ktt
เป็นธรรมดาของภาษาในโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา คำที่คิดว่าล้ำที่สุดในปีนี้ก็อาจจะเชยในอีกไม่กี่ปีต่อมา
โดยเฉพาะภาษาของวัยรุ่นที่มักจะสร้างสรรค์คำใหม่ๆ มาใช้สนทนาอยู่เสมอ ทำให้คำศัพท์เก่าๆ กลายเป็นคำตกยุค ที่ทยอยสาบสูญไปตามๆ กัน พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์ รวบรวมคำศัพท์เก่าๆ ที่หายไป และคำใหม่ๆ ที่มาทดแทน
......
คำว่า "เชย" ในพจนานุกรมไทยปีล่าสุดหมายถึง ไม่ทันสมัย ตกยุค สามารถนำมาใช้ได้หลายโอกาส โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ การดำเนินชีวิต เช่น การแต่งตัวเชยๆ หรือรสนิยมในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเชยได้ไม่น้อย นั่นคือ คำพูดคำจา หรือศัพท์ที่ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน ดังตัวอย่าง ศัพท์ของเด็กวัยรุ่นที่ผลัดเปลี่ยนมาสร้างความงวยงงให้กับผู้ใหญ่อยู่เสมอ ใครที่เผลอพูดศัพท์เก่าๆ จึงอาจจะถูกค่อนขอดได้ว่า ไดโนเสาร์เต่าล้านปี หรือ 'ตกยุค' นั่นเอง
1. ขำๆ กับคำเชยๆ
"นายแต่งตัวได้จ๊าบมาก"
"ผู้ชายคนนั้นทำตัวโหลยโท่ยมากเลย"
"หล่อนแต่งตัวเฟี้ยวนะยะ" ฯลฯ
ย้อนไปเกือบสิบปีที่แล้วประโยคเหล่านี้ดูจะฮอตฮิตเหลือเกิน ใครพูดคำเหล่านี้แลดูทันสมัย และบ่งบอกว่าล้ำหน้าเกินเพื่อนฝูง แต่ใครจะคิดว่าคำที่ดูทันสมัยเหล่านี้ถูกเบียดตกขอบเวทีไปอย่างกู่ไม่กลับ หลังจากมีคำใหม่ๆ ผุดขึ้นมาให้เลือกใช้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เกือบยี่สิบปีก่อน ''เด็กฮาร์ท'' เป็นคำเรียกเด็กวัยรุ่นที่ทันสมัยสุดๆ แต่แล้วกาลเวลาพัดพาให้คำเหล่านี้กลายเป็นอดีต เกิดเป็นคำใหม่อย่าง 'เด็กแนว' ซึ่งตอนนี้กำลังติดปากและถูกให้ความหมายกันไปต่างๆ นานา แต่ใจความหลักยังอยู่ที่เด็กสมัยใหม่ที่มีแนวทางเป็นของตัวเอง ตัวอย่างจาก ''เด็กแนว'' เป็นเพียงหนึ่งคำสะท้อนให้เห็นว่า คำเชยๆ เกิดขึ้นอยู่ทุกยุคสมัย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ ออกหนังสือเกี่ยวกับการใช้ภาษาทำนองนี้ โดยเรียกหนังสือนั้นว่า แนวทางการจัดทำพจนานุกรม 'คำคะนอง' เป็นการนำคำที่มักพูดกันคะนองปากมารวบรวมไว้ด้วยกัน คำเหล่านี้เกิดนำมาจากคำที่วัยรุ่นประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งมักจะมีคำคะนอง ภาษาตลาดหรือแสลงออกมาใช้กันเสมอๆ เช่น
"แกว่าชุดนี้โอป่ะ"
"คนนั้นหน้าเหียกเป็นบ้าเลย"
"โห..ทำไมป๊อดจังว่ะ"
เด็กวัยรุ่นย่านสยามสแควร์วัย 17 ปีอย่าง มานะ ทองกู้เกียรติตระกูล เห็นว่า คำพูดถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับกลุ่มพวกเพื่อนของเขา เพราะบ่งบอกความรู้สึก และการยอมรับจากเพื่อนในกลุ่ม ดังนั้นต้องหลีกเลี่ยงคำเชยๆ
"ถ้าจะพูดว่า ผู้หญิงคนนี้สวย ก่อนหน้านี้ผมจะพูดว่า คนนี้ ''เด็ด'' ว่ะ แต่พอตอนนี้ต้องพูดว่า ''แจ่ม'' หรือถ้าขาวสวยก็ต้องบอกว่า ''เนียนนุ่ม'' เป็นอันรู้กันดีกับเพื่อนๆ" มานะเล่ายิ้มๆ
