใช้รากเจตมูลเพลิง 16 ส่วน กองวาโยธาตุ ใช้ 8 ส่วน และกองอากาศธาตุ ใช้ 2 ส่วน เป็นต้น
การที่รากเจตมูลเพลิงได้ชื่อว่าเป็นยาในตำรับ "เบญจกูล" หรือ "เบญจกูลเสมอภาค" อันถือเป็นยาบำรุงธาตุทั้ง 4 และอากาศธาตุให้บริบูรณ์นั้น มีประวัติ (นิทาน) เล่าว่า เกิดจากครั้งหนึ่งมีฤๅษี 6 องค์ มาเสวนากัน โดยองค์แรกชื่อ "ปัพพตัง" บริโภคผลดีปลี องค์ที่สอง ชื่อ "อุธา" บริโภครากชะพลู องค์ที่สาม ชื่อ "บุพเทวา" บริโภคเถาสะค้าน องค์ที่สี่ ชื่อ "บุพพรต" บริโภครากเจตมูลเพลิง องค์ที่ห้า ชื่อ "มหิทธิกรรม" บริโภคเหง้าขิง โดยแต่ละองค์ต่างก็ได้พรรณนาสรรพคุณของสมุนไพรที่ตนบริโภคไปว่า แก้อชินโรคได้ ระงับเมื่อยขบได้ ระงับเสมหะและลมได้ ระงับโรคที่บังเกิดแต่ดีได้ ตามลำดับ ส่วนฤๅษีองค์ที่หก ไม่ได้บริโภคสมุนไพรใด แต่เป็นผู้ประมวลสรรพคุณของยาโดยรวมและตั้งชื่อตำรับยาว่า "เบญจกูลเสมอภาค"
ที่นำเอานิทานมาเล่าไว้ก็เพื่อจะให้เห็นว่า รากเจตมูลเพลิง นับเป็นสมุนไพรโบราณเท่านั้น
ตำราแพทย์แผนไทยนั้น ท่านแบ่งรสสมุนไพรต่างๆ ออกเป็น 9 รส ด้วยกัน (นักศึกษาในวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณจะต้องจดจำและรู้จักสมุนไพรว่า ชนิดใดมีรสอะไร) ได้แก่ รสฝาด รสหวาน รสเมาเบื่อ รสขม รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว ซึ่งเป็นรสหลัก และยังมีรสกลางๆ อีก 1 รส คือ รสจืด เช่น ใบแค ใบมะยม ใบหมากผู้ และใบหมากเมีย เป็นต้น
ได้กล่าวไว้แล้วว่า รากเจตมูลเพลิงนั้นมีรสเผ็ดร้อน ซึ่งมีตัวยาอย่างอื่นที่จัดเข้าในรสนี้อีก เช่น หัวดองดึง รากกระชาย ใบกระวาน ดอกดีปลี เถาสะค้าน รากมะไฟเดือน 5 รากกะเพรา การบูร ใบแก้ว รากชะพลู เมล็ดพริกไทย กานพลู เหง้าขิงแห้ง หัศคุณเทศ-ไทย เทพทาโร หัวกระเทียม ลูกพิลังกาสา และรากคัดลิ้น เป็นต้น
ตามคัมภีร์โบราณ (พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์) ระบุสรรพคุณของยาแต่ละรสไว้ว่า 1. รสขม แผ่ซ่านไปตามผิวหนัง 2. รสฝาด ซึมซาบไปตามกล้ามเนื้อ 3. รสเค็ม แผ่ซ่านไปตามเส้นเอ็น 4. รสเผ็ดร้อน ซึมซาบไปตามกระดูก 5. รสหวาน ซึมซาบไปตามลำไส้ใหญ่ 6. รสเปรี้ยว ซึมซาบไปตามลำไส้เล็ก 7. รสเย็นหอม แผ่ซ่านเข้าสู่หัวใจ และรสมัน ซึมซาบไปตามข้อต่อทั้งปวง
เรื่องสรรพคุณยารสต่างๆ ยังมีรายละเอียดเป็นอย่างอื่นอีก เช่น กล่าวว่า รสฝาด ใช้สมานบาดแผล ปิดธาตุ คุมธาตุแก้บิดมูกเลือด เป็นต้น แต่จะไม่นำมากล่าวไว้ให้ยืดยาว เป็นเพียงยกมาพอให้รู้ว่า การศึกษาด้านแพทย์แผนไทยนั้น ท่านมีหลักยึดอยู่อย่างชัดเจน หากเราศึกษาให้รู้จริง ชำนาญจริง ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างแน่นอน
การศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยนั้น ท่านกล่าวเป็นภาพรวมไว้ว่า จะต้อง "รู้จักตัวยา รู้จักสรรพคุณยา รู้จักการปรุงยา และรู้จักพิกัดยา"
