Advertisement
❝ รักลูก อยากให้ลูกรัก ต้องฟูมฟักด้วยใส่ใจ ❞
ดึงลูกรัก “ตัวเลข” ตั้งแต่เล็ก แล้วเด็กจะรัก “คณิตศาสตร์”
เมื่อถึงเวลาต้องเข้าชั้นเรียนวิชา “คณิตศาสตร์” ในชั่วโมงต่อไป เชื่อได้เลยว่า เด็ก 1 ห้อง จะต้องมีสักคน สองคน หรือมากกว่านั้น เกิดอาการเซ็งกับวิชาดังกล่าว ด้วยเหตุผล หรือความเชื่อที่สั่งสมกันมาว่า เป็นวิชาที่ยาก ปวดหัว มีแต่ตัวเลข และไม่สนุก แถมยังทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องหนักใจกับเจ้าตัวยุ่งไม่ใช่น้อย เพราะหลังกลับจากโรงเรียน การบ้านวิชาเลขมักเป็นวิชาที่เด็กไม่ค่อยสนใจหยิบขึ้นมาทำสักเท่าไร
วันนี้ทีมงาน Life and Family มีตัวอย่าง “ครอบครัวตัวเลข” มาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะครอบครัวนี้ มีวิธีการทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่าย สนุก และสามารถเชื่อมโยงบูรณาการจากชีวิตจริงได้อย่างเข้าใจ ทำให้ลูกชายและลูกสาวของครอบครัวนี้ ชื่นชอบกับการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ทั้งที่โรงเรียน และที่บ้านเป็นอย่างมาก และคงจะเป็นครอบครัวไหนไปไม่ได้ นอกจากครอบครัวของ “คุณโม-แวววดี ศรีไตรรัตน์” เจ้าของโรงแรมพุทธรักษา (หัวหิน) คุณแม่คนเก่งของน้องโมโม่ และโมย่า วัย 7 ปี และ 5 ปี
|
|
น้องโมโม่-แม่โม-น้องโมย่า |
|
|
คุณแม่แวววดี บอกถึงเคล็ดลับการเลี้ยงลูกว่า จะให้ลูกทำในสิ่งที่รัก ไม่ต้องการให้ลูกเป็นคนเก่งเรียน แต่จะสอนให้ลูกเก่งกิจกรรมด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัวสร้างทักษะการใช้ชีวิต รู้จักคน และสังคมได้มากขึ้น ไม่ใช่เก่งแต่เอาตัวเองไม่รอด
“จะให้ลูกเรียนพิเศษบ้าง แต่ก็ไม่มาก จะเน้นวิชาคณิตศาสตร์มากกว่า นอกนั้นจะเป็นกิจกรรมเสริม เช่น ว่ายน้ำ เรียนเทควันโด เพราะเป็นสิ่งที่ลูกชอบ และได้พักผ่อนไปในตัว ส่วนวันเสาร์ และอาทิตย์จะพาลูกไปพักผ่อนที่โรงแรม (หัวหิน) เที่ยวเล่นตามประสาพ่อแม่ลูก” แม่โมเล่าถึงกิจกรรมของลูก
|
สำหรับเรื่องของ “คณิตศาสตร์” คุณแวววดีเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องสอนให้ลูกเข้าใจ และสนุกไปกับมัน เพราะมีความเชื่อที่ว่า การปูฐานความสนุกเรื่องของตัวเลขให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้เด็กเรียนตามเพื่อน และเรียนในชั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น โดยตัวคุณแม่โมเอง จะเริ่มเอาวิชาเลขเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของลูกตั้งแต่ยัง 3 ขวบ ด้วยการที่จบด้านบัญชีมา ชีวิตจึงวนเวียนกับเรื่องตัวเลขพอสมควร ทำให้เธอสามารถดึงหลักวิชาเหล่านั้น มาเชื่อมโยงกับหลักความจริงได้ และเธอเห็นว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวของลูก จะช่วยให้เขาเข้าใจคณิตศาสตร์ง่ายกว่า และเป็นคณิตศาสตร์ที่มากกว่า 1+1 เท่ากับ 2 หรือ 2x2 เท่ากับ 4
“จะใช้สิ่งที่อยู่รอบตัวลูกทั้งหมด มาดัดแปลง และทำหลักสูตรคณิตศาสตร์ไว้สอนลูก ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน หรือออกไปเที่ยวนอกบ้าน เช่น เวลาเล่านิทานจะสอนให้ลูกนับตัวละครที่อยู่ในเรื่อง หรือเวลาไปซื้อของ ข้างนอกก็จะให้ลูกมีส่วนร่วมกับเราด้วย อาทิ แม่ซื้อลูกอมชิ้นละ 2 บาท มีเงินอยู่ 10 บาท แม่จะได้ลูกอมกี่ชิ้น ซึ่งเราจะเอาตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องหมด เอาให้เขาเห็นภาพ ซึ่งก็ให้ความร่วมมือดีแต่ถ้าบอกว่าลูกต้องบวกอันนี้กับอันนี้นะ ลบอันนี้สิ เขาจะคิดนานมาก แล้วรู้สึกเบื่อทันที” คุณแม่แววเล่า
จากวิธีดังกล่าว คุณแวววดีบอกว่า เห็นผลได้ชัดเจน เพราะลูกจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์ หรือขณะที่ทำการบ้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสอนลูก พี่แววจะสอนให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และศรัทธาต่อวิชาดังกล่าว ถ้าลูกตอบถูก ก็จะให้คำชมเป็นรางวัลทางใจ แต่ถ้าตอบผิด จะไม่มีการดุ หรืออารมณ์เสียใส่ลูกเด็ดขาด มีแต่จะให้โอกาสเพื่อให้ลูกได้ลองทำใหม่อีกครั้ง จากนั้นจะสอนด้วยเหตุ และผลให้เกิดความเข้าใจต่อไป
