การสอนนักเรียนกับสอนคน
การจัดการศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ ผมคนหนึ่งละที่สนับสนุนประเด็นนี้อย่างเต็มที่ ผมเห็นด้วยในความเป็นเจ้าของผู้รู้ซึ่งบุคคลคนนั้นจะต้องเป็นผู้จัดความรู้ จัดกระบวนการ จนเกิดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์มากกว่าคอยให้คำแนะนำ แต่มิใช่เป็นผู้จับยัดหรือยัดเยียดความรู้ให้เขา โดยที่ไม่ตรงกับความสามารถของเขาเลย เพราะว่าเราไม่มีทางรู้ใจ ไม่มีทางรู้อนาคตของผู้อื่นได้ ตัวของผู้เรียนเท่านั้นที่รู้จักตัวของเขาเองได้ดีกว่าผู้อื่น (แม้แต่บิดา มารดา ผู้ปกครองก็ยังกำหนดอนาคตของลูกตนเองได้ไม่ทุกคน) แล้วเรามีความสามารถแค่ไหนที่จะไปกำหนดว่านักเรียนจะต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้ตามที่ใจเราอยากให้เป็น (ผมคิดถูกหรือเปล่า)
ผมผ่านการอบรมวิธีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาในระดับกรมสามัญศึกษา ในฐานะเป็นวิทยากรของจังหวัด ลองทบทวนความคิดว่าสิ่งที่ได้ไปเข้ารับอบรมมา เวลากลับมาขยายผล ยังมีความเห็นไม่เหมือนกัน บางท่านเสนอว่าการจัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งที่จะให้เด็กสามารถเข้าเรียนในสถาบันชั้นสูงได้ หากไม่ได้เรียนวิชานี้ (วิชาที่ครูถนัด) จะไม่สามารถสอบเข้าเรียนต่อได้เลย (แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะไปทางนั้น) ตามโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางกำหนดให้ ในหลักสูตรสถานศึกษา จะต้องจัดการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
1. จัดให้ผู้เรียนได้เรียนในวิชาพื้นฐานให้ครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้(เรียนตลอดช่วงชั้น 3 ปี)
2. จัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในวิชาเพิ่มเติมตามความถนัด ตามความสนใจของผู้เรียน
3. จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว ลูกเสือ-ยุวกาชาด และกิจกรรมชุมนุมสิ่งสำคัญ คือ การจัดหลักสูตรของสถานศึกษานั้น จะต้องมุ่งเน้นความเป็นไทย จัดเพื่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น จัดได้ทุกรูปแบบและครอบคลุมทุกเป้าหมาย
ความน่าสนใจที่ผมขอหยิบยกนำขึ้นมาเล่าเรื่องนี้เพราะผมมองในมุมหนึ่งว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่ติดตัวมาไม่เหมือนกันและไม่เท่ากันข้อนี้แก้ไขได้โดยการจัดการเรียนรู้ แบบปรับพื้นฐานให้เขา ผู้เรียนมีความสามารถ มีความถนัดแตกต่างกัน (เก่งไม่เท่ากัน) จัดการเรียนรู้ ที่หลากหลายให้เรียนได้หลายแนวทางตามถนัด แต่การเข้าไปสู่ห้องเรียนหรือการได้เข้าไปเรียนรู้ของผู้เรียนนั้น ๆ มาจากการกำหนดของตัวเขาเองหรือมาจากมีผู้กำหนดให้ (บังคับให้เป็น) ควรกระทำหรือไม่หรือจำเป็น ต้องทำ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จ ผมไม่อาจพูดว่าแบบใดผิด แบบใดถูก แบบไหนดีหรือแบบไหนไม่ดี แต่ผมไม่ทราบว่า