ครูดี ครูเพื่อศิษย์จะต้องเป็นครูที่มีจิตที่จะ “พัฒนา” จิตของตน
ครูดี จะรู้จักพัฒนาจิตตน “เพื่อศิษย์”
เพื่อครูนั้นต้องมีหน้าที่ “พัฒนาจิต” ของลูกศิษย์ให้เข้าถึง “ปัญญา”
ครูนั้นถ้าให้ความรู้ ให้เท่าไหร่ก็ไม่พอ ให้เท่าไหร่ศิษย์ก็ไม่มีวันรู้หมด
แต่ถ้าครูนั้นพัฒนาจิตของตนให้หมดจิต ก็จะสามารถพัฒนาศิษย์ให้มี “ปัญญา”
ศิษย์ที่มีปัญญาจะสามารถเอาตัวรอด เพราะรู้ลอด แทงตลอดทั้งเหตุที่มีแห่งความรู้ การเกิดขึ้นและดับไปแห่งความรู้นั้น
ครูดี จึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตของตนให้เข้าถึง “ปัญญา” ทั้งปัญญาที่เกิดจากการฟัง (สุตตมยปัญญา) ปัญญาที่เกิดจากการคิด (จินตามยปัญญา) และปัญญาหยั่งลึกที่เกิดขึ้นสมาธิในจิตอันประภัสสร (ภาวนามยปัญญา)
ครูดี ครูเพื่อศิษย์จึงจำเป็นต้องใช้ “ความรู้” เพื่อพัฒนาจิต
ครู ต้องมีความรู้
ครูดี ต้องมี “ปัญญา”
ครูเพื่อศิษย์ ต้องสามารถเป็นที่พึ่งพาให้ลูกศิษย์สร้าง “ปัญญา” ที่แท้จริง...
ปัญญาที่แท้นั้นจักเกิดขึ้นเมื่อครูมีการอบรมจิตผ่านไปในระดับหนึ่ง
จิตของครูนั้นจะก้าวผ่านจุดของการเรียนแบบท่องจำ การสอนแบบทำแบบฝึกหัด การทดลองจำลองฝึกปฏิบัติ แต่ทุกย่างก้าวในการเรียนนั้นแน่ชัดเป็น “ของจริง”
จิตที่อบรมจนใช้ปัญญาเป็นแล้ว จะสามารถประยุกต์ใช้สิ่งต่าง ๆ รอบกาย โดยเฉพาะ “ความรู้” ที่ทรงพลังอย่างยิ่งจากเด็กที่อยู่ในห้องมาถักทอ สานต่อเรื่องราว เรื่องต่อเรื่อง คนต่อคน เรื่องใคร เรื่องคนนั้น จนสามารถทำให้ศิษย์คิดและทำตามนั้นได้จริง
ครูดีต้องมี “สมาธิ”...
ครูดีต้องมองและอ่านอากัปกิริยาของเด็ก ๆ ในห้องออกอย่างกระจ่าง ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
การที่จะมองอย่างเป็นกลางและกระจ่างได้จำเป็นต้องมี “สมาธิ” คิด อ่าน จิตและความนึกคิดของเด็ก “ทุก ๆ คน” ให้ออก
ครูดีจักต้องมองอ่านเด็กรายบุคคล...
เด็กหนึ่งคนก็หนึ่งชีวิต ในแต่ละชีวิตมีพื้นฐานและประสบการณ์แตกต่างกัน
การที่เราจะใช้เทคนิคการสอนแบบเดียว ชุดเดียว ในหนึ่งห้องแบบเดิมนั้น “ครูดี” ต้องปรับตามสภาพให้สอดคล้องกับเด็กรายบุคคลให้ได้
ต้อง “เอาใจใส่เด็ก” รายบุคคล ดู แก้ ไข พัฒนา กันเป็นคน ๆ ไป
ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าเป็น “ครูดี” ต้องทำได้ และทำจริง
ครูดีต้องเสียสละ... คิดจะเป็นครูแล้วจะต้องเสียสละ ถ้ายิ่งจะเป็นครูดีด้วยแล้วต้องยิ่งเสียสละ...
