สตรีอายุประมาณ 30 ปี ชาวเมืองคาเมรอน เคาน์ตี้ ในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ชายแดน ระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก กลายเป็นพลเมืองสหรัฐรายแรกที่เสียชีวิต จากโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยบริการสาธารณสุข ของรัฐเท็กซัส เปิดเผยว่า สตรีคนดังกล่าวได้เสียชีวิต ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สตรีชาวสหรัฐเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สอง จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในสหรัฐ โดยรายแรก คือ เด็กทารกชาวเม็กซิโก เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา แต่สตรีคนนี้ถือเป็นพลเมืองสหรัฐรายแรกที่เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ขณะที่มีรายงานว่า มีผู้ที่ได้รับการยืนยันถึงการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรัฐเท็กซัส ทั้งหมด 61 ราย
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานยอดผู้ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่า ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวทั่วโลก เมื่อวันพุธ อยู่ที่อย่างน้อย 1,617 คน รวมทั้งผู้เสียชีวิต 26 คน ที่เม็กซิโก กับ 2 คนที่สหรัฐ ซึ่งรวมถึงสตรีในรัฐเท็กซัส
ส่วนที่เม็กซิโก ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เตรียมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้ (6 พฤษภาคม) โดยท้องถนนในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีเฟลิเป คัลเดรอน ได้ประกาศว่า รัฐบาลเม็กซิโกจะยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ และเอกชน วันนี้ทำให้ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย จะเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากกรณีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เม็กซิโก หรือ "ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1" ระบาดลุกลามไปในหลายทวีป แม้มีอัตราผู้เสียชีวิตต่ำ ไม่รุนแรงเท่าไวรัสไข้หวัดนก "เอช 5 เอ็น 1" แต่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะรูปแบบการติดเชื้อคนสู่คนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วนั้น ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ผู้เชี่ยวชาญจากภาคจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ความกระจ่าง ดังนี้...
สถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
การระบาดเริ่มต้นที่ประเทศเม็กซิโก เริ่มพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ต่อมาได้รับการยืนยันว่าเป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กลางเดือนเมษายน และมีการลุกลามของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและออกไปในหลายประเทศจากการเดินทางของประชาชน ในประเทศเม็กซิโกมีผู้ป่วยจำนวนมาก มีสัดส่วนที่มีอาการรุนแรงคือมีปอดอักเสบค่อนข้างสูง และพบว่ามีอัตราตายประมาณ 6% แต่ในผู้ป่วยที่พบในประเทศอื่นๆล้วนมีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่หายได้เอง ยังไม่ชัดเจนว่าความแตกต่างนี้เป็นเพราะอะไร
นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ ที่มีรายงานพบผู้ป่วยล้วนยังสามารถควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในประเทศ ซึ่งเป็นแนวป้องกันที่สำคัญมาก ในขณะที่เขียนบทความนี้ วันที่ 30 เมษายน 2552 ระดับการเตือนภัยขององค์การอนามัยโลกอยู่ที่ "ระดับ 5" หมายความว่ามีการติดเชื้อจากคนไปคนและระบาดในมากกว่า 1 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หากมีอีกประเทศหนึ่งที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในต่างภูมิภาค ก็จะเลื่อนเป็น "ระดับ 6" ซึ่งถือเป็นระดับของการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)
ความเสี่ยงระบาดทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 5 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง ความเสี่ยงในการเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมีสูง ขณะนี้ทั่วโลกมีความหวังกันว่าแต่ละประเทศจะสามารถรักษาแนวป้องกันของตนเองไว้ได้นานพอที่จะทำให้การระบาดในประเทศเม็กซิโกสงบลงได้ หากทำได้การระบาดใหญ่ทั่วโลกก็จะไม่เกิดขึ้น และไวรัสอาจถูกกำจัดไปได้ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับการะบาดของ "โรคซาร์ส"
ข้อที่ช่วยให้มีความหวังคือการที่ยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์เดียวกันนี้ในสัตว์ ทำให้มีความหวังว่าหากสามารถควบคุมและกำจัดเชื้อในคนได้ก็จะสามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้
