ฝนชะช่อมะม่วงเป็นคำเรียกชื่อฝนที่ตกนอกฤดูฝน คือ ตกในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ซึ่งเป็นระยะที่ต้นไม้ผลไม้ต่าง ๆ กำลังออกช่อ โดยเฉพาะช่อมะม่วง กล่าวกันว่าเมื่อมีฝนนี้ตกลงมาในระยะที่มะม่วงออกช่อ จะทำให้มะม่วงติดผลและมีผลดก เมื่อพิจารณาโดยทางอุตุนิยมวิทยาเกษตร ก็มีเหตุผลพอจะเชื่อได้ เมื่อมะม่วงออกช่อ ผงฝุ่นละอองในอากาศก็จับเกาะตามช่อ ฝุ่นละอองโดยมากเป็นเกลือ ความเค็มย่อมทำให้ช่อมะม่วงร่วงหล่นและเหี่ยวแห้งไป ไม่ติดเป็นผล แต่เมื่อมีฝนตก ย่อมชะผงฝุ่นละอองที่จับตามช่อให้หมดไป ช่อจึงสะอาด เย็นและชุ่มชื้น ทำให้ช่อติดเป็นผลได้มาก เมื่อมีฝนเช่นนี้ตก ชาวสวนชาวไร่จึงดีใจมาก และเรียกกันว่า ฝนชะช่อมะม่วง ชาวนาเรียกว่า ฝนชะลาน เพราะฝนนี้ตกในระยะที่จะนวดข้าวบนลาน ต้องทำลานให้สะอาด เมื่อมีฝนตกลงมาจึงช่วยชะลานให้สะอาด จึงเรียกว่าฝนชะลาน
ฝนชะช่อมะม่วงเป็นฝนขนาดเบา มีปริมาณไม่มาก เป็นฝนที่เกิดจากปรากฏการณ์อุตุนิยมวิทยาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คลื่นในกระแสลมตะวันออก (easterly wave) ลมฝ่ายตะวันออกจากมหาสมุทรแปชิฟิกและทะเลจีนใต้พัดเข้าสู่อ่าวไทย ในกระแสลมตะวันออกนี้ บางคราวก็เกิดลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดเป็นคลื่นขึ้นในกระแสอากาศ เคลื่อนจากตะวันออกไปทางตะวันตก ภายในกระแสคลื่นของลมตะวันออกมีเมฆมากและมีฝนตกในร่องของคลื่น เมื่อคลื่นผ่านถึงที่ใดก็ทำให้เกิดฝนในบริเวณนั้น เป็นฝนตกนอกฤดู
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”