Advertisement
แหละ(มั้ง?) ผีไทย
ผีปอบหยิบ วิ่งไล่ชาวบ้านที่มุดหนีลงตุ่ม ผีแม่นาคพระโขนงยืดแขนยาวเก็บมะนาวใต้ถุนบ้าน ผีกระสือมีแต่หัวกับไส้ ผีกับพระ ผีขี้โมโห ผีหน้าโง่ ผีเอาแต่ใจ ผีขี้เหงา ผีขี้หึง ผีซาดิสม์ ผีไร้เหตุผล ผีที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผี และอีกนานาสารพัดผี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวงการหนังไทย...หนีผีไม่พ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นผีแบบบ้านๆ เกิดมาเพื่อหลอกหลอนด้วยอารมณ์บ๊องๆ หรือผีขี้เก๊กเต๊ะจุ๊ย ทำตัวเป็นผีมีอดีตเก็บงำอำพราง แม้ดูภาพลักษณ์จะแตกต่างกันสักแค่ไหน ถึงอย่างไร หนังผีแบบไทยๆ ก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่หาไม่ได้จากหนังผีสัญชาติอื่น
-เปิดกรุผี-
นับแต่ยุคบ้านผีปอบวิ่งไล่กันไม่สิ้นสุด ต่อเนื่องเป็นมหากาพย์มากถึง 12 ภาค กระทั่งผีไทยเริ่มแตกแขนง ก่อกำเนิดสายพันธุ์แบบผีอาร์ตตัวพ่อ ผีอาร์ตตัวแม่ ผีมีมิติทางอารมณ์ ผีแบบลุ่มลึกที่ไม่ใช่สักแต่วิ่งไล่ล่าเอาฮา ด้วยเหตุนี้ ผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวจำนวนไม่น้อยคน จึงให้นิยามหนังผีไทยในยุคปัจจุบันว่า คล้ายจะแบ่งฟากฝ่ายให้เห็นกันง่ายๆ เป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ อย่าง 'ผีขอหลอกเถอะนะ' ที่เน้นเนื้อหาเข้าถึงคนหมู่มาก เน้นความฮานำหน้า สะท้อนความเป็นวิถีชีวิตของคนชนบทที่ผูกพันกันทั้งคนกับผี พระ เณร ผ่านภาพการวิ่งล่ากันปั่นป่วนสนุกสนาน ครบรส ทั้งขำทั้งกลัวแบบผีไทยดั้งเดิมเหมือนเมื่อยุค ปอบหยิบ ยังโด่งดัง
อีกสายพันธุ์ คือ ผีอาร์ตตัวพ่อ-ตัวแม่, ผีลุ่มลึก หรือมักเรียกตีขลุมว่า ผีแบบ GTH ซึ่งชื่อก็บอกตรงตัวนั่นแหละ ว่าเป็นผีสไตล์ค่ายหนังจีทีเอช ที่มีความโดดเด่นตรงพล็อตหักมุม มีการพลิกแพลง สร้างอารมณ์และบรรยากาศความหลอนของผีที่มากกว่าแลบลิ้นปลิ้นตา แหวกอก หรือโผล่หน้าขาวซีดมาให้เห็น ซึ่งครองใจนักดูหนังและกวาดรางวัลไม่น้อย รับคำชมจากนักวิจารณ์ไปแบบอิ่มใจ ทั้งคนทำหนังก็กลายเป็นความหวัง เป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองในความเห็นของใครหลายๆ คน
แต่ขึ้นชื่อว่า สังคมไทย ความหลากหลายมันก็มีอยู่ทุกแห่งหน หนังผีไทยก็ไม่ต่างกัน ใครจะชอบวิ่งป่าราบไปกับผีที่ชวนให้ขำมากกว่าสยอง หรือยินดีจะเฝ้ามองผีผู้ลุ่มลึกเก็บงำอดีตอันเจ็บปวดรวดร้าวก็ตามที ถึงที่สุด ก็ “ผีเห็นผี” เอ้ย “ผี” เหมือนกันนั่นแหละ ตัวอย่างความลื่นไหลและหลอมรวมระหว่าง “ผีลุ่มลึก” กับ “ผีขอหลอก” ที่เห็นได้ชัดคงไม่พ้นการกำเนิดขึ้นของผีสาวจอมโหดอย่าง "บุปผาราตรี" ในช่วงที่ผีลุ่มลึกกำลังได้รับความสนใจ อันเป็นกระแสต่อเนื่องหลังจาก นนทรีย์ นิมิบุตร สร้าง "นางนาก" ให้เป็นที่กล่าวขวัญ ก่อนส่งต่อปรากฏการณ์ลูกคลื่นของผีอารมณ์ละเมียด ด้วยการมาถึงของหนังค่ายจีทีเอช ที่ปลุกกระแสผีหลอนแบบมีพล็อตหักมุมให้ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้าง ก่อน ผีบุปผาฯ จะทวงความนิยมผีสายพันธ์ดุกลับคืน ด้วยความโหด โฉ่งฉ่าง มากมุก แต่ไม่ทิ้งลายการวางพล็อตพลิกแพลง
ราวกับว่าการมาถึงของ บุปผาราตรี ผีสาวจอมอาฆาต สามารถละลายเส้นแบ่งบางอย่างของ “ผีขอหลอก” กับ “ผีเก็บงำ” ให้หลอมรวมกันได้อย่างน่าดึงดูดใจ
เหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างเพียงเล็กน้อย แท้แล้ว ‘ผีไทย’ ในม้วนฟิล์ม ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากนัก ว่าแต่ ในความแตกต่างหลากหลาย อะไรแน่ คือ ‘เอกลักษณ์’ ‘จุดร่วม’ และ ‘เสน่ห์’ ของผีไทย ที่ผีชาติไหนๆ ก็เลียนแบบไม่ได้ ปริทรรศน์ พาค้นหาคำตอบ จากบางทัศนะของคนชอบดูหนัง
-นี่แหละ ผีไทย-
“จุดร่วม หรือ เอกลักษณ์ของผีไทย ที่เห็นมาทุกยุคสมัย ในมุมของผมคือ “การกระตุ้นอารมณ์ด้วยสิ่งเร้า” ผมใช้คำนี้เลยนะ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย หนังผีไทยก็จะใช้วิธีนี้เสมอ เราจะไม่ปล่อยให้ผีนิ่ง ซึม แล้วหายไปในเนื้อเรื่อง แบบนั้นจะพบเห็นในหนังผีประเทศอื่นๆ เสียมากกว่า เราจะไม่ค่อยพบเห็นผีแบบนั้นในหนังไทย”
เกรียงศักดิ์ เตชะเกรียงไกร หนึ่งในบรรณาธิการบริหารนิตยสารสตาร์พิคส์ สะท้อนความเห็นกับเรา ก่อนย้ำชัด ถึงเอกลักษณ์สำคัญของหนังผีแบบไทยๆ ว่า
“อะไรก็ตามที่เป็น ‘ความโฉ่งฉ่าง’ และ ‘ตลก’ ในหนังผี ผมว่านี่แหละ มันคือ ‘บุคลิกพื้นฐาน’ ของคนไทย ที่เรามักชอบอะไรแบบนี้ เราชอบดูมหรสพ เพราะพื้นฐานการชมภาพยนตร์ของไทยก็เติบโตมาจากการชมมหรสพ เช่น ลิเก ลำตัด ที่ต้องมีดนตรีเร้าอารมณ์ ต้องมีเสียงโฉ่งฉ่าง ต้องมีมุกตลก มีตลกหน้าม่าน จากนั้นก็ค่อยๆ เขยิบขึ้นมา พัฒนาการเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเมื่อเป็นหนังแล้ว เราก็ยังจำลองบุคลิกเหล่านั้นมาไว้ในหนังด้วย”
เกรียงศักดิ์ ขยายความเพิ่มเติม ว่า ถึงอย่างไร ผีก็ต้องมากับเสียง เมื่อก่อนอาจเป็นเสียงหมาหอน ยุคหลังจากนั้นก็อาจเป็นเสียงแมวร้องตอนกระโดดตัดหน้า ยุคถัดจากนั้นมาอีก ก็เป็นบรรยากาศแบบเงียบๆ แล้วค่อยมีเสียงบึ้ม!! ดังขึ้นมาให้ตกใจ