นอกจากนั้น การที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไวต่อยา "Oseltamivir" (Tamiflu : ทามิฟลู) ทำให้มีเครื่องมือเบื้องต้นที่จะรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในผู้สัมผัสโรค จึงอาจมีความเป็นไปได้ที่ทุกประเทศจะสามารถรักษาแนวป้องกันของตนเอง โดยการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น หาตัวผู้ป่วยผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากดินแดนระบาด และป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อแพร่ต่อไปด้วยการแยกผู้ป่วย ให้การรักษา และเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อในผู้สัมผัส
เรายังไม่ทราบชัดเจนถึงประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หากไวรัสมีประสิทธิภาพปานกลาง และมาตรการป้องกันของทุกประเทศทำอย่างเข้มแข็งก็มีความเป็นไปได้ที่การระบาดใหญ่ทั่วโลกจะไม่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากไวรัสมีประสิทธิภาพสูงมาก และแม้มาตรการจะดำเนินการเต็มที่ก็มีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ทันในประเทศอื่น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกก็จะสูงมาก
หากสถานการณ์เป็นไปในทางเลวร้าย คือ แต่ละประเทศหยุดยั้งการระบาดที่เข้ามาจากภายนอกไม่ได้ทัน และเกิดการระบาดในวงกว้างขึ้นในชาติต่างๆ หรือเกิดการะบาดใหญ่ทั่วโลกขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญอันดับถัดมาก็คือความรุนแรงของโรค ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าข้อมูลเบื้องต้นในประเทศเม็กซิโกระบุว่า มีอัตราตายประมาณ 6% ซึ่งหากเป็นจริงและเกิดความรุนแรงของโรคระดับเดียวกันในการระบาดใหญ่ทั่วโลก จะถือว่าเป็นการระบาดใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน
ความรุนแรงของโรค
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่โรคจะมีความรุนแรงในระดับนั้นน่าจะมีน้อยมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ ผู้ป่วยที่รายงานในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง การที่ประเทศเม็กซิโกรายงานอัตราตายสูงอาจเนื่องจากตรวจพบและรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมต่ำกว่าความเป็นจริง คือ ไม่ได้ตรวจพบและรายงานกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย ทำให้พบและรายงานเฉพาะรายที่อาการรุนแรงซึ่งเป็นส่วนน้อย
หรืออาจเป็นไปได้ว่าไวรัสที่ระบาดในเม็กซิโกและที่แพร่ออกสู่ประเทศอื่นๆ มีความแตกต่างกัน โดยทฤษฎีแล้วก็มีความเป็นได้พอสมควร เนื่องจากในกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจมีสายพันธุ์ย่อยที่มีความรุนแรงต่างกัน ผู้ติดเชื้อด้วยเชื้อชนิดที่รุนแรงมากจะป่วยหนักอย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสน้อยที่จะออกเดินทางไปยังประเทศอื่น ในทางตรงข้าม ผู้ที่ติดเชื้อด้วยไวรัสที่ทำให้อาการอ่อนหรือไม่มีอาการ จะมีโอกาสที่จะเดินทางได้มากกว่า เมื่อเชื้อแพร่ระบาดออกไปเรื่อยๆ จึงมีแนวโน้มที่จะคัดเลือกให้ได้ไวรัสที่แพร่เชื้อได้ดี แต่ก่อโรคไม่รุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยมีรายงานในการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่มีมาก่อนหน้า
ไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ และ ไข้หวัดหมู (Swine Influenza) เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ในคน, ไข้หวัดหมู และไข้หวัดนก รวมทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ที่พบในสัตว์อีกหลายชนิด ล้วนเป็นไวรัสที่มีความใกล้ชิดกัน และเชื่อว่ามีบรรพบุรุษร่วมกันจากไวรัสที่พบใน "นกน้ำ" ไวรัสเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วติดเชื้ออยู่ในสัตว์ชนิดเดียว แต่ก็พบมีการติดเชื้อข้ามไปยังสัตว์ชนิดอื่นได้เป็นครั้งคราว มีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดหมูในคนเป็นครั้งคราวในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ โดยคนติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับหมูที่ป่วย ซึ่งอาการป่วยในหมูมักไม่รุนแรง การติดเชื้อไข้หวัดหมูในคนที่มีการรายงานก็ไม่ได้มีการติดเชื้อต่อจากคนไปคน โรคไข้หวัดหมูในคนจึงไม่ได้เป็นปัญหามากนัก
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมีความกังวลกันว่า ไวรัสไข้หวัดหมูอาจเป็นต้นกำเนิดของไวรัสที่สามารถติดเชื้อจากคนไปคนได้ดี และจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ เช่นเดียวกับความกังวลที่เกิดขั้นกับไข้หวัดนก มีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ระหว่างไข้หวัดหมูและไข้หวัดนกในสัตว์ ก็คือการระบาดของไข้หวัดหมูในประชากรหมูมีความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ทั้งในขอบเขตของการระบาด และความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นกับหมู
