องค์กรทูตสันติภาพเชิญ ดาโต๊ะอันวาร์ อิบรอฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และผู้นำจากทั้งสามศาสนา ร่วมงานสานเสวนา “ศาสนสัมพันธ์ สานสันติภาพ” โดยผู้แทนฝ่ายศาสนาพุทธ คือ พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรุงเทพฯ ผู้แทนฝ่ายศาสนาอิสลาม คือ เชคอับดุลกอเดร์ มาหมูด อัลกอดาอี ผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องมุสลิม และผู้แทนฝ่ายศาสนาคริสต์ คือ พระสังฆราชโยแซฟ จากคริสต์คาทอลิกแห่งประเทศไทย
งานเสวนาจัดขึ้นที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หน้าค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยมี พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา และมีชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ กับประชาชนในพื้นที่ร่วมรับฟังประมาณ 500 คน
อันวาร์ อิบรอฮิม กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสามศาสนาในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่มีใครต้องการให้เกิดความรุนแรง สันติภาพคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา ถึงแม้ตัวเขาจะเป็นคนมาเลเซีย แต่ก็มีความรับผิดชอบร่วมกันกับพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และชาวไทยทุกคน การมาครั้งนี้เป็นการมาด้วยความรู้สึกเป็นพี่น้องบ้านใกล้กัน คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย
จากนั้น อันวาร์ อิบรอฮิม ได้เปิดโอกาสให้ "ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
O คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยและมาเลเซียต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาพรมแดนและชุมชนมุสลิมในภาคใต้ แนวทางที่เป็นไปได้คืออะไร?
มีแนวทางมากมายที่ทำได้ วิธีที่ต้องทำและเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ฝ่ายคือ มีข้อมูลว่าการแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทหารและไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิธีการยกฐานะความเป็นอยู่เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ และยังเป็นหน้าที่ของครูสอนศาสนารวมถึงอุลามะห์ในการชี้แจงหลักการอิสลามที่ว่าไม่ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย และเชิญชวนสู่สันติภาพ
อย่างไรก็ตาม เรื่องการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องยอมรับว่ามีปัญหา และต้องแก้ปัญหาโดยใช้การเจรจา
O จากการเข้ามาประเทศไทยช่วงสั้นๆ มองว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับแนวทางสันติภาพหรือไม่?
ผมสนับสนุนวิธีการที่แม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร) นำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะทำให้ประชาชนมีโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การแก้ไขปัญหาความยากจนโดยพยายามยกฐานะทางเศรษฐกิจ การให้งานทำ และการพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงผู้นำศาสนา ทั้งผู้นำทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสสาม เข้ามาพูดคุย ทำให้เรารู้สึกได้ว่าศาสนาไม่ใช่ปัญหา และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และสมควรได้รับสนับสนุน
O คำว่าสันติภาพในความหมายของคุณคืออะไร?
สันติภาพคือสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา เราจำเป็นต้องฟังปัญหาก่อนว่าประชาชนที่นี่เรียกร้องอะไร พวกเขาต้องการได้รับการยอมรับในเรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี พวกเขาต้องการให้เรื่องเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง และให้ความเคารพ
เราต้องต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันต่อต้านความรุนแรง ไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน
O การแก้ปัญหาผู้กระทำความผิดในไทยที่หลบหนีเข้าไปพักพิงในมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลสองสัญชาติ มีแนวทางอย่างไร?
ก่อนหน้านี้แม่ทัพภาคที่ 4 เล่าให้ฟังว่า ทหารถูกประชาชนต่อต้าน ไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากมีการฆ่าผู้นำศาสนา และมีโรงเรียนปอเนาะบางแห่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เป็นอาชญากรธรรมดาที่เป็นชาวไทยมุสลิม ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศต้องมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อาชญากรรมไม่ว่าจะเกิดในชาติใด เมื่อมีการก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุจะต้องชดใช้ในสิ่งที่เขาทำ และถูกดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ฝ่าย (หมายถึงทั้งไทยกับมาเลเซีย) การแก้ปัญหาต้องพูดคุยกัน
เราไม่สามารถให้การคุ้มครองปกป้องคนที่ทำความผิด ดังนั้นรัฐบาลไทยและมาเลเซียจำเป็นต้องให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เราไม่สามารถปกป้องคนทำผิด ไม่ว่าเขาจะหลบหนีซ่อนตัวในประเทศไทยหรือในมาเลเซีย
O คำว่าร่วมมืออย่างใกล้ชิดในความหมายของคุณคืออะไร?
ต้องมีการพูดคุยกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาล ระดับทหาร ผู้นำศาสนา และระดับประชาชน ตรงนี้ต้องยกระดับให้มากยิ่งขึ้น ผมมีความเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียก็ต้องกระตือรือร้นที่จะพูดคุยกับรัฐบาลกรุงเทพฯ มีความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่จะเป็นภาพลบต่อภูมิภาคเอเชียโดยรวม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิ่งที่ฝ่ายทหารและผู้นำศาสนาได้พูด คือต้องการความร่วมมือกัน ต้องการสันติภาพ ต้องการความยุติธรรม ต่อต้านความรุนแรง และต่อต้านความอยุติธรรม เราต้องช่วยกันอย่างจริงจังเพื่อภาพพจน์ที่ดีจะได้กลับมาเป็นของชาวเอเชียอีกครั้ง
ผู้แทนศาสนาพุทธ-มุสลิมร่วมเรียกร้องสร้างสันติภาพ
ด้าน เชคอับดุลกอเดร์ มาหมูด อัลกอดาอี กล่าวว่า หากทุกคนศึกษาอัลกุรอานและปฏิบัติตามโดยไม่ลืมตัว ใช้ชีวิตอย่างรู้จักตัวเอง ปัญหาทุกอย่างก็จะไม่เกิด อิสลามมีเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เห็นด้วยกับอธรรมและการเข่นฆ่า ขอให้ทุกคนอย่าอคติและหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มาร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติสุขที่ทุกคนเรียกหา
ขณะที่ พระพรหมวชิรญาณ กล่าวว่า ทุกศาสนาต้องการความดีและสันติภาพ หากทุกคนใช้ธรรมะและศาสนาเป็นหัวใจในการดำรงชีวิต สันติภาพก็จะเกิด ทุกศาสนาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่ความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่างหากที่หัวใจทุกดวงปรารถนาร่วมกัน
|