หนีไม่พ้น...ต้องรู้ภาษาต่างประเทศ
หลายประเทศทั่วโลก ต่างวางแนวทางพัฒนาเด็กและเยาวชนให้สามารถพูด อ่าน และเขียนได้ตั้งแต่ 2 ภาษา (Bilingual) 3 ภาษา (Trilingual) หรือมากกว่า
แต่น่าแปลกที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากลับพบว่ามีการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศน้อยมาก กล่าวกันว่า มีเด็กอเมริกันน้อยกว่าร้อยละ 40 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาษาต่าง-ประเทศ สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาภาษาต่างประเทศในสหรัฐฯ ไม่ก้าวหน้ามากนักในช่วงเวลาที่ผ่านมาคือ อคติที่มีต่อชาวต่างชาติ จึงทำให้ความสนใจพัฒนาภาษาต่างประเทศมีน้อยตามไปด้วย อีกทั้ง ความสนใจที่มีต่อประเทศต่าง ๆ มีน้อยมาก เมื่อ ค.ศ. 2002 นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic-Roper) ได้สำรวจความสนใจของนักเรียนมัธยมในสหรัฐฯ พบว่า มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่สามารถระบุว่า ประเทศอัฟกานิสถานอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก และการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2006 พบว่า เด็กอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี เกือบครึ่งคิดว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าประเทศใดอยู่ตรงไหน และมากกว่า 1 ใน 3 คิดว่าไม่จำเป็นเลยที่ต้องเรียนภาษาต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่คิดว่าจำเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีส่วนผลักดันให้สหรัฐฯ ต้องเร่งพัฒนาภาษาต่างประเทศคือ ความมั่น-คงระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ทางธุรกิจ แอนน์ ซี เลวิส (Anne C. Lewis) ผู้มีส่วนสำคัญในการเขียนนโยบายการศึกษา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า เป็นเรื่องน่าอายที่สหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่กลับถูกแยกจากโลกภายนอก เพราะการไม่รู้ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศอื่น และเร็ว ๆ นี้ สหรัฐฯ อาจประสบกับปัญหาด้านการป้องกันประเทศและผลประโยชน์ธุรกิจ สอดคล้องกับตัวแทนจากภาคธุรกิจและการอุดมศึกษาของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (Committee for Economic Development) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่แสดงความเห็นว่า ความเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศเป็นพื้น-ฐานสำคัญในการเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ทั้งในด้านการทหารและธุรกิจ
ข้อเสนอและโครงการพัฒนาภาษาต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา
เริ่มตั้งแต่อนุบาล ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสอนภาษาต่างประเทศ ออกมาเสนอแนะว่า การพัฒนาภาษาต่างประเทศควรเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ระดับอนุบาล Rita Oleksak อดีตประธาน American Council on the Teaching of Foreign Languages (ACTFL) เสนอว่า ทางเดียวที่จะปิดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ คือ ทักษะภาษาต่างประเทศ ซึ่งควรเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดม-ศึกษา เพราะหากไปเริ่มต้นที่วัยทำงานจะไม่ประสบความสำเร็จ
ประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Department of Defense: DOD) กำลังตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาภาษาจีนระดับมหาวิทยาลัยในมลรัฐออริกอน และโรงเรียนต่าง ๆ ในเมืองพอร์ตแลนด์ และปัจจุบันหลายมลรัฐเข้าร่วมโครงการ “Foreign Language Assistance Program” ของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ (U.S. Department of Education) และ National Security Language Initiative (NSLI) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาภาษาจีน อารบิก ฮินดี เกาหลี และรัสเซีย
ผลักดันร่วมกันทั่วประเทศ มลรัฐต่าง ๆ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาภาษาต่างประเทศ เช่น มลรัฐ-มินนิโซตา ร่วมมือกับสภามหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) พัฒนาหลักสูตรพัฒนาการออกเสียงภาษาจีนให้ผู้เรียนเกรด 12 และสร้างเครือข่ายครูสอนภาษาจีน เพื่อช่วยพัฒนาการสอน การประเมินผลและการฝึกอบรม มลรัฐลุยเซียนา บังคับโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกโรงเรียนมีโปรแกรมการฝึกออกเสียงภาษาต่างประเทศวันละ 30 นาที สำหรับผู้เรียนเกรด 4 และ 6 สัปดาห์ละ 150 นาที สำหรับผู้เรียนเกรด 7 และ 8 มลรัฐแมสซาชูเซตส์ คณะกรรมการการศึกษาบังคับให้ทุกโรงเรียนต้องสอนภาษาจีนแมนดา-รินให้ผู้เรียนเกรด 8 มลรัฐเคนทักกี หน่วยงานด้านการศึกษาของมลรัฐเคนทักกี ได้บูรณาการภาษาต่างประเทศเข้ากับหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียน 1 ภาษาเป็นอย่างน้อย มลรัฐอิลลินอยส์ บังคับให้ภาษาต่างประเทศเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียน มลรัฐยูทาห์ จัดโปรแกรมนำร่องที่เรียกว่า “Critical language” สอนการวิเคราะห์องค์ประกอบภาษา เช่น ภาษาจีน อารบิก รัสเซีย ฟาร์ซีหรือเปอร์เซีย ฮินดี และเกาหลี ฯลฯ