ไวรัสไข้หวัดหมูสามารถพบได้ในทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้ง "ประเทศไทย" และมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ เอช1เอ็น1 (H1N1), เอช1เอ็น2 (H1N2), และเอช3เอ็น2 (H3N2)
เกิดจากไวรัสลูกผสม
ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดที่เม็กซิโกเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบที่ใดมาก่อน และถึงแม้ว่าจะเป็นไวรัสชนิด H1N1 และลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสแตกต่างไปจากไวรัสไข้หวัดหมู H1N1 และไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่แพร่ระบาดทั่วไปในคน (seasonal influenza virus) สิ่งที่ทำให้เรียกชื่อไวรัสชนิดนี้เป็นไข้หวัดหมู เพราะรหัสพันธุกรรมของไวรัสหลายส่วน โดยเฉพาะยีน H1 และ N1 พบว่าคล้ายกับไวรัสไข้หวัดหมู จึงน่าจะมีที่มาจากไวรัสไข้หวัดหมู โดยพบว่า ยีน H1 คล้ายกับไวรัสไข้หวัดหมูที่แพร่ระบาดอยู่ในหมูในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ส่วนยีน N1 นั้นพบว่าน่าจะมาจากไวรัสไข้หวัดหมูที่ระบาดอยู่ในทวีปเอเชียและยุโรป
ส่วนยีนอื่นๆ น่าจะมีที่มาแตกต่างกันจากหลายแหล่ง ซึ่งรวมถึงไวรัสไข้หวัดหมูและอาจมีจากไวรัสของสัตว์อื่นด้วยซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจน ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จึงเป็น "ไวรัสลูกผสม" จากไวรัสหลายชนิด ซึ่งยังไม่ทราบว่าต้นกำเนิดของการผสมสายพันธุ์ของไวรัสนี้เกิดขึ้นในสัตว์หรือคน แต่เนื่องจากยังไม่พบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาดในสัตว์ชนิดใด จึงตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่าไวรัสที่อาจจะ "เกิดขึ้นในคน" และได้ปรับตัวมาให้เหมาะสมกับการติดเชื้อและระบาดในคน
ไข้หวัดหมูในเมืองไทย
"ไวรัสไข้หวัดหมู" ในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียและยุโรป มีการติดเชื้อในหมูและเกิดการระบาดขนาดเล็กขึ้นเป็นครั้งคราว แต่เป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากไวรัสไข้หวัดหมูที่พบในหมูในสหรัฐอเมริกา และแตกต่างจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังระบาดในเม็กซิโก แต่มีบางชิ้นส่วนของรหัสพันธุกรรม ได้แก่ยีน N1 และยีน M ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดที่เม็กซิโกที่อาจจะมีที่มาจากไวรัสไข้หวัดหมูสายพันธุ์เอเชีย/ยุโรป จึงเป็นส่วนที่จะมีความคล้ายกับไวรัสไข้หวัดหมูในประเทศไทย
ความคล้ายกันดังกล่าว ไม่ได้ทำให้ไวรัสไข้หวัดหมูในประเทศไทยมีความเป็นอันตรายมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะการจะติดเชื้อมาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีส่วนผสมของพันธุกรรมหลายๆ ส่วนที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของยีน H1 ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ไวรัสไข้หวัดหมูในประเทศไทยจึงยังไม่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อการติดเชื้อในคน และไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
ข้อปฏิบัติประชาชนทั่วไป
ในระยะที่ยังไม่พบโรคในประเทศ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการที่จะพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ทันเวลา ที่จะป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อไปได้ มาตรการของภาครัฐที่จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน คือ การรายงานผู้ที่มีอาการไข้หวัด ซึ่งได้แก่ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก และเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด หรือมีผู้ป่วยหลายคนที่ใกล้ชิดกันและมีอาการคล้ายๆกัน
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่โดยเร็ว เพื่อควบคุมการแพร่เชื้ออย่างได้ผล หากตัวท่านหรือท่านพบเห็นผู้ที่เข้าข่ายดังกล่าวจะต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ในการปฏิบัติตัวทั่วไปหากเกิดการระบาดขึ้นในระดับใดก็ตาม ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีคนอยู่จำนวนมาก การล้างมือบ่อยๆ การไม่เอามือขยี้ตา หรือเอามือเข้าปากจมูก และหากมีอาการหวัด ไอ จามให้อยู่กับบ้านและใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หรือในกรณีที่ต้องเข้าไปอยู่ในที่ชุมชนในพื้นที่ที่เกิดการระบาดการใช้หน้ากากอนามัยก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :: ไทยรัฐ และ ข่าวสด