สอดรับกับ “โมโม่” ลูกชายคนโต วัย 7 ขวบ อยู่ชั้น Year 2 (ป.1) โรงเรียน Shrewsbury ถ.เจริญกรุง บอกว่า ชอบเรียนคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่สอนสนุก และเข้าใจง่าย จากวิชาที่น่าเบื่อ กลายเป็นวิชาที่สนุกทันที ส่วนใหญ่คุณแม่มักจะดึงเอาชีวิตประจำวัน มาเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์ ทำให้เห็นภาพ และเข้าใจตัวเลขได้มากขึ้น เวลาไปโรงเรียนจึงเกิดความมั่นใจ และเรียนตามเพื่อนได้ทัน ส่วนตัวชอบเรื่องคูณเป็นพิเศษ เพราะสนุก และได้คิดเยอะดี
|
ถึงคิว “พี่อาร์ท-อนุชา เข็มทอง” เจ้าของสถาบันแมทเนเซียม (ประเทศไทย) ศูนย์เสริมทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กชั้นอนุบาล 2 ถึง ม.2 จากประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สร้างความสนุกได้ ยกตัวอย่าง เวลาที่คุณพ่อ คุณแม่อยู่บ้าน ต้องรู้ก่อนว่า ลูกชอบอะไร จากนั้นก็นำเรื่องที่ลูกชอบมาผูกโยงเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์ เช่น ชอบเล่นฟุตบอล ก็นำมาเล่นเป็นเกมคณิตได้ ไม่ว่าจะเป็น รับส่งลูกบอลแล้วนับตัวเลขสลับกันไป นับทีละสอง หรือสามบ้าง แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน ตรงนี้จะช่วยให้ลูกได้ซึมซับการนับเลขไปในตัว
“บางทีถ้าให้เด็กบวกเลข 7+5 เท่ากับเท่าไหร่ ซึ่งเด็กก็ตอบได้คือ 12 แต่ทำไมเราไม่ทำให้ตัวเลขเหล่านั้นแตกออกมาเป็นโจทย์หรรษาล่ะ การที่เด็กสามารถเปลี่ยนตัวเลขให้เป็นโจทย์ปัญหาได้ จะช่วยเด็กได้คิดตาม แล้วสนุกไปกับมัน เช่น เวลาไปเที่ยวทะเล เปลือกหอยก็สามารถนำมาเป็นโจทย์ได้ หรือเวลาไปกินพิซซ่า ก็สามารถเล่นกับลูกได้ อาทิ พิซซ่ามีกี่ชิ้นคะ ถ้าคุณพ่อกับคุณแม่กินกันคนละชิ้นจะเหลือกี่ชิ้น เป็นต้น” พี่อาร์ทอธิบาย
อย่างไรก็ตาม "พี่อาร์ท" มองว่า ทุกครอบครัวไม่จำเป็นต้องให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์ หรือส่งให้เรียนเพื่อให้เด็กเป็นเลิศ แต่ขอให้ทุกครั้งที่เจอ หรือต้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เด็กไม่วิ่งหนีก็พอ ดังนั้นทุกกิจกรรมที่ทำกันในครอบครัว สามารถเอาไปสร้างเป็นโจทย์ได้หมด ทำให้เด็กสนุก และมีทัศนคติกับวิชาดังกล่าวในทางบวกมากขึ้น
นอกจากนี้เมื่อลูกโตขึ้น ระดับขั้นของคณิตศาสตร์ก็จะเป็นนามธรรมมากขึ้นด้วย พ่อแม่จึงควรเลือกใช้สื่อที่เป็นรูปธรรม หรือสิ่งที่จับ หรือสัมผัสต้องได้ หรือถ้าหาไม่ได้ อาจจะใช้เป็นภาพมาสอนลูกแทน เพราะเด็กจะเข้าใจ และเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น มากกว่าเรียนกับตัวเลขเพียงอย่างเดียว
การสร้างลูกน้อยให้รัก “ตัวเลข” ตั้งแต่เล็ก จะเป็นสะพานเชื่อมให้เด็กมีทัศนคติในทางบวกต่อวิชา “คณิตศาสตร์” ในวัยถัดมาได้เป็นอย่างดี เพียงเริ่มต้นด้วยความใส่ใจ และความสนใจจากครอบครัว เท่านี้ก็จะไม่มีคำว่า “ยาก” ออกมาจากปากเด็กในชั้นเรียนคณิตศาสตร์อีกต่อไป แต่จะมีคำว่า “สนุก และอยากเรียน” ออกมาแทน
|
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ ขอบคุณอีกครั้ง http://blog.eduzones.com/applezavip/24903
วันที่ 22 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,560 ครั้ง เปิดอ่าน 7,190 ครั้ง เปิดอ่าน 7,653 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,166 ครั้ง เปิดอ่าน 7,251 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,153 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 18,518 ครั้ง |
เปิดอ่าน 32,868 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,520 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,716 ครั้ง |
เปิดอ่าน 6,842 ครั้ง |
|
|