Advertisement
ชะตาดรรมชาวนาไทย ก้าวไปไม่พ้นความรันทด |
สุนทร พงษ์เผ่า
โพสต์ทูเดย์ 30 51 - ลมที่โชยอ่อน ช่วยให้เปลวแดดที่แผดจ้าลดความร้อนแรงลงไปได้บ้าง หากเป็นช่วงเดียวกันนี้ของปีก่อน นางคงพึงใจกับการเฝ้ามองรวงข้าวเหลืองทองอร่ามเต็มท้องนา ด้วยความหวังถึงรายได้ที่จะนำมาบรรเทาภาระหนี้สินและใช้เป็นทุนในการดำเนินชีวิตต่อไป
แต่สำหรับปีนี้ ท้องทุ่งสีทองมิได้ทำให้ความหวังความฝันเรืองอร่ามเช่นเคย ผืนดินแห้งผาก ดูดซึมหยดน้ำตาหยดแล้วหยดเล่าที่ร่วงหล่นหายไป เหมือนความหวังความฝันที่จมหาย...
...1 สัปดาห์มาแล้ว ที่นางเห็นสามีซึมเศร้า เนื่องจากข้าวนาปรังที่ปลูกไว้กว่า 46 ไร่ ถูกเพลี้ยกระโดดเข้าทำลายกัดกินต้นข้าวเสียหาย ประกอบกับขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว จนทำให้ได้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ เขามักจะบ่นออกมาให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า ผลผลิตที่ได้คงไม่พอใช้หนี้ สิ่งที่เธอทำได้ในขณะนั้นคือ การให้กำลังใจ ด้วยการปลอบประโลมว่า แม้ผลผลิตจะเหลืออยู่น้อย แต่ราคาข้าวที่กำลังพุ่งสูงอยู่ในขณะนี้น่าจะทำให้มีเงินพอใช้หนี้ได้บ้าง
แต่คำปลอบประโลมใจจากผู้เป็นภรรยาอาจไม่เพียงพอที่จะมาทดแทนความหวัง ความฝัน ช่วงก่อนเที่ยงวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เสียงปืนก็ดังขึ้นในห้องนอน พร้อมกับชีวิตของ “วัลลภ อำพันทอง” สามีคู่ทุกข์คู่ยาก
“คาดกันไว้ว่า ปีนี้ราคาข้าวดีตันละ 1 หมื่นบาท เมื่อเกี่ยวข้าวได้แล้วจะได้เงินอย่างน้อย 4 แสนกว่าบาท สามารถปลดหนี้ ธ.ก.ส.ได้เลย และยังมีเงินเหลือใช้อีก ไม่ต้องกู้มาลงทุนทำนาต่อไป แต่เมื่อนาต้องมาเสียหายก็ทำใจลำบาก ปลอบเขาตลอดว่าไม่ต้องคิดมาก มีแรงก็ทำกันไป แต่เขาเครียดจนต้องฆ่าตัวตาย” สำรวย อำพันทอง บอกเล่าถึงสาเหตุที่สามีของนางตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง หลังจากชะตากรรมอันโหดร้ายทำลายความหวังจนสูญสลาย
“ทำนากันมาตลอดชีวิต มีแต่หนี้สิน เราก็ขยันอดทนทำกิน ไม่ได้ฟุ่มเฟือยหรือเกียจคร้าน แต่ทำนากลับมีแต่หนี้ บางปีนาล่ม บางปีนาแล้ง พอมาปีนี้ราคาข้าวดี ตั้งใจจะขายข้าวใช้หนี้ให้หมด เพลี้ยและแมลงก็มาลงกินจนเสียหายเกือบหมด ที่ผ่านมาก็ต้องตัดสินใจขายรถบรรทุก 6 ล้อเก่า 1 คัน ที่เคยใช้รับจ้างบรรทุกข้าวเพื่อใช้หนี้ไปหลายแสนบาทแล้วครั้งหนึ่ง ก็ยังเหลือหนี้อยู่อีกมาก อยากจะบอกรัฐบาลให้ช่วยลดราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำมันลงให้มากกว่านี้ เพราะต้นทุนทำนาสูงขึ้นมาเป็นเท่าตัว ฉันเองสะท้อนใจราคาข้าวดีอย่างที่เกิดมาในชีวิตไม่เคยพบมาก่อน มีต้นข้าว แต่ไม่มีเม็ดข้าวเปลือกที่จะขาย น้อยใจในชีวิตที่เกิดมาเป็นชาวนาจนๆ” แม้จะเป็นถ้อยคำพรรณนาถึงทุกข์ยากที่ประสบมาทั้งชีวิต แต่ทว่านางได้บอกเล่าถึงชีวิตชาวนาไทยอย่างรวบรัดชัดเจนยิ่ง
ราคาข้าวเปลือกซึ่งสูงที่สุดในประวัติ ศาสตร์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึง 1 หมื่นบาทต่อตัน แต่หากจะเรียกว่านี่คือยุคอันรุ่งโรจน์ของชาวนา อาจต้องมองความเป็นจริงกันให้รอบด้านอย่างถึงที่สุด เพราะ ราคาที่เพิ่มขึ้นมิได้หมายความว่าจะสร้างรายได้ให้พวกเขา “ชาวนาไทย” จะก้าวพ้นจากความยากจนที่ประสบมาตลอด
“บัญชา ปั้นดี” หนุ่มชาวนาวัย 38 ปี แห่งบ้านกุ่ม ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา สะท้อนภาพความจริงของชาวนาให้เห็นว่า แม้ราคาจะดี แต่ใช่ว่า ชาวนาจะมีรายได้อู้ฟู่เป็นกอบเป็นกำ เพราะต้นทุนการผลิตทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และน้ำมันเชื้อเพลิง ถีบตัวเพิ่มขึ้นไปกว่าเท่าตัว