“นั่นเป็นบุคลิกประจำตัวของผีไทย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ เมื่อมีเสียงมาทำให้คนดูตกใจกลัวแล้ว ความเครียดของคนดูก็เกิดขึ้น มุกตลกในหนังจึงถูกแทรกเข้ามาในจังหวะนี้ เพื่อคลายความเครียด ผมว่าเหล่านี้แหละ มันสะท้อนให้เห็นภาพบุคลิกของสังคมไทย มันเหมือนกับว่าเมื่อหลอกให้เขาตกใจแล้ว เราก็กลัวว่าเขาจะตกใจกันเกินไป ก็ต้องปลอบให้สบายใจขึ้นมา ด้วยอะไรขำๆ หน่อยหนึ่ง เหมือนจะบอกว่า ‘เมื่อกี้ไม่มีอะไรนะ ล้อกันเล่น’ ผมว่านี่แหละ บุคลิกแท้ๆ ของคนไทย
“เวลาเราดูหนังผีไทย เราจึงมักดูไปขำไป ซึ่งเราจะไม่เห็นบุคลิกแบบนี้ในหนังผีประเทศอื่น แม้หนังฮ่องกงที่มีผีแล้วตลก เขาก็จะบอกชัดเจนว่านี่เป็นหนังตลก แต่ถ้าเป็นหนังผี ก็จะเน้นน่ากลัวไปเลย ขณะที่หนังผีไทย จะผสมรวมอารมณ์ขันและความน่ากลัวได้อย่างลงตัวมากกว่า เป็นความรู้สึกแบบกลัวไป-ขำไป แม้จะน่ากลัวแต่ก็อยากดู ดูไปอีกสักพักก็ขำ ซึ่งหนังผีประเทศอื่นเขาไม่มี”
-ผีจุดเปลี่ยน-
“หนังไทยสมัยก่อน มักจะครบรส คือ มีทั้งความน่ากลัว ตลก มีแอ็คชั่นด้วยนิดๆ หน่อยๆ เรียกได้ว่ามีความหลอมรวมกัน ต่างจากหนังสมัยนี้ ที่มักจะเน้นไปอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หากเป็นแนวสยองขวัญก็เน้นอารมณ์สยองขวัญไปเลย ต่างจากสมัยก่อนที่หนังจะมีอารมณ์หลากหลาย เพราะฉนั้นจึงดูได้ทุกเพศทุกวัย แม้จะเป็นหนังผี แต่เด็กก็ดูได้ ผู้ใหญ่ก็ดูได้ ”
สมเกียรติ ชินตระกูลวัฒนะ คอลัมนิสต์นิตยสารสตาร์พิคส์ -นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ถ่ายทอดมุมมองกับเรา ก่อนขยายความเพิ่มเติมถึงพัฒนาการของหนังผีไทย นับแต่เมื่อครั้งหนังผีตลกยังครองความนิยม ว่า มองอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นเพราะคนไทยในช่วงเวลานั้น เมื่อดูหนังก็ดูเพื่อความบันเทิง ไม่ได้ดูเพื่อต้องการความลึกซึ้งมากนัก ต่างจากสมัยนี้ที่มีทั้งกลุ่มคนที่ดูเพื่อความบันเทิงโดยเฉพาะไม่ต้องการความลึกซึ้ง
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนดูหนังอีกกลุ่ม ที่ต้องการเห็นความลึกซึ้งของเนื้อหามากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเรียกร้องคุณภาพของหนังมากขึ้น ทำให้ผู้สร้างหนังต้องพยายามเน้นคุณภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจละทิ้งการที่จะทำให้เนื้อหาของหนังเข้าถึงคนหมู่มากได้ อาจเพราะเช่นนี้ หนังผีที่เน้นหรือแทรกความตลก จึงตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่วงการหนังผีไทยมาทุกยุค ไม่ว่าจะได้รับความนิยมมากหรือน้อยก็ตาม แม้ในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ผีที่เน้นความมีมิติของเนื้อหาจะเป็นที่สนใจมากขึ้น