ย้อนกลับมาหาข้อมูลของรากเจตมูลเพลิง หรือ "ลุกใต้ดิน" กันใหม่ ผู้เขียนได้ลองสำรวจดูตำรับยาแพทย์แผนไทย (แผนโบราณ) พบว่า มีหลายขนานที่เข้ารากเจตมูลเพลิง (ร่วมกับตัวยาชนิดอื่น) เช่น ยาหอมอินทจักร์ (ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน แผนโบราณ 1 ใน 16 ขนาน ของไทย) และในหนังสือ "ตำรายาสมุนไพรหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า" (ฉบับที่ "พระครูนนทประภากร" เจ้าคณะอำเภอบางใหญ่ วัดพิกุลเงิน จังหวัดนนทบุรี จัดพิมพ์) ก็พบเจตมูลเพลิงในตำรับยาดังต่อไปนี้ คือ ยาแก้โรคเหงื่อออกมาก ยาแก้โรควิงเวียนหน้ามืดตาลาย (ขนานที่ 3) ยาแก้ไข้ทับระดู และระดูทับไข้ (ขนานที่ 17) ยาขนานใหญ่ แก้โรคลมอัมพาต (ขนานที่ 2 ขนานที่ 3) ยาแก้โรคลมต่างๆ (ขนานที่ 1) ยาแก้โรคประสาท ยาแก้โรคกระเพาะ และยาแก้ธาตุ 4 แปรปรวน เป็นต้น
ยาขนานสุดท้ายที่ใช้แก้โรคหัวใจ ใจสั่น (ใจหวิว-จะเป็นลม) มีส่วนผสมของสมุนไพร 13 ชนิด คือ ชะมดเชียง พิมเสน การบูร เทียนดำ หัวดองดึง รากเจตมูลเพลิง อย่างละ 2 บาท กฤษณา กะลำภัก และจันทน์เทศ อย่างละ 3 บาท กำยาน 4 บาท ขิง และดอกดีปลี อย่างละ 8 บาท และสนเทศ หนัก 40 บาท นำมาบดเป็นผง เติมน้ำมะนาวแล้วปั้นเป็นแท่ง ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง เก็บไว้ในขวดโหล ใช้รับประทานกับกระสายน้ำมะนาวเวลาเกิดอาการใจสั่น ได้ผลชะงัดดีนักแลฯ
เมื่อได้นำเอาเรื่องราวจากตำราแพทย์แผนโบราณมาเล่าปูพื้นกันไปแล้ว ทีนี้ก็หันมาดูโลกแห่งความเป็นจริงกันบ้าง ปัจจุบันนี้กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้มองเห็นความสำคัญของสมุนไพรพื้นบ้านแล้ว เพื่อเป็นการฟื้นฟูและส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในระบบสุขภาพแห่งชาติ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้จัดทำบัญชียาจากสมุนไพรที่ประกอบด้วยยาจากสมุนไพร ทั้งยาแผนไทยดั้งเดิมและยาพัฒนาจากสมุนไพรที่มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยใช้สะดวก ที่มีข้อบ่งใช้ชัดเจนในการแก้ปัญหาของประชาชนไทย สำหรับป้องกันโรคหรือรักษาผู้ป่วยของแพทย์แผนไทย หรือใช้เป็นทางเลือกในการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยร่วมกับแนวการรักษาแบบตะวันตก (ซึ่งต่างเป็นทางเลือกซึ่งกันและกัน) ในสถานพยาบาลทุกระดับ และในงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัย
บัญชียาจากสมุนไพร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม จำนวน 11 รายการ และ 2. บัญชียาที่พัฒนาจากสมุนไพร จำนวน 8 รายการ รวมทั้งสิ้น 19 รายการ (นับแยกตามตัวยาหรือสูตรตำรับ) โดยจัดเป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มอาการของระบบต่างๆ ของร่างกาย ตามข้อบ่งใช้หรือสรรพคุณของยา รายละเอียด ได้แก่
กลุ่มที่ 1 บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ประกอบด้วย
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร และยาหอมนวโกฐ
2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู และยาเหลืองปิดสมุทร
3. ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้แก่ ยาประสะไพล
4. ยาแก้ไข้ ได้แก่ ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม และยาจันทน์ลีลา
5. ยาแก้ไอและขับเสมหะ ได้แก่ ยาประสะมะแว้ง
กลุ่มที่ 2 บัญชียาพัฒนาจากสมุนไพร ประกอบด้วย
1. ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ขมิ้นชัน ของ ชุมเห็ดเทศ และฟ้าทลายโจร
2. ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ฟ้าทลายโจร
3. ยารักษากลุ่มอาการของระบบผิวหนัง ได้แก่ บัวบก และพญายอ
4. ยาใช้ภายนอกสำหรับบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ได้แก่ พริก และไพล
ยาในกลุ่มที่ 1 ข้างต้น ซึ่งเป็นยาที่พัฒนาขึ้นจากตำรับยาสมุนไพรตามองค์ความรู้ดั้งเดิม (เป็นยาตำรับที่เกิดจากภูมิปัญญาของแพทย์แผนโบราณ แต่นำมา "เจียระไน" ขึ้นใช้ใหม่) นั้น มีอยู่ 2 ตำรับ ที่ใช้รากเจตมูลเพลิงเป็นตัวยาร่วม ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ และยาประสะกานพลู จึงนับได้ว่า สมุนไพรที่เราเรียกกันว่า "ลุกใต้ดิน" นี้ มีความสำคัญต่อตำรับยาแผนโบราณไม่น้อย ก็ขอนำมาบอกกล่าวกันไว้เป็นความรู้รอบตัว
ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงยานั้น แต่ดั้งเดิมมาผู้ปลูกก็มักจะเป็นหมอพื้นบ้าน ปลูกกันอยู่อย่างกระจัดกระจายและมีไว้แต่พอใช้ตามความจำเป็น หรือสมุนไพรบางอย่างก็ต้องไปหาเอาจากป่าหรือแหล่งธรรมชาติ ส่วนที่มีต้นพันธุ์ตามบ้านเรือนอยู่บ้าง เจ้าของก็มักจะหวงแหนต้นพันธุ์ ทำให้ปริมาณของสินค้ามีอยู่อย่างจำกัด หรือบางอย่างก็ถึงกับขาดแคลนเลยทีเดียว มีจำนวนที่ไม่แน่นอน ตัวอย่างเช่น รากเจตมูลเพลิงแดงก็เช่นกัน แพทย์แผนไทยต้องหาซื้อด้วยราคาที่ค่อนข้างจะแพง แม้กระนั้น ปัญหากลับอยู่ที่ว่า แม้จะซื้อแพงแต่ยังหาสินค้าที่มีคุณภาพดี (เป็นรากเจตมูลเพลิงแดงบริสุทธิ์) ไม่ค่อยได้ จึงเป็นเรื่องที่พวกเรา (ทั้งภาคราชการและชาวบ้าน) ต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยการแสวงหาต้นพันธุ์ดีมาขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกให้มากขึ้น ปลูกด้วยวิธีการที่เหมาะสม และที่สำคัญไม่น้อยก็คือเมื่อมีแหล่งผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพแล้ว ก็ควรจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้ทั่วกัน เพื่อให้ผู้ซื้อได้รู้ถึงแหล่งผลิตเพื่อจะได้สั่งซื้อได้โดยตรง การตลาดก็จะมีความคล่องตัว และในฝ่ายของผู้ที่ต้องการใช้วัตถุดิบก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่ไม่แพงจนเกินไป
เจตมูลเพลิง นั้น ถ้าไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 จะได้ข้อมูลกว้างขวางขึ้น โดยท่านกล่าวไว้ว่า "เจตมูลเพลิง น. ชื่อไม้พุ่มขนาดเล็กหลายชนิดในสกุล Plumbago วงศ์ Plumbaginaceae เช่น เจตมูลเพลิงแดง (P. indica L.) ดอกสีแดง และเจตมูลเพลิงขาว (P. zealanica L.) ดอกสีขาว, รากของทั้ง 2 ชนิด มีรสเผ็ดร้อน ใช้ทำยาได้"