“ช่วงปีก่อน ราคาน้ำมันยังทรงตัว เพราะรัฐบาลประกันราคาน้ำมันดีเซล เมื่อราคาน้ำมันดีเซลทะลุ 30 บาท ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น จากเดิมต้นทุนทำนา ประมาณ 3,000 บาทต่อไร่ ผมทำนาปรัง 100 ไร่ จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 3 แสนบาท ต่อการทำนา 1 รอบ 4 เดือนครึ่ง จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวขายได้ แต่ขณะนี้ต้นทุนสูงถึง 6,000 บาทต่อไร่ ผมไม่มีเงินทุนมากขนาดนั้น พอหาได้ประมาณ 3 แสนบาท จึงต้องลดจำนวนพื้นที่ ทำนาปรังลงเหลือ 50 ไร่เท่านั้น”
แม้ว่าราคาข้าวก่อนหน้านี้จะไม่สูงเท่าขณะนี้ แต่หากเทียบกับจำนวนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว สำหรับบัญชาเขาเห็นว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย
“ก่อนที่ต้นทุนและราคาข้าวจะพุ่งสูงขนาดนี้ ต้องขายข้าวแบบจำนำข้าว ต้นทุนไร่ละ 3,000 บาท ขายข้าวเปลือกตามราคาจำนำข้าวที่ประมาณ 7,000 บาทต่อตัน ในฐานการผลิตที่ 1 ไร่ต่อ 1 ตัน เท่ากับชาวนาได้กำไรตันละประมาณ 4,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าแรงของชาวนาในการทำนา ส่วนปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ประมาณไร่ละ 5,000-6,000 บาท แม้ราคาข้าวเปลือกจะสูงถึงตันละ 1 หมื่นบาท แต่คิดถึงรายได้แล้ว ชาวนาก็มีกำไรเพียงไร่ละ 4,000-5,000 บาท ไม่ต่างจากเดิม ไม่ได้มีรายได้มากมายอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ”
บัญชา มองว่า ราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้นนี้ จะเป็นกับดักฆ่าวิถีชีวิตชาวนาไทยแน่นอน เพราะทุกคนดิ้นรนจะหาทุนมาทำนาเพื่อหวังถึงรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แหล่งทุนของรัฐนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพึ่งทุนนอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูง บวกลบหักกลบกันแล้ว เชื่อว่าชาวนาจะไม่ได้อะไรเลย และถึงแม้ว่าจะเป็นชาวนาที่มีเงินทุนสะสม ก็ใช่ว่าจะได้รับประโยชน์ ผลกำไรจากภาวะราคาข้าวที่พุ่งสูง เพราะในแต่ละรอบการปลูกข้าวต้องใช้เงินทุนสูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาหนักที่ต้องแบกรับ เพราะต้นทุนในการผลิตทุกอย่างจ่ายสด ไม่มีเงินผ่อน อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ช่วงการทำนาปรัง ทุกคนจะลดพื้นที่การปลูกลงครึ่งหนึ่ง เพื่อลดปัญหาด้านต้นทุน
“ชาวนาที่ยากจน ไม่มีทุนทำนาแน่นอน หากราคาข้าวดีแบบนี้ต่อไป ก็อาจยังไม่เกิดปัญหา แต่หากราคาข้าวเปลือกตกต่ำลงไม่ถึง 1 หมื่นบาทเมื่อใด เกิดปัญหาแน่นอน วันนั้นชาวนาจะเป็นหนี้หัวโต เพราะว่าต้นทุนในการผลิตสูงทะยานขึ้นทุกวัน และไม่ยอมลงแน่นอน เท่าที่พอจะเห็นก็คือ ชาวนายากจนต้องกลายเป็นลูกจ้างทำนากินแค่ค่าแรง หรืออาจจะมีนายทุนในชุมชนที่ไม่ได้เป็นชาวนา แต่ไปจับมือลงทุนให้ชาวนาที่ยากจน ไม่มีทุน แต่มีที่นา โดยชาวนายากจนลงแรงทำนาเสร็จได้กำไรก็แบ่งกัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็ยังคงเป็นนายทุนต่อไป”
เช่นเดียวกับ พินิจ สุขสมพืช ชาวนา ต.บางยี่โท อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งยึดอาชีพหลักมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยเป็นนาที่เช่าคนอื่น 30 ไร่ และเป็นที่นาของตนเอง 20 ไร่ เขายืนยันว่า ถึงแม้ราคาข้าวเปลือกจะดี ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวนาจะร่ำรวยมากขึ้น เพราะต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน และในทางกลับกัน ชาวนาที่ยากจนหรือไม่มีทุนจะทำนา อาจต้องหยุดการทำนาที่เคยเป็นอาชีพหลักก็เป็นได้ เพราะไม่มีเงินทุนที่จะสำรองในการลงทุนทำนาในแต่ละรอบการผลิต
