บทเรียนจากเด็กชาย “เคอิโง๊ะ” ลงท้าย “ชิคุนกุนยา”
ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความยินดีกับเด็กชาย เคอิโง๊ะ ที่หน่วยงานหลายแห่งได้ช่วยกันหาบิดาที่อยู่ประเทศยี่ปุ่นจนทราบที่อยู่แล้ว และได้รับการประสานงานจาก สถานทูตยี่ปุ่น ที่ให้ไปพูดโทรศัพท์กับบิดาเป็นการส่วนตัว ส่วนเด็กชาย เคอิโง๊ะ จะได้พบกับบิดาในภายหน้าหรือไม่นั้น เป็นเรื่องส่วนตัวของครอบครัว
เรื่องนี้ ต้องชมฝ่ายยี่ปุ่น ในการจัดการเรื่องนี้อย่างหนักแน่น สุขุม เรียบง่าย รอบคอบ มีเหตุมีผล การให้ไปพูดโทรศัพท์ที่สถานทูตนั้นก็จัดเฉพาะเด็ กชายและล่ามเท่านั้น นักข่าวจำนวนมากไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปติดตามข่าว ทั้งนี้ถือเป็นการแสดงออกถึงการเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคล และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด
ส่วนฝ่ายของเรานั้น คงจะต้องหันมาดูว่า สื่อทุกแขนงได้เล่นข่าวนี้อย่างเอิกเกริก เป็นเรื่องสนุก สนานชิงพื้นที่ข่าวไปได้มากทีเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลต่อเนื่องที่จะต้องกระทบต่ออนาคตของเด็กชายแต่อย่างไร
ความจริงเรื่องทำนองนี้เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทุกยุค ทุกที่ และสมควรจะได้รับการเหลียวแล ช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งรัฐ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องเข้ามาดูข้อเท็จจริง ศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะหาลู่ทางที่ถูกต้องทั้งทางกฏหมาย สังคม สิทธิบุคคลและจิตวิทยาเป็นรายๆไป ซึ่งนี้ไม่น่าจะมาเล่นเป็นข่าวเลย เพราะเสียหายกับครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกันอยู่ เรื่องนี้ ทำงานแบบปิดทองหลังพระจะดีกว่า แต่ถ้าจะประชาสัมพันธ์จริงๆ ก็ให้เป็นแบบวิชาการไปเลย เช่น สำรวจจำนวนเด็ก(หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) ที่มีปัญหาทำนองนี้ แล้วดำเนินการช่วยเหลือ พร้อมสรุปผลงาน และทำบันทึกข้อมูลไว้ ให้เป็นประโยชน์แก่งานสังคมสงเคราะห์ต่อไป
เราอาจจะตกใจกับจำนวนที่สำรวจมาก็ได้ ว่าทำไมมีการไข่ทิ้ง หรือ ทิ้งไข่ มากมายอย่างนี้
ขอจบด้วยคำขอร้องว่า อย่าเล่นข่าวจนเพลินไปเลย แม้จะด้วยเจตนาที่เมตตา แต่ใดใดที่มากเกินมักจะไม่ค่อยดี
ถ้าเอาเนื้อที่ข่าวไปใช้ประชาสัมพันธ์เรื่อง “ชิคุนกุนยา” (ภาษาอาฟริกา แปลว่าไข้หวัดปวดข้อ) หรือไข้เลือดออก ข้ออักเสบ ซึ่งกำลังระบาดอยู่ทางภาคไต้ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ให้ชาวบ้านทั่วไปมีความรู้ในทางป้องกัน จะมีประโยชน์กว่าเป็นไหนๆ
เชื่อเถอะ
|