นอกจากเจตมูลเพลิงแดง และเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ยังมีเจตมูลเพลิงอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เจตมูลเพลิงฝรั่ง หรือที่มีชื่อไทยว่า พยับหมอก เป็นไม้พุ่มในวงศ์เดียวกันกับเจตมูลเพลิง 2 ชนิดข้างต้น แต่เป็นชนิดที่มีชื่อว่า Plumbago auriculata Lam. ก็ขอนำมาบันทึกไว้ด้วย
คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยทราบถึงวิธีการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์เจตมูลเพลิง เพราะไม่เคยเห็นต้นจริงๆ จึงขอนำเอาความรู้ด้านการเพาะปลูกมาบอกกล่าวกันไว้แต่พอสังเขปสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูก
การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิง (ทั้งแดงและขาว) นั้น ปกติก็ใช้วิธีเพาะเมล็ด แต่ในกรณีที่ต้องการปลูกเป็นจำนวนมาก เราสามารถใช้วิธีปักชำกิ่งก่อนนำไปปลูกขยายลงแปลงหรือลงในรองซีเมนต์ (หากปลูกลงแปลงรากของเจตมูลเพลิงจะไชลงในดินลึกและยากแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงใช้วิธีปลูกลงในรองซีเมนต์ชนิดที่ไม่มีก้น แต่ใช้วัสดุแผ่นเรียบวางรองพื้นแทน เพื่อป้องกันไม่ให้รากชอนไชลงพื้น) ชนิดที่ต้องให้ระบายน้ำได้สะดวก โดยปลูกในช่วงต้นฝนแล้วรดน้ำให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปล่อยจนมีอายุครบ 1 ปี (เป็นอย่างน้อย) แล้วจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
เจตมูลเพลิง 1 ต้น จะมีกิ่งสาขาเป็นจำนวนมากและออกดอกปีละ 1 ครั้ง หากถึงฤดูแล้งใบของเจตมูลเพลิงก็จะเฉาลงบ้าง หากปล่อยไว้จนถึงฤดูฝนใหม่ก็จะเจริญงอกงามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งมีอายุมาก รากของมันจะยิ่งมีสรรพคุณทางยาสูงขึ้น
การเก็บเกี่ยวเพื่อเอารากเจตมูลเพลิงนั้น จะมีการเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูแล้งราวกลางเดือนถึงปลายเดือนเมษายน โดยใช้วิธียกรองซีเมนต์ขึ้นจากกอของเจตมูลเพลิง แล้วใช้เสียมค่อยๆ คุ้ยเอาเฉพาะรากของเจตมูลเพลิง นำไปล้างในน้ำสะอาด (หรือใช้น้ำฉีด) จนเหลือแต่รากล้วนๆ นำไปตากแห้งหรืออบแห้ง ซึ่งรากของเจตมูลเพลิงแห้งจะเสียน้ำหนักไม่มาก รากแห้ง/รากสด น่าจะมีอัตราส่วนราว 1 ต่อ 2 หรือ 1 ต่อ 1.5 โดยประมาณ
ข้อควรระวังคือ ในการจับต้องรากของเจตมูลเพลิงขณะเก็บเกี่ยวนั้น ต้องสวมถุงมือเสียก่อน เพื่อป้องกันอาการปวดแสบปวดร้อน เนื่องจากฤทธิ์ของสมุนไพรสด
ราคาของรากเจตมูลเพลิงแดงที่ผ่านมาในอดีต รากแห้งต่ำสุด 350 บาท สูงสุดอาจขึ้นไปถึง 700-800 บาท แต่ขณะที่เขียนต้นฉบับของเรื่องนี้ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท นับว่าเป็นราคาที่ดีพอใช้ทีเดียว
ผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกเจตมูลเพลิงแดง หรือต้องการซื้อต้นพันธุ์ หรือรากเจตมูลเพลิงแห้งจะขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุภกร ศรีคำแหง (ลุงโต้ง) ผู้แทนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ตำบลพลับพลาไชย บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 โทร. (089) 743-1009 ได้อย่างเป็นกันเอง
กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์พลับพลาไชย มีสมาชิกอยู่ในสังกัด 16 ครอบครัว กระจายอยู่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี ปลูกสมุนไพรหลายชนิดด้วยกัน โดยดำเนินการก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีสมุนไพรที่พร้อมจะจำหน่ายหลายชนิด เช่น กระเจี๊ยบแดง กระชายดำ กล้วยดิบ กลอย เกสรบัวหลวง ขมิ้นชัน ขิง ใบขี้เหล็ก รากคนทา คนทีสอ ชะพลู ดีปลี โด่ไม่รู้ล้ม ตะไคร้ เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน รากเท้ายายม่อม บอระเพ็ด บัวบก เพชรสังฆาต ไพล ฟ้าทลายโจร น้ำมะกรูด ผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบมะขามแขก พลูคาว หญ้าปักกิ่ง หญ้าดอกขาว กะเม็ง รางจืด ทองพันชั่ง เตยหอม เสลดพังพอน เปลือกมะระขี้นก ทั้งสดและแห้งตามความต้องการของผู้ซื้อ นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังต้องการรับซื้อผลิตผลสมุนไพรบางอย่างจากเกษตรกรทั่วไปด้วย เช่น ไพล เพชรสังฆาต และกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
เรื่องราวของเจตมูลเพลิงแดง สมุนไพรที่มีความสำคัญตัวหนึ่งในตำรับยาไทยก็จบลงแต่เพียงแค่นี้ โอกาสหน้าจะได้นำเอาเรื่องราวของสมุนไพรตัวอื่นมาเล่าสู่กันฟังอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก :: มิติชนกรุ๊ป
หนาวแล้ว ออกแคมป์กันเถอะ! ⛺ เตาแก๊สปิคนิค พกพาสะดวก ออก Outdoor ได้สบายๆ รุ่น KJ-101 แถมฟรี!!กล่องเก็บเตา ในราคา ฿244https://s.shopee.co.th/7fJQKGPCjr?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 10,843 ครั้ง เปิดอ่าน 22,349 ครั้ง เปิดอ่าน 15,187 ครั้ง เปิดอ่าน 11,401 ครั้ง เปิดอ่าน 220,161 ครั้ง เปิดอ่าน 9,289 ครั้ง เปิดอ่าน 23,080 ครั้ง เปิดอ่าน 63 ครั้ง เปิดอ่าน 20,676 ครั้ง เปิดอ่าน 10,935 ครั้ง เปิดอ่าน 13,027 ครั้ง เปิดอ่าน 19,619 ครั้ง เปิดอ่าน 61,627 ครั้ง เปิดอ่าน 22,975 ครั้ง เปิดอ่าน 2,888 ครั้ง เปิดอ่าน 2,284 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 11,586 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,158 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,489 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,197 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,187 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 21,982 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,296 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,789 ครั้ง |
เปิดอ่าน 2,300 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,076 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,343 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,336 ครั้ง |
|
|