กิมจิ (김치)
"มีข้อสันนิษฐานกันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "ชิมเช" (침채, , ฮันจา: 沈菜, , MC: chimchae, , MR: ch'imch'ae) ที่แปลว่าผักดองเค็ม กิมจิเป็นอาหารเกาหลีประเภทผักดองที่อาศัยภูมิปัญญาก้นครัวของชาวเกาหลี ด้วยการหมักพริกสีแดงและผักต่างๆ โดยทั่วไปจะเป็นผักกาดขาว ชาวเกาหลีนิยมรับประทานกิมจิเกือบทุกมื้อ และยังนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบอาหารอีกหลายอย่าง เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย ซุป ข้าวผัด สตู บะหมี่ จนถึงพิซซาและเบอร์เกอร์ ปัจจุบันกิมจิมีมากกว่า 187 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีรสเผ็ด เปรี้ยว และมีกลิ่นฉุน แม้ปัจจุบันมีบริษัทอาหารผลิตกิมจิสำเร็จรูปหรือแบบสดขายตามห้างสรรพสินค้าก็ตาม แต่ชาวเกาหลีก็ยังนิยมทำกิมจิกินเองที่บ้าน"
ประัวัติความเป็นมา
จุดเริ่มต้นของกิมจิ
เป็นที่เชื่อกันว่าการทำกิมจิเป็นการดองผักที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 7 ในยุคนั้นช่วงฤดูหนาวในประเทศเกาหลี จะมีอากาศหนาวจัดไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ชาวเกาหลีจึงคิดวิธีการถนอมอาหารขึ้น เพื่อมาทดแทนผักสดที่หาได้ยาก หนึ่งในนั้นคือการทำผักดองเค็มด้วยเกลือหมักในไหแล้วนำไปฝังดิน จึงเป็นจุดกำเนิดของกิมจิในยุคสมัยต่อมา
กิมจิในสมัยอาณาจักรโคเรียว
มีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับกิมจิจากตำรายารักษาโรคทางภาคตะวันออกของประเทศที่เรียกว่า "ฮันยักกูกึบบัง" (Hanyakgugeupbang) ในตำรากล่าวถึงกิมจิอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือหัวผักกาดฝานเป็นแผ่นดองด้วยซอสถั่วเหลืองเรียกว่า "กิมจิ-จางอาจิ" (Kimchi-jangajji) ชนิดที่สองใช้หัวไชโป๊เรียกว่า "ซุมมู โซกึมชอลรี" (Summu Sogeumjeori) เป็นที่เชื่อกันว่าได้มีการปรับปรุงรสชาติของกิมจิให้จัดจ้านขึ้น อีกทั้งเริ่มได้รับความนิยมว่าเป็นอาหารแปรรูปจึงเริ่มมีการทำกิมจิตลอดทั้งปีโดยไม่กำจัดเฉพาะช่วงฤดูหนาวเหมือนก่อน ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรโคเรียวนี้
กิมจิในสมัยโชซอน
เล่ากันว่ากิมจิที่มีในสมัยโชซอน ชาวบ้านจะใช้ผักใบเขียวมาดองกับเกลือหรือเกลือกับเหล้าเท่านั้นซึ่งเรียกว่ารสดั้งเดิม ในเวลาต่อมาช่วงต้นศตวรรษที่ 17 (หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในปี พ.ศ. 2135) จึงเริ่มมีการนำเข้าผักจากต่างประเทศ ส่วนพริกแดงจากญี่ปุ่นนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส พริกจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งในกิมจิหลังจากผ่านไปแล้ว 200 ปี ดั้งนั้นราวปลายสมัยราชวงศ์โชซอนสีของกิมจิจึงกลายเป็นสีแดง
ภายในราชสำนักโชซอนมีการทำกิมจิเพื่อใช้ถวายต่อกษัตริย์ในราชวงศ์โชซอนมีอยู่ด้วยกันสามชนิดได้แก่ "ชอทกุกจิ" (Jeotgukji) เป็นกิมจิที่ทำจากกะหล่ำปลีผสมกับปลาหมัก (ปลาหมักจะใช้เฉพาะคนชั้นสูงในสมัยนั้น) "คักดูกิ" (kkakdugi) เป็นกิมจิทำจากหัวผักกาด ส่วนชนิดสุดท้ายคือ "โชซอน มูซางซานชิก โยรีเจบ็อบ" (Joseon massangsansik yorijebeop) เป็นกิมจิน้ำตำราอาหารของราชสำนักโชซอน โดยมีเรื่องเล่ากันว่ามีการทำกิมจิน้ำโดยมีลูกแพร์เป็นส่วนผสมใช้ทำก๋วยเตี๋ยวเย็นโดยเฉพาะ เพื่อทำถวายกษัตริย์โกชอง (Gojong) กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของโชซอน เพราะพระองค์ทรงโปรดก๋วยเตี๋ยวเย็นผสมในกิมจิน้ำพร้อมด้วยน้ำซุปเนื้อ
กิมจิในยุคปัจจุบัน
กิมจิเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชาวเกาหลีดังนั้นเวลามีการเดินทางในต่างแดนก็ไม่ลืมที่จะพกกิมจิติดตัวไปด้วย กิมจิจึงได้เริ่มแพร่หลายในวงกว้างโดยช่วงแรกเริ่มเข้าไปในประเทศใกล้เคียงก่อนคือประเทศจีน รัสเซีย เกาะฮาวาย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น ถือได้ว่าเป็นชาติแรกที่นำกิมจิเป็นเครื่องเคียงในอาหารของชาติตนเองโดยเรียกกิมจิของตนเองว่า คิมุชิ (Kimuchi) เพื่อให้เข้ากับการออกเสียงในภาษาญี่ปุ่น และกิมจิชนิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงรสชาติให้เข้ากับอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ต่อมากิมจิจึงเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ชาวต่างชาติในหลายประเทศ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทย
กิมจิชนิดต่างๆ
วัตถุดิบในการทำกิมจิโดยทั่วไปแล้วจะเป็น
-
ผักกาดขาว (Chinese cabbage, 배추, baechu)
-
หัวผักกาด (radish, 무, mu)
-
กระเทียม (garlic, 마늘, maneul)
-
พริกแดง (red pepper, 빨간고추, ppalgangochu)
-
หัวหอมใหญ่ (spring onion, 파, pa)
-
ปลาหมึก (squid, 오징어, ojingeo)
-
กุ้ง (shrimp)
-
หอยนางรม (oyster, 굴, gul) หรืออาหารทะเลอื่นๆ
-
ขิง (ginger, 생강, saenggang) เกลือ (salt, 소금, sogeum)
-
น้ำตาล (sugar, 설탕, seoltang)
กิมจิมีมากมายหลายชนิดจากเอกสารของพิพิธภัณฑ์กิมจิในเมืองโซล (The Kimchi Field Museum in Seoul) กิมจิมีมากกว่า 187 ชนิดโดยจะแตกต่างกันตามถิ่นและสภาพอากาศ ตัวอย่างเช่นกิมจิหัวผักกาด (깍두기, kkakdugi) เป็นหัวผักกาดล้วนไม่มีผักกาดขาวผสม กิมจิแตงกวายัดไส้ (오이소배기,oisobaegi) และกิมจิผักกาดขาวที่ถือว่าเป็นกิมจิที่รู้จักกันมากที่สุดในนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการผสมผักกาดขาว พริกแดง กระเทียม ขิง และน้ำซุบจากปลากะตัก (젓갈, jeotgal) เข้าด้วยกันซึ่งผักกาดขาวควรจะเป็นผักกาดขาวจีน (Chinese cabbage) จึงจะได้กิมจิที่มีรสชาติดีและจัด หากทำจากผักกาดขาวชนิดอื่นจะทำให้กิมจิมีรสชาติที่อ่อนลง
สุขภาพ
กิมจิถูกจัดเป็นหนึ่งในห้าอาหารสุขภาพโดยเฮลท์แม็กกาซีน (Health Magazine) โดยให้เหตุผลว่ากิมจิอุดมด้วยวิตามิน ช่วยในการย่อยอาหาร และอาจจะช่วยรักษาโรคมะเร็ง สรรพคุณในกิมจิได้มาจากหลายปัจจัยเพราะว่ากิมจิทำมาจากผักกาดขาว หัวหอม และกระเทียม ผักทั้งสามอย่างนี้ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ กิมจิยังมีโปรไบโอติกส์แลคโตแบซิลลัสที่ให้กรดแลคติก (Lactic acid) หลังจากการหมักเหมือนในโยเกิร์ตด้วย อีกทั้งกิมจิมีพริกแดงเป็นส่วนผสมหลักซึ่งก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน
สรรพคุณที่มีประโยชน์ของกิมจิอาจจะเป็นโทษได้เช่นกัน มีการศึกษาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 นักวิจัยชาวเกาหลีใต้เปิดเผยว่ามีความเสี่ยงถึงร้อยละ 50 ที่อาจจะเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งในกระเพาะถ้าบริโภคกิมจิมากเกินไป ดั่งอัตราการเป็นมะเร็งในกระเพาะของประชากรเกาหลี และญี่ปุ่นที่มีมากเป็นสองเท่าของประชากรในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามแป้งฝุ่น และสารระคายเคืองในข้าวขาวในทั้งสองประเทศอาจจะเป็นสาเหตุทางอ้อมในการเกิดมะเร็งก็เป็นได้ แต่ในการศึกษาบางชิ้นนั้น อ้างว่าการบริโภคกิมจิมีส่วนช่วยในการลดการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร แม้กระนั้นก็มีการศึกษาบางชิ้นอีกเช่นกันที่อ้างว่ากิมจิ(ที่มีส่วนผสมเป็นหัวผักกาด)จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง และการบริโภคกิมจิเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นได้รับเกลือหรือน้ำปลาที่ใช้ในการหมักและปรุงรสเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพขึ้นได้เช่นโรคความดันโลหิตสูง
สัพเพเหระ
-
ส่วนใหญ่ชาวเกาหลีจะมีตู้เย็นสำหรับเก็บกิมจิโดยเฉพาะ เพราะว่ากิมจิมีกลิ่นเฉพาะตัวอยู่ซึ่งอาจไปรบกวนรสชาติและกลิ่นของอาหารอื่นได้
-
เวลาถ่ายรูปชาวเกาหลีใต้ มักจะพูดคำว่า "กิมจิ" (ลากเสียงที่ตัวท้าย) ซึ่งเหมือนกับคนที่พูดภาษาอังกฤษมักจะใช้คำว่า "ชีส" (cheese)
-
เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะใช้น้ำกิมจิตอนก่อนพิธีแต่งงาน