“ผมมองว่ามันเป็นการพัฒนาไปตามยุคสมัย อย่างเช่นยุคนี้ เมื่อมีกลุ่มคนดูที่เรียกร้องคุณภาพของหนังไทยมาก ก็คล้ายจะเป็นการสื่อไปยังกลุ่มผู้สร้างหนัง ให้เขาคิดทำอะไรที่แปลกใหม่ มีมิติมากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่วิ่งไล่กันลงตุ่ม เป็นอย่างนั้น ก็อาจถูกมองว่าหนังมันไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าไหร่”
เมื่อเอ่ยถามถึงสไตล์เฉพาะของหนังผีสไตล์ลุ่มลึก กับผีที่ตั้งใจหลอกผสมอารมณ์ขัน อย่างที่มักคุ้นกันว่าเป็นผีไสตล์ "จีทีเอช" กับ ผีแบบ "พระนครฟิล์ม" นั้น สมเกียรติ สะท้อนความเห็นว่า เป็นธรรมดาที่แต่ละบริษัทหรือค่ายหนังจะจับกลุ่มเป้าหมายกันคนละกลุ่ม
“ถ้าเป็นค่ายจีทีเอช เขาก็จับกลุ่มเป้าหมายระดับกลางขึ้นไป เป็นนักศึกษา เป็นปัญญาชน เป็นพนักงานบริษัท ขณะที่ค่ายพระนครฟิล์ม ก็จะเน้นกลุ่มชาวบ้าน ดูสนุก เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก เพราะฉนั้นหนังผีตลกจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่ายกว่า กลุ่มคนที่ชอบดูหนังผีของจีทีเอช เมื่อมาดูหนังของผีของพระนครฟิล์มก็อาจจะรู้สึกว่า หนังอะไร ไร้เหตุผลสิ้นดี มีแต่หัวเราะทั้งเรื่อง”
แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น คล้ายจะแบ่งสายพันธุ์ ทว่า การมาถึงของ “บุปผาราตรี” ก็มอบกรณีศึกษาที่ไม่อาจมองข้าม ดังทัศนะจาก สมเกียรติ
“สำหรับบุปผาราตรี นั้น ผมยอมรับอย่างหนึ่งว่า คุณยุทธเลิศเขาเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง และมั่นใจในสิ่งที่ทำมาก แม้สิ่งที่เขาทำอาจจะสวนกระแส แต่เท่าที่ผมดูบุปผาราตรีทั้งสองภาค โดยพล็อตเรื่องแล้ว ไม่ได้แตกต่างจาก หนังผีไทยยุคเก่าๆ ที่ตายไปแล้ว แล้วก็ยังผูกพันกับความรัก เพียงแต่ฉากของเรื่องเป็นอพาร์ตเมนท์ มีความเป็นชีวิตในยุคสมัยปัจจุบัน นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการหลอมรวมกัน ระหว่างยุคเก่า- ใหม่
“จริงๆ แล้ว ในความรู้สึกผม ภาคแรกมันจบอยู่ในตัวเองแล้ว แต่คุณยุทธเลิศก็ทำภาคสองออกมา เมื่อทำภาคสองแล้ว ก็จึงต้องทำภาคสาม เพราะภาคสองมันยังไม่ใช่ตอนจบ แต่ผมคิดว่า โดยความสามารถของเขา เขาก็สามารถทำให้บุปผาราตรี เป็นหนังผีที่ครบรส คือ ทั้งสนุก ทั้งน่ากลัว ซึ่งผมว่า เขาดึงความสนใจจากคนดูหนังผีได้ทั้งจากกลุ่มที่ชื่นชอบผีแบบจีทีเอช หรือผีแบบพระนคร
ใช่เพียง สมเกียรติ ที่หยิบยก บุปผาราตรี เป็นกรณีศึกษา เกรียงศักดิ์ ก็เช่นเดียวกัน หากยังขยายความถึงหนังผีไทยเรื่องอื่นๆ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการ ด้วยเอกลักษณ์และความน่าสนใจเฉพาะตัว