ส่วน ศาสตรา พรมชาติ เพื่อนในกลุ่มของมานะยกตัวอย่างคำตกยุคว่า มีหลายคำที่ใช้กับเพื่อนกลุ่มหนึ่งได้ แต่กับอีกกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคำเชยๆ เช่น เด็กโจ๋ เพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งจะใช้คำว่า ''เด็กแป๊บ'' มาจากคำว่า แป๊บซี่ที่แปลว่า เด็กซ่า
หรือหากพูดว่าผู้หญิงคนนี้แต่งตัวฉูดฉาด เมื่อก่อนศาสตราอาจจะพูดว่า ''เปรี้ยว'' แต่ทุกวันนี้เพื่อนในโรงเรียนมักจะพูดว่า ''ล้ำ'' หรือ ''อิน'' (in) มากกว่า เขายังบอกอีกว่า คำพูดเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากเพื่อนๆ คนใดคนหนึ่งนำมาจากคนนอกกลุ่ม แล้วนำมาเผยแพร่ จนกลายเป็นคำฮิตของกลุ่ม ทำให้คำเก่าๆ ที่เคยพูดกันค่อยๆ หายไป
2. ต้นแบบจากสื่อมวลชน
เมื่อคำแสลงถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ผู้ที่มักจะนำมาขยายต่อสู่สาธารณะคือ สื่อมวลชน เห็นได้จากตามพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง หรือคำพูดคำจาของพิธีกรรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะรายการวัยรุ่นที่มักจะใช้คำพูด ''ล้ำๆ'' นำสมัย ตามบุคลิกของรายการ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบางท่านถึงกับรับไม่ได้กับการใช้ภาษาของสื่อมวลชนบางกลุ่ม อย่างที่ ส.เชื้อหอม ผู้สันทัดภาษาไทย เขียนไว้ในหนังสือ ''ภาษาสื่อมวลชน มีกี่คนทนรับได้'' ว่า การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนมักใช้คำที่ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ลามก เพื่อความสะใจมากกว่าการใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ได้เนื้อหาสาระ จนทำให้เกิดคำใหม่ๆ ที่ไม่มีประโยชน์
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสื่อมวลชนมีข้อจำกัดในการทำงานหลายประการ เช่น การทำงานแข่งกับเวลา การสื่อความให้น่าสนใจ ทำให้ต้องใช้คำที่ง่าย กึ่งภาษาปาก และสื่อถึงคนได้ทุกระดับ จึงอาจจะไม่ถูกใจนักภาษาศาสตร์ได้
ส่วนคนทำงานด้านสื่อกลับเห็นต่างออกไป ศรีพรรณ ชื่นชมบูรณ์ หรือ อ้น ดารานักแสดงอารมณ์ดีเป็นอีกคนหนึ่งที่มักจะใช้คำแปลกๆ ใหม่ๆ เธอเคยพูดถึงการใช้ภาษาของเด็กรุ่นใหม่ว่า เป็นการประยุกต์เอาสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวมาเล่นกับคำศัพท์ ทำให้เกิดภาษาใหม่ จากการรับรู้เพียงไม่กี่คนในกลุ่มก็ขยับขยายไปสู่คนวงกว้าง
อ้นทบทวนคำเชยๆ ที่ ''เอาท์'' ไปแล้วมาหลายคำ เช่น คำว่า ''โหลยโท่ย'' คำนี้ฮิตมากสมัยสิบปีที่แล้ว ความที่เป็นคำแปลกๆ สระไม่เหมือนคำปกติ แต่สมัยนี้ได้ยินน้อยมาก อ้นคิดว่าเพราะมีคำอื่นๆ ให้พูดแทน หรือ คำว่า ''เดิ้น'' สมัยนี้หากจะพูดถึงสิ่งที่ทันสมัยต้องใช้คำว่า ''อิน'' รวมถึงคำว่า ''สะแด่วแห้ว'' ซึ่งถือว่าทันสมัยมากเมื่อสิบปี แต่สมัยนี้เชยมาก
