ไหม ( Silkworm ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombyx mori อยู่ในวง Bombycidae ไหมเป็นแมลงที่มีการเปลี่นแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (completely metamorphosis insect) แบ่งออกเป็น ๔ ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัว หนอน ดักแด้ และ ผีเสื้อ มีเพียงระยะตัวหนอนเท่านั้นที่กินอาหาร ซึ่งจะนำสารชนิดต่างๆ จากใบหม่อนไปสร้างความเจริญเติบโต โดยผ่านการย่อย และ ดูด ซึมเป็นปริมาณ ๑ ใน ๓ ของสารอาหารทั้งหมด ครึ่งหนึ่งของโปรตีนที่ดูด ซึมจากใบหม่อนจะถูกนำไปใช้ผลิตสารไหม
เมื่อถึงวัย ๕ วันแรกต่อมไหม (Silk gland) จะหนักเพียง ๖.๓๖% ของน้ำหนักตัวไหม เมื่อไหมสุกก่อนเข้าทำรัง ต่อมไหมจะหนักถึง ๔๑.๙๗% จะเห็นได้ว่าปลายวัยที่ ๕ สารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนเกือบทั้งหมดถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่จะชักใยทำรัง หรือ เส้นไหมนั่นเอง และเป็นเส้นใยที่มีคุณค่ามหาศาลหาที่เปรียบไม่ได้
วงจรชีวิตของไหม (ที่มา : เอกสารวิชาการหม่อนไหม. กรมส่งเสริมการเกษตร)
หลังจากมีการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ไหมมากว่า ๒,๐๐๐ ปี ทำให้หนอนไหมและผีเสื้อสูญเสียคุณลักษณะเดิมไปหมดแล้ว ทำให้การเลี้ยงและการจัดการสะดวกสบายขึ้น ทุกวันนี้เส้นใยไหม นอกจากจะใช้เป็นแพรภัณฑ์แล้วยังนำประโยชน์ด้านอื่นๆมากมายหลายอย่าง เช่นเดียวกับหนอนไหมและดักแด้อีกด้วย
๑. สิ่งทอ ไหมเป็นสิ่งทอที่ล้ำค่ามากกว่าสิ่งของอื่น ๆ จนได้รับสมญานามว่า "ราชินีแห่งเส้นใย" แม้ไหมจะมีข้อเสียคือ ยืดหยุ่นได้น้อย ยับง่าย ซักยากแต่ข้อเสียเหล่านี้ก็ได้กำจัดหรือทำให้ลดน้อยลงไปโดยการใช้สารเคมีหลายชนิด ในกระบวนการผลิตเพื่อทำให้ผ้าไหมซักง่ายขึ้น ลดการยับและลดการทำให้ผ้าเหลืองลงได้
ยังมีการพัฒนาเส้นไหมดิบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยการตีเกลียวเส้นไหมในทิศทางกลับกันและถี่ขึ้น ใช้เส้นใยที่มีขนาดใหญ่ เส้นใยชนิดนี้จะมีคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ดี กำจัดข้อเสียต่าง ๆ ออกได้ ด้วยความเป็นเส้นใยที่ได้จากสัตว์ไหม จึงได้เปรียบเหนือกว่าฝ้าย
ไหมมีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมในการระบายอากาศดูดซับความร้อน ทำให้ร่างกายสบายมีการดูดซับน้ำและระบายความชื้นได้ดี สามารถดูดซับน้ำได้มากกว่าฝ้าย ๑.๕ เท่า แต่ระบายความชื้นได้เร็วกว่า ๕๐% และดูดซับความร้อนไว้ที่เนื้อผ้าได้สูงกว่า ๑๓ - ๒๑%
ปกติอุณหภูมิของร่างกายบริเวณเต้านม และต้นขา ประมาณ ๓๓.๓๓ – ๓๔.๒ เมื่อสวมใส่ชุดผ้าไหมจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายบริเวณดังกล่าวลดลงเหลือ ๓๑ - ๓๓ ดังนั้น จึงทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกอบอุ่นในฤดูหนาวแต่จะเย็นสบายในฤดูร้อน ไม่เหนียวเหนอะหนะเวลาสวมใส่ผ้าไหม