เสียสละความคิดปรุงต่าง ๆ ที่จะย้อมใจตนให้มัวเมาไปกับกิเลส
นำเวลา นำพลังที่มีมาทุ่มเทช่วยชีวิต สร้างอนาคตให้กับ “ศิษย์” ตาใส ๆ ที่พ่อแม่ฝากความหวังไว้กับเรา
อาชีพที่ยิ่งใหญ่กับภาระที่ใหญ่ยิ่ง เรามีวันนี้มีใช่โชคช่วย แต่กรรมนั้นเอื้ออำนวยมาเป็นครู “ครูที่ดี”
ครูดีมีเวลาพอสำหรับศิษย์เสมอ...
เรื่องชีวิต เรื่องลมหายใจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ต้องรักษาให้กายนี้ดำรงอยู่เพื่อเป็นครูดี
เรื่องงาน เรื่องเป็นครูเป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นครูที่ดี ต้องทำจิตดี จิตที่ดีจะมีเวลาให้ศิษย์เสมอ
เรื่องโลก เรื่องหนัง เรื่องละคร ครูที่ดี จักเอาเวลานั้นมาคิด มามอบ มาให้กับศิษย์
ดังนั้นครูดีจะมีเวลามากล้น เพราะเวลากิน ก็กินเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้
เวลาพักผ่อนก็ไม่มากเกินไป เพราะจิตไม่ปรุงด้วยกิเลส ตัณหา และราคา จิตไม่เหนื่อยมาก จิตไม่ต้องพักมาก ดังนั้นเวลางานในวันหนึ่งทำอย่างเต็มที่ ครูดีใช้เวลาเป็น คุ้มค่า พอสำหรับศิษย์เสมอ
ครูดีต้องเป็นคนกตัญญู...
คำพูดอื่นหมื่นแสน มิเทียบแม้นการปฏิบัติ
ครูดีต้องกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณ ที่เปรียบประหนึ่งเป็นครูคนแรก ครูคนที่ประเสริฐสุดแห่งชีวิต
ครูจักเจริญมิได้เลยหากขาดความกตัญญูต่อครูของตน
ความกตัญญูต่อครูของตนจะนำพาชีวิต “ครู” ให้รุ่งเรือง
พ่อและแม่เป็นคุณครูที่ประเสริฐยิ่ง
คำนิยาม คำจำกัดความของครูดีเป็นอย่างไร โปรดดู ครูพ่อ ครูแม่ไซร้ นั่น “ครูดี”...
ครูดี “ครูเพื่อศิษย์” โปรดเดินตามรอยเท้าของครูพ่อ ครูแม่
ครูผู้ประเสริฐที่ให้กำเนิด เลี้ยงดู อบรม สั่งสอน เรามาถึงกาลปัจจุบัน
ครูพ่อ ครูแม่ สอนเราอย่างไร เราจักสอน “ศิษย์” อย่างนั้น
ครูพ่อ ครูแม่ เสียสละให้เราอย่างไร เราจักเสียสละตอบแทนท่านในฐานะ “ศิษย์” ที่ดีอย่างนั้น
ทำหน้าที่ทุกหน้าที่ให้ดีที่สุด
เป็นครู ต้องเป็นครูดี “ครูเพื่อศิษย์”
เป็นลูกของครูพ่อ ครูแม่ ต้องเป็นศิษย์ดี “ศิษย์แทนคุณครู”...
อยู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทำเต็มที่เป็นครูดี “ครูเพื่อศิษย์”
อยู่บ้าน อยู่เรือน ตอบแทนเต็มที่เป็นลูกที่ดี “ลูกรู้ครู”
ขอบคุณที่มาข้อมูล