"คงเหมือนกับที่เขาว่า ภาษามันดิ้นได้" อ้นให้ความเห็น "พวกเราที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อก็คงมีอิทธิพลโดยตรง แต่คิดว่า คนที่จะเอาไปใช้ก็คงต้องรู้ว่ามันเหมาะกับพวกเขาไหม ถ้าเป็นเด็ก หรือวัยรุ่นก็น่าจะรับง่าย แต่ผู้ใหญ่คงไม่ชอบ น่าจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่ผู้ใหญ่ชอบให้ทำอะไรตามกรอบประเพณี"
กลุ่มคนที่อ้นเห็นว่ามักใช้คำศัพท์แบบนี้มีสองกลุ่ม หนึ่งคือ วัยรุ่น เพราะเป็นวัยที่ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเองให้ผู้ใหญ่เห็น แล้วภาษาเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงตัวตนของพวกเขาได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มกะเทย ซึ่งกำลังมาแรงเหลือเกิน อ้นให้เหตุผลว่า เพราะคำพูดของคนกลุ่มนี้แรง กระชับ และได้อารมณ์ ทำให้ฮิตติดตลาด เช่น ขอบอก เริ่ด หรือกิ๊บเก๋ยูเรก้า เป็นต้น
"มันเป็นเรื่องขำๆ มากกว่า เพราะจริงๆ ไม่มีคำที่จะอยู่ได้นาน วันหนึ่งก็ต้องตายไป สังคมมันเปลี่ยนตลอดเวลา พรุ่งนี้คำว่า อิน หรือ เอาท์ ก็ต้องไปแน่นอน แล้วจะคอยดูว่าจะใช้คำว่าอะไรมาพูดกัน" เธอบอกความรู้สึกอย่างอารมณ์ดี
ส่วนครูลิลลี่ หรือ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ ครูสอนภาษาไทยชื่อดังยอมรับว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่ลื่นไหลไปกับกระแสต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการพูดการจามักจะมีภาษาเป็นของตัวเอง ชนิดที่ผู้ใหญ่ต้องงงไปตามๆ กัน บวกกับวงจรของภาษาที่ไม่หยุดนิ่ง และมักจะปรับเปลี่ยนไปกับกระแสสังคม อาจจะมีการนำมาจากภาษาต่างประเทศ ผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร หรือโฆษณา เป็นต้น
ในต่างประเทศก็เช่นกัน ครูลิลลี่ยก ตัวอย่าง ภาษาอังกฤษซึ่งเต็มไปด้วยศัพท์แสลง โดยเฉพาะคำลามก หรือส่อเสียด และมักจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้เห็นว่าทุกภาษาล้วนไม่หยุดนิ่ง และลื่นไหลไปตามผู้ใช้ภาษานั้น
"คำเชยๆ เป็นเหตุการณ์ปกติของภาษาที่มีวันเกิดก็ต้องดับ มีอยู่ยุคหนึ่งเด็กวัยรุ่นนิยมพูดพยัญชนะตัวเดียวกันทั้งประโยค เช่น "กินข้าวหรือยัง" พูดว่า "ดินด้าวหดือดัง" สิ่งเหล่านี้เพียงต้องการสื่อความในกลุ่มของเขาเท่านั้น เมื่อไปอยู่กับกลุ่มคนอื่น เด็กวัยรุ่นก็ไม่พูดแบบนี้ แล้วมาถึงวันหนึ่งการพูดแบบนี้ก็หายไปเอง"
"เป็นเพราะคำมีให้ใช้น้อยไปหรือเปล่า" เราถาม
ครูลิลลี่คิดว่า เป็นเรื่องที่ตอบได้ยากว่ามากหรือน้อยไป อยู่ที่ว่าจะภาษาเหล่านั้นใช้กับคนกลุ่มไหน เช่น หากนำไปใช้กับวัยรุ่นก็ถือว่าเขามักจะสร้างสรรค์คำใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติ เพื่อสื่อความในกลุ่ม แต่สำหรับการทำงานเฉพาะทางเช่น คอมพิวเตอร์ ก็อาจจะต้องประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่ เพื่อประโยชน์ในการสื่อความหมาย อยู่ที่ว่าคำนั้นได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนเพียงใด
อย่างไรก็ตาม คำศัพท์วัยรุ่นบางคำก็อยู่ยงมาจนถึงทุกวันนี้ ดังที่ สุดสงวน คอลัมนิสต์ในนิตยสารสกุลไทย เคยเขียนยกตัวอย่างคำศัพท์วัยรุ่นเก่าๆ ที่ยังเคยได้ยินมานานและยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เช่น คำว่า ''ขี้หลี'' แรกเริ่มนั้นมาจากคำที่เรียกผู้ชายประเภทช่างเอาใจคน (โดยเฉพาะสาวๆ สวยๆ) ว่า "กะหลีกะหลอ" ซึ่งพจนานุกรมให้คำอธิบายว่า "แสดงกิริยาท่าทางหรือพูดจาประจบประแจงอย่างไม่น่าดู" แล้วตามภาษาวัยรุ่นก็จะตัดเหลือสั้นๆ ว่า "คนนี้มันขี้หลี" หรือพูดให้ดู (เหมือน) สุภาพว่า "คนนั้นมันแซ่หลี"
แล้วต่อมาก็ใช้คำ "หลี" นี้ตามๆ กันมา โดยมาบรรยายพฤติกรรมของผู้ชายบางคนที่เจ้าชู้มากๆ ถึงขั้นหลงใหลในสตรีเพศ แล้วนำมาทำเป็น "คำผวน" เพื่อมิให้ฟังเป็นคำหยาบคายแสลงหูคนฟัง ต่อมาจึงตัดเหลือสั้นๆ เฉพาะคำเดียวมาใช้ โดยคำนี้ยังคงใช้กันอยู่ในหมู่วัยรุ่นและคนกลุ่มอื่นๆ จนถึงทุกวันนี้
3. พูดจาภาษาวัยใส
สำหรับผู้ใหญ่หลายคนอาจจะเห็นว่า ภาษาของวัยรุ่นเป็นเรื่องไร้สาระ พูดจาอะไรไม่เห็นรู้เรื่อง ทว่า คนกลุ่มหนึ่งพยายามศึกษาและทำความเข้าใจกับการสร้างคำและการนำไปใช้ของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น บนความเชื่อที่ว่า ภาษาเป็นหน้าตาของวัฒนธรรม หากเข้าใจภาษาของพวกเขา บางทีเราอาจจะเข้าใจสิ่งที่วัยรุ่นคิดมากขึ้นก็ได้
ในอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ มีการคิดค้นดิกชันนารีของวัยรุ่น คำศัพท์เหล่านี้เกิดจากการคำแสลงของวัยรุ่นกลุ่ม Cockney ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงลอนดอนกับกลุ่ม British India ผู้จัดทำหวังให้ดิกชันนารีนี้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าว
ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้ชื่อว่าเต็มไปด้วยความหลากหลายของชนชาติ จีน มาเลย์ อินเดีย และอื่นๆ เนื่องจากความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม หากขาดการจัดการที่ดีย่อมจะเกิดความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมได้โดยง่าย ดังนั้นรัฐบาลจึงได้สร้างกลไกต่างๆ ในการประสานความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมย่อย โดยหนึ่งในกลไกทางสังคมที่ถูกนำมาใช้คือ ภาษา
ว่ากันว่า แต่ละชนชาติมีภาษาของตนเอง เมื่อมาอยู่รวมกันจึงเกิดเป็นการประยุกต์ภาษาที่มีอยู่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เกิดเป็นภาษาใหม่ๆ เช่น อังกฤษสำเนียงสิงคโปร์ รัฐบาลจึงจัดหาภาษาอื่นที่ไม่เป็นของชาชาติใดชนชาติหนึ่ง ในทีนี้คือ ภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาแรก เป็นภาษากลางของชาติ โดยแต่ละชนชาติจะมีภาษาแม่เป็นภาษาที่สอง ซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดจากครอบครัว หรือกลุ่มชุมชนของแต่ละคน