๒. เครื่องสำอาง "Silk Fibroin" เป็นเลิศแห่งมอยซ์เจอไรเซอร์ที่สามารถให้ความชุ่มชื้นสูงถึง ๓๐๐ เท่า ของน้ำหนักเป็นโปรตีนสกัดจากไหม ที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับผิวหนังด้วยกระบวนการทางชีวเคมีดุจเดียวกับธรรมชาติผิว นั่นเป็นสรรพคุณของไหมที่บริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่งที่ผลิตครีมบำรุงความชื้นผิวจากโปรตีนไหมกล่าวถึง
ไหมนอกจากจะครองความเป็นเลิศในเรื่องของเส้นในแล้วยังเป็นวัสดุ ที่มีคุณค่า เมื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนา เนื่องจากเส้นใยไหม ส่วนใหญ่ (๙๐%) เป็นโปรตีนที่มีความใกล้เคียงกับโปรตีนที่พบในร่างกายมนุษย์ ซึ่งยากยิ่งที่สารสังเคราะห์อื่นใดจะทำได้เสมอเหมือน
โปรตีนจากเส้นไหมประกอบด้วย Fibroin และ Sericin แต่เซริซิน จะถูกความร้อนชะล้างออกไปเมื่อต้มรังในการสาวไหมเพราะเป็นกาวเหนียว มีเพียงไฟโบรอินที่ใช้ทำเป็นเส้นใย ดังนั้น งานวิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากไฟโบรอิน เมื่อ ๖๐ ปีก่อน บริษัทเครื่องสำอาง คาเนโบ้ แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้นำไฟโบรอินมาหลอมให้อยู่ในรูปของสารละลายก่อนที่จะทำเป็นผงและครีม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
อันดับแรกที่ทำจากไหมโดยใช้เป็นเครื่องแต่งหน้าให้กับผู้แสดงละคร Kabuki ที่จำเป็นต้องพอกหน้าด้วยเครื่องสำอางอย่างมาก ทำให้ผู้แสดงรู้สึกสบายผิวมากขึ้น นอกจากนั้นเมื่อต้องแสดงกลางแจ้งก็สามารถป้องกันอันตรายจากแสงอุลตราไวโอเลท (UV light) และที่สำคัญเครื่องสำอางชนิดนี้เข้ากับผิวหน้าได้ดีกว่าชนิดอื่น
ต่อมาบริษัทได้ผลิต Silk polymer ที่ทำจากไฟโบรอิน เพื่อใช้ในวงการเสริมสวยโดยมีสรรพคุณในการป้องกันเส้นผมเสียในขณะตกแต่งหรือเปลี่ยนทรงผมปัจจุบัน ครีมรองพื้น ครีมแต่งหน้า และครีมทำความสะอาด จะมีไฟโบรอินจากไหมเป็นส่วนผสม ญี่ปุ่นประเทศเดียว มีการใช้ไหมทำเครื่องสำอางถึงปีละ ๕ – ๖ ตัน
๓. การแพทย์ เป็นที่ทราบกันดีว่าไหมใช้เป็นเส้นด้ายในการเย็บแผลผ่าตัด นอกจากเหนียว ทนต่อการเข้าทำลายของจุลินทรีย์แล้ว ยังเข้ากับเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้ดี คุณสมบัติของไหมเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์อย่างมากในการที่จะหลอมเส้นไหมแล้วทำให้เป็นแผ่นหรือเป็นหลอด
ก่อนที่จะเป็นผิวหนังเทียม ท่อต่อเส้นเลือดเทียม คอนแท็กเลนซ์ แม้ว่าอุปกรเหล่านี้จะทำได้ด้วยพลาสติก แต่ก็ถูกต่อต้านจากร่างกายสูง ได้มีความพยายามที่จะผลิตสารดูดซับ (Absorbant polymers) และสารช่วยย่อย (Silk peptides) ที่จะใช้ทางการแพทย์และการอาหารจากสารละลายไฟโบรอิน