“เมื่อไม่มีเงินลงทุนก็ต้องหาเงินกู้ จะไปกู้เพิ่มจาก ธ.ก.ส. ก็ไม่ได้แล้ว เพราะชาวนากู้กันเต็มโควตาไปหมดแล้ว จึงต้องไปกู้นายทุนปล่อยเงินกู้ที่คิดดอกแพง เมื่อราคาข้าวดี ก็มีกลุ่มพ่อค้าข้าวหันมาลงทุนผูกใจชาวนาให้ขายข้าว โดยปล่อยเงินกู้หรือออกเงินสำรองต้นทุนจำพวกค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายให้ก่อน โดยคิดดอกเบี้ยประมาณ 2-3% เมื่อเกี่ยวข้าวก็ต้องขายให้แก่พ่อค้าคนนั้น ซึ่งก็ซื้อขายกันในราคาตามท้องตลาด ไม่ได้กดขี่ราคาแต่อย่างใด เมื่อได้เงินมาก็ต้องจ่ายเงินคืนแก่พ่อค้าที่สำรองเงินทำทุนให้ก่อนพร้อมดอกเบี้ย ตอนนี้ชาวนาเจอวิกฤตต้นทุนสูง แต่ผลกำไรได้เท่าเดิม ขณะเดียวกัน ค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เจอแบบนี้ชาวนาที่ไหนจะทนได้” พินิจ กล่าวย้ำ
ปัญหาของชาวนาไทยมิใช่จะมีแค่ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงศัตรูพืช รวมทั้งปัญหาต้นทุนสูง แต่ด้วยปัจจัยราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้มีผู้เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของเพื่อนชาวนาด้วยกัน ออกโจรกรรมขโมยเกี่ยวข้าวในนาข้าวที่สุกใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วภาคกลางมาตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
วิเชียร พวงลำเจียก กรรมการสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า แปลงนาข้าวเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ รถเกี่ยวข้าวจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ก็สามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพราะสามารถแยกซังข้าวและเมล็ดข้าวออกจากกันทันที และกระบะท้ายรถเกี่ยวข้าวมีความจุเมล็ดข้าวเปลือก ประมาณ 1-2 ตัน เมื่อเมล็ดข้าวเต็มกระบะ ก็จะวิ่งรถมาที่คันนา ถ่ายเทข้าวเปลือกใส่ในรถบรรทุก 6 ล้อได้ทันที
“เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นกรรมของ ชาวนา พอข้าวเปลือกราคาไม่ดี ทำนาแล้วก็ขาดทุน พอข้าวเปลือกราคาดี ก็มาถูกโจรปล้นเกี่ยวข้าวไป เกษตรกรชาวนาในภาคกลางต้องนอนเฝ้านากันเลย เพื่อป้องกันโจรมาเกี่ยวข้าว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะข้าวเปลือกราคาดี และสามารถนำไปขายเอาเงินสดตามโรงสีทั่วๆ ไปได้ทันที ข้าวเปลือกอยู่ในมือใคร ก็เป็นข้าวเปลือกของคนคนนั้น”
ในฐานะกรรมการสมาคมชาวนาไทย วิเชียร เห็นว่า รัฐบาลจะต้องเร่งหามาตรการรองรับก่อนที่ปัญหาของเกษตรกรชาวนาไทยจะย่ำแย่ไปมากกว่านี้ จากหลายๆ ปัญหาสภาวะที่เผชิญอยู่ ทั้งราคาพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ราคาน้ำมัน และแหล่งน้ำ ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ในขณะที่ราคาก็ยังไม่มีความมั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้น ทรงตัว หรือกลับมาสู่ภาวะตกต่ำเช่นในอดีต ซึ่งปัญหาเหล่านี้คือชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาได้ของชาวนาไทย