“เมื่อก่อน หนังผีไทยมักเน้นความโฉ่งฉ่าง แต่เมื่อคนทำหนังมีการศึกษามากขึ้น มีความรู้ทางภาพยนตร์มากขึ้น เขาก็ก็รู้สึกว่า การทำให้กลัว สามารถทำอย่างมีศิลปะได้ ด้วยการเน้นอารมณ์ เน้นบรรยากาศให้เราคล้อยตาม แล้วค่อยมาพลิกเรื่องราว แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผีอย่าง บุปผาราตรี ซึ่งเป็นผีเน้นความโฉ่งฉ่างตามแบบฉบับของหนังผีไทยดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นสมัยใหม่ ด้วยการพลิกตอนจบไปจากที่เราคาดไว้ เป็นความโฉ่งฉ่างในความสมัยใหม่
“ขณะที่ 'นางนาก' ของคุณนนทรีย์ มีความโดดเด่นคือ ช่วยยกระดับความรู้สึกที่คนมีต่อหนังผีไทย ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นหนังเกรดบี เป็นหนังตลาดล่าง แต่โปรดักชั่นของนางนาก ทำให้เห็นว่าเป็นหนังผีที่น่าตื่นตะลึง”
ถัดจากนางนาก หนังผีที่สร้างปรากฏการณ์วงกว้าง และสร้างความตื่นตะลึงได้ไม่น้อย ในทัศนะของเกรียงศักดิ์ คือ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ
“จากนั้นก็มี เด็กหอ ที่ทำให้เห็นความสนิทสนมใกล้ชิดกันระหว่างคนกับผี ทำให้เรารู้สึกว่า ผีก็ไม่ได้น่ากลัว เขามีมิติ มีความลึกซึ้งทางอารมณ์ของเขา อีกเรื่องคือ เปนชู้กับผี ในความเห็นของผม หนังเหล่านี้คือหนังผีที่สร้างปรากฏการณ์ของตนเองขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ”
-ผีที่เราอยากเจอ-
“หนังผีไทยถูกสร้างกันมาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ของคนทำหนังไทยในตอนนี้ก็คือ “ประเด็น” ที่เมื่อเคาะออกมาแล้ว โดนใจคนได้มาก”
สมเกียรติ เสนอความเห็นว่า หากหนังผีไทยอยากก้าวไปไกลกว่านี้ คนทำหนังจำเป็นต้องมองถึงการนำเสนอเนื้อหาที่น่าจะแตกต่างออกไปจากรูปแบบเดิมๆ พร้อมยกกรณีตัวอย่าง
“หนังเรื่องล่าสุดของจีทีเอช อย่าง “โปรแกรม หน้าวิญญาณอาฆาต” ผมมองว่าเป็นหนังที่มีไอเดียดีมาก แต่น่าเสียดายตรงที่วิธีการของมัน ลูกเล่นของมัน ซ้ำกับหนังที่เคยทำออกมาแล้ว เมื่อซ้ำกัน ความสดใหม่ของประเด็นมันก็ไม่เด็ดขาด เมื่อประเด็นไม่มีความเด็ดขาดแล้ว หากถามว่า ทำอย่างไร หนังผีไทยจึงจะก้าวไปสู่เวทีหนังนานาชาติได้ ผมก็ตอบไม่ได้จริงๆ” กระนั้น สมเกียรติก็มองอีกมุมว่า คนทำหนัง-ค่ายหนังเอง ก็น่าเห็นใจไม่น้อย เพราะรสนิยมคนดูนั้น เป็นเรื่องยากเกินคาดเดา เช่นบางประเด็นกำลังฮิต อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม แต่เมื่อทำออกมาแล้ว...แป้ก!