เมื่อเร็วๆนี้ พบว่ากรดอมิโนที่พบในไฟโบรอินคือ Glycine จะช่วยให้คลอเรสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือต่ำ และ Alanine จะช่วยตับทำงาน เช่น ช่วยให้อาการเมาค้างกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน serine จะกระตุ้นการทำงานของสองในผู้สูงอายุ ไหมได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มาขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับการขนานนามอีกอย่างหนึ่งว่า " เส้นใยสุขภาพ " (Health Fiber)
๔. สบู่และเทียนไข ไขจากดักแด้ไหมสามารถนำมาผลิตสบู่และเทียนไขที่มีคุณภาพสูง ญี่ปุ่นและอิตาลีเป็นประเทศที่ผลิตสบู่และเทียนไขคุณภาพสูงจากไขดักแด้ไหมมากเป็นดันดับ ๑ และ ๒ ไขมันที่สกัดจะนำไปผ่านขบวนการเพิ่มไฮโดรเจน (Hydrogenntion) จะได้ไจสีขาว (Whit oil) คือ Stearic acid (CH3)(CH2)16COOH ซึ่งเป็นวัตถุดิบซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่และเทียนไขคุณภาพสูง
๕. ผงซักฟอก ไฟโบรอินจากไหม ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผงซักฟอกที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งสกปรกได้ดี เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นปฏิกิริยาเคมี
๖. ดอกไม้ประดิษฐ์ รังไหมที่ผ่าเอาดักแด้ออกแล้ว สามารถนำมาประดิษฐ์ดอกไม้ได้หลากชนิด ดอกทิวลิป ดอกบัว ดอกเฟื่องฟ้า ดอกทานตะวัน ดอกเยอเบรา ดอกกุหลาบ หรือประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู หรืออื่นๆ ใช้ประดับในรถ ในอาคาร ในบ้าน นอกจากจะสวยงามแล้วยังสะดุดตาผู้พบเห็นทั่วไปอีกด้วย
การประดิษฐ์ตุ๊กตาครอบครัวรังไหม
๗. อาหารมนุษย์ มนุษย์รู้จักบริโภคดักแด้จากหนอนไหมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏ แต่ชาวไทยที่เคยเลี้ยงไหม หรือ สาวไหม ล้วนแล้วแต่รูจักการบริโภคดักแด้ที่อยู่ในรังไหมเป็นอย่างดี เมื่อต้มรังไหมและสาวไหมจนหมดเส้นใย ก็มักจะลอกเปลือกรังชั้นในนำดักแด้ที่สุกแล้วมาบริโภค หรือนำไปคั่วก็อร่อยไปอีกแบบ
หรือจะนำไปปรุงอาหารชนิดอื่นๆก็ได้ เช่น ทอดกับไข่ ผัดใบกระเพรา ตลาดในภาคอีสานจะมีดักแด้ขายตามฤดูการเลี้ยง ราคากิโลกรัมละหลายบาท ในกรุงเทพฯ หาได้ทั่วไปครับ ที่แน่ๆ ตลาดนัดจตุจักร และตลาดปลาซันเดย์ ชาวญี่ปุ่นก็บริโภคดักแด้ไหมที่ปรุงแล้วเช่นเดียวกับชาวจีน เกาหลี อินเดีย และ พม่า แถมยังมีจำหน่ายในซูเปอร์มาเก็ตบางแห่งอีกด้วย ดักแด้ไหมมีโปรตีนและเกลือแร่หลายชนิด มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าปลาและสัตว์ต่าง ๆ ยังอุดมไปด้วยวิตามินบี๑ และ บี๒ ดักแด้แห้งจะมีโปรตีนสูงถึง ๔๘.๙๘%
ขอบคุณที่มาข้อมูล