ปัจจุบัน นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการมีทักษะภาษาต่างประเทศมากกว่ายุคก่อน ๆ เนื่องมาจากการค้าระหว่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศ คนทั่วโลกต้องติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น ทักษะภาษาต่างประเทศจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งไม่เพียงทักษะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้คนต่างสนใจพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศที่ 3 หรือ 4 ภาษา ขึ้นอยู่กับความจำเป็น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อารบิก เยอรมัน รัสเซีย ฯลฯ
การพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศในไทย
ประเทศได้พัฒนาการเรียนการสอนทักษะภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษใหม่ และรัฐบาลได้จัดตั้งสถาบันภาษาอังกฤษ เพื่อติดตามปรับปรุงหลักสูตรภาษาอังกฤษในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และฝึกอบรมครูภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางยุทธศาสตร์ให้ผู้เรียนสังกัด สพฐ. เรียนภาษาต่างประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาจีน มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และฝรั่งเศส อีกทั้ง ตามสถาบันสอนภาษาของเอกชนหลายแห่ง ต่างตื่นตัวรับความต้องการพัฒนาภาษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเปิดสอนภาษาต่างประเทศที่ได้รับความนิยม เช่น เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานเก่งภาษาที่ 2 หรือ 3 จะส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนนานา-ชาติ หรือโรงเรียนที่เปิดสอน 2 ภาษา ซึ่ง ศธ.อนุญาตให้โรงเรียนที่มีความพร้อมเปิดสอนได้ แต่ให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ ศธ. โดยผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่าหลักสูตรทั่วไป เพราะโรงเรียนต้องจ้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศมาสอน และต้องจัดหาอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่เอื้อต่อการเรียนการสอน
ผลที่เกิดขึ้นยังพบว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเด็กและเยาวชนไทย ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือ ปัญหาการขาดแคลนครูภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ แนวทางแก้ไปขอเสนอ ดังนี้
การแก้ปัญหาขาดแคลนครูและพัฒนาครูภาษาต่างประเทศ ปัญหาการขาดแคลนครูภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนขนาดเล็ก ศธ.อาจจัดทำสื่อการสอนในรูปแบบซีดี วีซีดี วิดีโอ เพื่อจัดส่งให้โรงเรียน หรือการสอนทางไกล ในส่วนโรงเรียนที่มีครูภาษาต่างประเทศเพียงพออยู่แล้ว แต่ขาดการสอนที่มีคุณภาพ ศธ.ควรฝึกอบรมทักษะการสอนรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ อาจทำในรูปแบบการอบรมโดยตรง หรือการอบรมทางไกลตามความเหมาะสม
การพัฒนาหลักสูตรภาษาต่างประเทศ ศธ.ควรสนับสนุนงบประมาณศึกษาวิจัย เพื่อจัดทำหลัก-สูตรภาษาต่างประเทศที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชั้น เช่น รูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาในหลักสูตร ภาษาต่าง-ประเทศที่ควรสอนในแต่ละช่วงชั้น เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศได้รับการสอนผ่านหลักสูตรที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
เพิ่มจำนวนครูสอนภาษาต่างประเทศหลายภาษา การที่รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนสังกัด สพฐ. เรียนภาษาต่างประเทศนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาจีน มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ฝรั่งเศส ฯลฯ คงไม่สามารถเป็นไปได้หากยังไม่มีครูเชี่ยวชาญในภาษาเหล่านั้นอย่างเพียงพอ ดังนั้น ศธ.ควรวางเป้า-หมายอย่างเจาะจงลงไปอีกว่า จะเพิ่มจำนวนครูที่สอนภาษาต่างประเทศแต่ละภาษาปีละกี่คน เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนโรงเรียนทั่วประเทศ อาจกำหนดให้มหาวิทยาลัยที่มีคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์เปิดหลักสูตรภาษาต่างประเทศหลายภาษา เพื่อผลิตครูสอนภาษาต่างประเทศให้เพียงพอ
สภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกันในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การบันเทิง การเมือง ฯลฯ ส่งผลให้ภาษาต่างประเทศที่เป็นภาษาสากล จะมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเร่งพัฒนาคนไทย ให้มีความพร้อมด้านทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเริ่มวางรากฐานตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนถึงช่วงวัยแรงงาน
ขอบคุณที่มาข้อมูลผู้เขียน ดร.นลินี ทวีสิน ข้อมูลจาก www.vichakarn