ส่วน เกรียงศักดิ์ เห็นว่า จริงๆ แล้ว คนดูอาจไม่ได้เรียกร้องต้องการพล็อตที่มีความลึกซึ้งมากนัก แต่คนทำหนังเป็นฝ่ายพยายามเสนอพล็อตที่ลุ่มลึกเอง เมื่อเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าตนเองมีความรู้ทางด้านการทำภาพยนตร์มากขึ้น
“มันก็ขึ้นอยู่กับคนทำหนังที่เขาอาจจะอยากถีบตัวเองจากสิ่งที่เคยเห็นในอดีต เมื่อถึงจุดหนึ่งเขาก็อยากทำหนังให้มันมีมิติ มีความลึกของเนื้อหามากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขา มีความรู้ มีพื้นฐานอะไรบางอย่างเพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของคนดู เขาอาจจะรู้สึกอินกับอะไรที่เข้าใจง่ายๆ โดนใจ ในความเห็นส่วนตัวของผมนะ สำหรับคนดูส่วนใหญ่ การมีพล็อตเรื่องที่ลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่า หนังน่าติดตามมากขึ้น แต่สำหรับคนที่ดูหนังมานาน ดูมาเยอะ เขาก็อาจจะต้องการติดตามดูว่าหนังมันมีพัฒนาการอะไรเพิ่มมากขึ้น
แล้วคาดหวังอยากเห็นหนังผีไทยมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป? เกรียงศักดิ์ ตอบคำถามเราด้วยการตั้งคำถามกลับ
“จะคาดหวังอะไรดีล่ะ? เอาเป็นว่าในฐานะคนดูคนหนึ่ง เราไม่ได้คาดหวังว่าคุณจะต้องมีความลุ่มลึกอะไรมาก แต่ก็ไม่อยากให้พล็อตมันมีระนาบเดียวจนขาดมิติ ไม่ใช่แค่เดินมาหลอกกันแล้วก็จากไป แต่อยากให้ทิ้งค้างอะไรให้เราได้คิดสักนิดหนึ่งบ้าง บางครั้งคนทำหนังอาจคิดแค่ว่า มาหลอกกัน แล้วก็จบ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็อดคิดไม่ได้ว่า เอ๊ะ! งั้นทำหนังแบบไหนก็ได้ ขอแค่เป็นผีก็พอแล้วงั้นหรือ?”
หนังผีเป็นหนังที่สามารถสะท้อนจินตนาการได้มาก ขณะเดียวกัน หากคนทำหนังแฝงมิติที่น่าสนใจเอาไว้ด้วย ก็ยิ่งทำให้หนังผีเรื่องนั้นๆ มีเสน่ห์และมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ...เกรียงศักดิ์ เสนอแนะ
-หัวใจผีไทย-
“ความกลัวในหนังผี เป็นความกลัวแบบแฟนตาซีที่เราแสวงหาในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไม่อาจพบเจอได้ แต่คนเราก็มีความต้องการรับรู้ ซึมซับบรรยากาศความกลัวเพื่อเติมเต็มอะไรบางอย่าง”
มนตรี บุญสัตย์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ศึกษาด้านการตีความจากสัญต่างๆ ที่แฝงอยู่ในเนื้อหาของหนัง ทั้งมีหมวกอีกใบเป็นโปรดิวเซอร์มิวสิควิดิโอ วิเคราะห์กับเราถึงเหตุผลที่หนังผียังคงอยู่ยั้งยืนยง คู่สังคมไทยมาช้านาน โดยย้อนไกลไปนับแต่หนังผีไทยในยุคเริ่มแรก
“ลองมองดูหนังไทยในยุคแรก มันสะท้อนให้เห็นภาพของประเทศไทยที่ยังไม่เปิดประเทศมากนัก เช่น หนังผีอย่างแม่นาคพระโขนง ที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยผูกพันกับเรื่องเล่า ที่เล่าต่อๆ กันมาตั้งแต่คนรุ่นปู่ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นพ่อ คนรุ่นพ่อเล่าสู่คนรุ่นลูก คนรุ่นลูกเล่าสู่คนรุ่นหลาน เหล่านี้มันสะท้อนว่าสังคมไทยยังมีความเป็นชุมชน เป็นสังคมที่เข้มแข็ง มีการส่งต่อเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ดังเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีต่างๆ”
มนตรี ขยายความต่อเนื่องว่า กระบวนการถ่ายทอดเรื่องเล่า ผ่านบุคคล แสดงให้เห็นว่าสังคมเรายังเป็นสังคมปิดที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ มีเพียงเรื่องเล่าเป็นความบันเทิงอย่างเดียว นอกจากนี้เรื่องเล่าพื้นถิ่น ยังถือได้ว่า เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวสังคมเอาไว้
“นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่ ‘เรื่องเล่า’ ตอกย้ำอยู่เสมอก็คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สะท้อนเรื่องของความดี-ความเลว
เหล่านี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังผีในยุคเริ่มต้น”
...
แล้ววันนี้ มนต์เสน่ห์หนังผีไทยในสายตาคุณ เป็นแบบไหน?
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
วันที่ 23 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,153 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,200 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,167 ครั้ง |
เปิดอ่าน 42,227 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,284 ครั้ง |
เปิดอ่าน 19,377 ครั้ง |
เปิดอ่าน 109,749 ครั้ง |
|
|