ข้อมูลของ “กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน” (Local Act) ระบุว่า จากการศึกษาพื้นที่ทำนา ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ทำนาปีละ 3 ครั้ง เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออก ชาวนา 70% ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง โดยเฉลี่ยแล้วชาวนามีหนี้สินตั้งแต่ 1-3 แสนบาทต่อครอบครัว สาเหตุหลักของหนี้สินเกิดจากการซื้อปัจจัยการผลิต ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สูงสุดถึง 52.45% ลงทุนการผลิต อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยว รถขนส่งและค่าน้ำมัน 26.85% และค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่สูงขึ้นทุกปี
จากการศึกษาต้นทุนการทำนาในปี 2550 ของชาวนา ต.บางขุด พบว่า มีต้นทุนการผลิตสูงถึง 3,165 บาทต่อไร่ และมีผลผลิตตอบแทนต่อไร่ 3,850 บาท ดังนั้น ชาวนาได้กำไร 685 บาทต่อไร่เท่านั้น ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกในปี 2550 ที่ชาวนาขายได้คือ 5,500 บาทต่อตัน รัฐรับซื้อราคา 6,509 บาทต่อตัน แม้การขายให้รัฐในโครงการรับจำนำข้าวจะมีราคาสูงกว่า แต่ชาวนาต้องขายข้าวของตนเองออกไป เนื่องจากความขัดสนทางการเงินและหนี้สิน อีกทั้งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จต้องเร่งขายข้าว ทำให้ถูกหักความชื้น ราคาข้าวจึงตก
ที่สำคัญ ชาวนาไม่สามารถเข้าถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ ที่ส่วนใหญ่มีตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ ชาวนาคนไหนที่เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. ธ.ก.ส.จะหักชำระหนี้ไว้เลย ไม่มีทางได้ถือเงินจนกว่าจะไปกู้ใหม่ ชาวนาจึงไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้สินได้
จากภาพปัญหาที่สะท้อนมาทั้งหมด คงพอเห็นแล้วว่า ชีวิตของชาวนาไทยในวันนี้มิได้ดีขึ้นกว่าในอดีตแต่อย่างใด นานเท่าไหร่แล้วที่ชาวนาไทยแทบจะไร้ความหวังถึงอนาคต ถึงแม้ว่าราคาข้าวในปัจจุบันจะพุ่งสูงขึ้น แต่ก็เป็นเพียงภาพมายา ในขณะที่ปัจจัยโครงสร้างทางการผลิตภายใต้ระบบทุนนิยม การเข้าถึงทุน ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้พวกเขาพลิกชีวิต ลืมตา อ้าปากได้อย่างแท้จริง
ชะตากรรมชีวิตชาวนาไทย จึงยังต้องเวียนวนอยู่กับความรันทดต่อไปอีก ยาวนาน
|
วันที่ 24 พ.ค. 2552
หน้าหนาวแล้ว คุณครูสนใจไหม DoDo เก้าอี้แคมป์ปิ้ง รับน้ำหนักได้เยอะ พร้อมกระเป๋าจัดเก็บ โครงอลูมิเนียมรับน้ำหนักได้200KG ในราคา ฿189 - ฿509 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/9pNuttuIUm?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง เปิดอ่าน 7,169 ครั้ง เปิดอ่าน 7,171 ครั้ง เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง เปิดอ่าน 7,173 ครั้ง เปิดอ่าน 7,179 ครั้ง เปิดอ่าน 7,453 ครั้ง เปิดอ่าน 7,173 ครั้ง เปิดอ่าน 7,167 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,156 ครั้ง เปิดอ่าน 7,686 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,155 ครั้ง เปิดอ่าน 7,165 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,164 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,161 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,163 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,159 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,163 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,160 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,158 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 9,989 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,560 ครั้ง |
เปิดอ่าน 111,604 ครั้ง |
เปิดอ่าน 41,068 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,542 ครั้ง |
|
|