เคยอ่านบันทึกของ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด (http://gotoknow.org/blog/beyondkm/37255) ที่เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) กับ ความรู้ฝังลึกในคน (Tacit Knowledge) เหมือน หยิน-หยาง แห่งลัทธิเต๋า ที่แทนด้วยสัญลักษณ์ เป็นรูปกลม ๆ แบ่งเป็นสองส่วนด้วยเส้นโค้งคล้ายตัว S ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก จนต่อมาพบข้อเขียนของ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ (http://gotoknow.org/blog/science) ในเสาร์สวัสดี ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2550 จึงได้ทราบรายละเอียดของหยิน-หยางมากขึ้น จึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้
ทฤษฎียิน-หยาง ที่คนไทยนิยมออกเสียงว่า หยิน-หยาง นั้นที่จริงไม่ได้เริ่มต้นมาจากลัทธิเต๋า คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่ายิน-หยางมาจากลัทธิเต๋า เพราะในหนังจีนจะเห็นนักพรตเต๋ามีสัญลักษณ์ ยิน-หยาง ติดอยู่ด้วยเสมอ แต่เมื่อสืบค้นประวัติดูว่า ทฤษฎี ยิน-หยางเป็นอย่างไร ? มาจากไหน ? จึงทราบว่าหลักการของยิน-หยางนี้ เกิดมาจากคนจีนโบราณเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติ และพบรูปแบบร่วมกันอย่างหนึ่งว่า อันปรากฏการณ์และสรรพสิ่งทั้งมวลนั้นขับเคลื่อนด้วยพลัง 2 ขั้วที่ตรงกันข้ามกัน เช่น มีสว่างก็มีมืด มีชายก็มีหญิง มีขาวก็มีดำ มีดวงอาทิตย์ก็มีพระจันทร์ ฯลฯ
เมื่อลองนึกถึงภูเขาซึ่งต้องแสงแดด ด้านหนึ่งสว่าง เรียกว่า หยาง ส่วนอีกด้านหนึ่งที่มีเงามืด ร่มเย็น เรียกว่า ยิน ถ้าคิดตามแนวนี้ ก็จะบอกว่า อันร่างกายของคนเรานั้น แผ่นหลัง เป็น หยาง ส่วนด้านท้อง (ด้านหน้า) เป็น ยิน เพราะคนทำไร่ทำนานั้น ต้อง “เอาหลังสู้ฟ้า เอาหน้าสู้ดิน” หลังโดนแดดสว่าง จึงเป็น หยาง ส่วนด้านหน้าหรือด้านท้องไม่โดนแดด จึงเป็น ยิน สำหรับเรื่องเพศสภาพนั้น ชาย เป็น หยาง และ หญิง เป็น ยิน....ส่วน “เสือไบ” นี่คนจีนเรียกว่า ยินหยางเหยิน (คำว่า เหยิน แปลว่า คน)
ยิน-หยาง มีสัญลักษณ์ 2 แบบ แบบแรกแทนด้วยเส้น เส้นเต็มคือ หยาง เส้นขาด คือ ยิน เดากันว่า สัญลักษณ์นี้มาจากการเสี่ยงทายด้วยหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ซือ กล่าวคือ เส้นเต็มแทนหญ้าที่มีลำต้นสมบูรณ์ เส้นขาดแทนหญ้าที่ขาดท่อน
สัญลักษณ์ยิน-หยางแบบที่สอง เป็นแบบที่คุ้นตากว่า เป็นรูปวงกลม แบ่งเป็นสองส่วนด้วยเส้นโค้งคล้ายตัว S เป็นสีดำกับสีขาว ความโค้งของเส้นแบ่งบ่งถึงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยบริเวณสีขาว (สว่าง) แทนหยาง บริเวณสีดำ (มืด) แทนยิน ทั้งยินและหยางแม้จะตรงกันข้าม แต่ก็เติมเต็มซึ่งกันและกัน ขาดกันไม่ได้ โดยในสภาวะสมดุล หากยินเพิ่ม หยางก็ลด และ กลับกัน หากยินลดหยางก็เพิ่ม
ทางการแพทย์จีนถือว่า สภาวะสมดุลองยิน-หยาง ทำให้ร่างกายเป็นปกติ แต่หากไม่สมดุล ก็จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
ยังมีเรื่องราวละเอียดอีกมาก ท่านที่สนใจสามารถไปอ่านได้โดยตรงจากงานเขียนของ ดร. บัญชา และท่านยังแนะนำเว็บไซต์ไว้ให้สำหรับผู้สนใจอ่านเพิ่มเติม(เป็นภาษาอังกฤษ) อีกที่ http://www.shen-nong.com/eng/principles/whatyinyang.html