สำหรับนักวัฒนธรรมศึกษาสนใจภาษาในฐานะที่เป็นตัวแสดงตัวตนของกลุ่มคน เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเกย์ หรือคนพื้นเมืองในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมักจะมีภาษาเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นแหล่งศึกษาทางวิชาการมากมาย เนื่องจากภาษาเป็นวัฒนธรรมที่คนในสังคมนั้นๆ ช่วยกันสร้าง ดัดแปลง และประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม
ในการศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่นมักจะพบว่า รูปแบบภาษาของกลุ่มวัยรุ่นสามารถบ่งบอกการใช้ชีวิตของพวกเขาได้ดี อย่างที่รู้จักกันดีว่า ภาษาแสลง ภาษาประเภทนี้ ช่วยประหยัดคำอธิบายที่ยืดยาวให้สามารถพูดถึงสิ่งที่สังเกตเห็น หรือมีประสบการณ์ได้อย่างกระชับ และยังเป็นตัวเสริมและดำรงความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มด้วย การที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงหมายถึง ผู้นั้นจะต้องพูดจาภาษาเดียวกันกับพวกเขาได้ด้วย
ในต่างประเทศ Nelson นักวิชาการสายสังคมศาสตร์แสดงความเห็นต่อความสำคัญของภาษาในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมของวัยรุ่นว่า ภาษาช่วยให้วัยรุ่นมองตัวเองโดดเด่น และแตกต่างไปจากผู้ใหญ่
Nelson เคยศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่น 3 กลุ่มพบว่า แต่ละกลุ่มจะมีภาษาเฉพาะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม เช่น กลุ่มหนุ่มบ้านนอกจะใช้คำศัพท์และการตั้งชื่อเล่นจากเรื่องเกี่ยวกับกีฬา กลุ่มนิยมเครื่องยนต์จะใช้คำจากรถต่างๆ ส่วนกลุ่มยาเสพติดจะใช้คำจากชื่อยาเสพติด และแต่ละกลุ่มจะมีศัพท์แสลงที่ใช้เฉพาะแตกต่างกันไป
นอกจากนี้ นักวิชาการคนเดิมเคยสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นประมาณ 2,000 คนเรื่องศัพท์แสลง พบว่า ความแตกต่างระหว่างเพศชายกับหญิงก็ทำให้ใช้ศัพท์ต่างกัน ผู้ชายใช้ภาษาแสลงเกี่ยวกับรถและเงิน ขณะที่ผู้หญิงจะใช้ภาษาแสลงเกี่ยวกับเสื้อผ้า แฟชั่น การแสดงออก หรือคนดัง เป็นต้น
ดร.อมรวิทย์ นาครทรรพ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมวัยรุ่นในหลายมิติ และเคยรวบรวมคำศัพท์ของเด็กวัยรุ่นที่ใช้ในอินเทอร์เน็ตเมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์อมรวิทย์เคยกล่าวถึงการใช้คำศัพท์ของวัยรุ่นว่า เป็นตัวสะท้อนตัวตนของวัยรุ่นกลุ่มต่างๆ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นในเมือง หรือต่างจังหวัด
คำพูดที่ดูเชยๆ จึงสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นสามารถผลิตคำที่นำออกมาใช้ได้อยู่ตลอดเวลา คำๆ หนึ่งจึงอาจจะมีเวลาอยู่ไม่นาน เพราะคำนั้นไม่ตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น แต่คำนั้นๆ อาจจะถูกคนกลุ่มคนนำไปใช้สนทนา เช่น คนวัยทำงานที่เริ่มเติบโตขึ้นก็ยังนำคำนี้ไปใช้
การทำหน้าที่ของภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาทางการ กึ่งทางการ หรือศัพท์แสลงอย่างที่วัยรุ่นใช้กันนั้น จึงล้วนแต่มีความหมาย อยู่ที่ว่าภาษานั้นรับใช้คนกลุ่มไหน สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่คำว่าเชย หรือทันสมัย ทว่าขึ้นอยู่กับความเข้าใจระหว่างคนพูดและคนฟัง ว่าจะเข้าใจตรงกันเพียงใด
ล้อมกรอบ : คำไหน ''อิน' คำไหน ''เอาท์''
ในเวบ board.triogang.com ได้รวบรวมคำแสลงที่กำลังนิยมในหมู่วัยรุ่นในเวลานี้ ซึ่งใช้พูดคุยกันในโอกาสต่างๆ บางคำก็หยิบยืมมาจากกลุ่มกะเทย ดังนี้
โอ้ว!! จอร์จ มันยอดมาก -- เป็นคำอุทาน หมายถึงแปลก
ไปล้างมุ้งลวด -- ไปไกลๆ ไม่ไหวเลย
ซะงั้น -- อ้าว ไงล่ะ
จิงดิ -- ตอกย้ำความมั่นใจ ว่าจริงเหรอ
มาแว้ว -- มาแล้ว
วื่นวือ -- วุ่นวายมากๆ
ไอ๊สุยยยย -- ผู้ชายที่แต่งตัวไม่ได้เหมาะกับสถานที่ เช่น อากาศร้อนมากแต่ใส่เสื้อกันหนาวแขนยาวตัวใหญ่ๆ
จูบู้ๆ -- เจอผู้หญิงที่แต่งตัวเซ็กซี่สุดยอด
ไปเด่อ -- ออกไปเที่ยวกัน
ยาวไปๆ -- เที่ยวกลางคืนจนดึกดื่นถึงเช้า
ห่าน -- สาวสวยมากๆ
จิ๊บ -- ดีใจหรือเวลาเจอหนุ่มหล่อ
จีว่า -- เวลาเห็นใครแต่งตัวหรือแสดงออกเกินความจำเป็น
เยก -- น่าเกลียด ขี้เหร่มาก
เด้ง -- หน้าขาว
ขี้เม้ง -- พวกที่ชอบวีน ขี้โวยวาย ด่าเก่ง ปากจัด หน้าตาบูดบึ้ง
อิม -- มาจาก impossible หมายถึง พวกเด็กเรียน คือสามารถทำเรื่อง (เรียน) ที่ยากๆ ที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ตู้ -- เด็กเรียน
ทำเนียน -- ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นพวกเดียวกัน ทำตัวกลมกลืน
สึม -- ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นพวกเดียวกัน ทำตัวกลมกลืน
นอย -- มาจากพารานอย คือ วิตกกังวลไง
ชิว -- ทำนองดูเบลอๆ ลอยๆ
เนิบ -- สบายๆ ไม่ยุ่ง
ป๊อก -- หลับ
โปร -- คนที่เราแอบชอบ
โอ -- โอเค
เกิร์ป -- โง่แบบควาย
เซี๊ยะ -- ยุยง
เซี๊ยว -- เพี้ยนมาจากคำว่าเสี่ยว
เอาท์ -- เชย ตกกระแส
วัยรุ่นเซ็ง --- ไม่ได้ดั่งใจตัวเอง
เทรนดี้ -- อินเทรนด์ ทันกระแส ล้ำ มากๆ
ซับแหมน -- เหมือน Hi !
ซับโบร๋ -- หวัดดี
สตรอว์เบอร์รี -- ตอแหล
กั๊ก -- แฟนของกิ๊กอีกทีนึง
เบๆ -- ง่ายๆ ทำได้อย่างสบายๆ
ปาดหน้าเค้ก -- ถูกเหยียดหยาม
ป๊อด -- ปอด หรือว่า ขี้กลัว
เหนี่ยว -- ต่อย ทำร้ายร่างกาย
เด็กแนว -- เด็กที่ชอบทำตัวตามกระแส
ผีผ้าห่ม -- มีเซ็กซ์
กิ๊บ -- เจ๋ง
OPTION แรง -- เครื่องแต่งตัวแพงมากๆ รวมทั้งตัวดูแล้วอลังการ อย่างเช่น เด็ก HIP HOP
สลัมบอมเบย์ -- ต่ำสุดๆ
ไม่ใส่จิว -- ไม่ใส่ใจจริงๆ
อัลตร้าโมด้า -- อันตรายมากๆ
ชิซูกะ -- ตะกละ กินไม่เลือก
แกสบี้ -- แก่มากๆ
สเมล เวลคัม -- กลิ่นเหม็น
ออนป้า -- แสดงความเป็นป้าออกสู่สายตาประชาชน