ข้อยุติของการจัดการเรียนการสอนควรจัดอย่างไรมีผู้กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนตามที่จัดเอาไว้ให้เขาหรือผู้เรียนมีสิทธิได้เลือกเรียนในรายวิชา ต่างๆ ตามความสนใจ ตามความถนัดของเขาด้วยตัวเขาเองบ้างหรือไม่ (สมองของคนเรามี 2 ซีก) ยิ่งการจัด การเรียนรู้แบบบูรณาการ บางท่านอาจจะคิดถึงความสะดวกส่วนตัวมากกว่าที่จะคิดถึงผลที่จะได้รับในระยะยาว เพราะการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นการร่วมคิดร่วมทำ เป็นการพัฒนาความสามารถทางอารมณ์ ปลูกฝังความเข้าใจในผู้อื่น มีความเห็นใจกัน เข้าใจกัน สามารถขจัดปัญหาข้อขัดแย้งทางอารมณ์และความคิดได้อย่างเหมาะสม
วิธีการหนึ่งที่ผมนำเอามาใช้ในการจัดการเรียนรู้วิชากิจกรรม/ชุมนุมศิลปะภูมิปัญญาไทย คือ การบูรณาการรูปแบบโครงงาน/โครงการ โดยนักเรียนช่วงชั้นที่ 3-4 (ชั้นม.1-6) มาเรียนรู้ร่วมกันทั้งในเวลาเรียนชุมนุมและนอกเวลาเรียน โดยกำหนดเรื่องขึ้นมา ได้แก่ เรื่องพัฒนาความสามารถการแสดงเพลงพื้นบ้าน และนักเรียนร่วมกันกำหนดเป้าหมาย จัดทำตารางปฏิบัติเฉพาะเรื่องนี้ กำหนดการจัดกิจกรรมตั้งแต่เริ่มการวางแผน จนงานสำเร็จ ลงมือปฏิบัติร่วมกัน (เหมือนเป็นการเข้าค่าย) มีกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน มีการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ปลูกฝังคุณธรรมในความเคารพรุ่นพี่รุ่นน้องและความรับผิดชอบให้กับนักเรียน การจัดกิจกรรมเช่นนี้ ผมจัดกับกลุ่มสนใจเพลงพื้นบ้าน (เพลงอีแซว) ครับ จำนวน19 คน นักเรียนคนไหนที่มีปัญหาเรื่องของการบ้านก็นำมาปรึกษาผมและรุ่นพี่ช่วยกันอธิบาย (แต่ไม่ได้ทำให้เสียเองนะ) ใครมีจุดที่จะต้องพัฒนาในการแสดงเพลงอีแซว ผมและนักเรียนรุ่นโตก็จะเข้าไปแนะนำ และจัดเวลาเอาไว้ส่งเสริมนักเรียนที่มีความสมารถสูงในกลุ่ม ได้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้วยการเข้าประกวด แข่งขันตามโอกาสซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ก็จะมีองค์กร หน่วยงานต่าง ๆ เชิญไปร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง ผลที่ได้รับ นักเรียนได้รับความภาคภูมิใจ ผู้ปกครองชื่นชม สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน แต่รางวัลมิใช่สิ่งสำคัญมากไปกว่าการที่เราได้พัฒนาตัวผู้เรียน
ผมมองว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งซึ่งบางครั้งอาจจะต้องปรับให้มีการยืดหยุ่นในเนื้อหา และเวลา เพื่อที่จะพัฒนาคน มิใช่เพื่อที่จะสอนเนื้อหาตามบทเรียน ตามหนังสือเรียนหรือตามกฎเกณฑ์ขององค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะวิธีการสอนนักเรียนทั้งชั้น สอนทั้งห้อง (จำนวนคนมาก ความสามารถไม่เหมือนกัน จะพัฒนาใครได้อย่างไร) ยกเว้นวิชาพื้นฐาน เป็นการจัดการเรียนรู้ให้กับทุกคนได้ ทุกคนเรียนรู้ได้ ส่วนวิชาเพิ่มเติมจัดสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถเฉพาะทางหรือเด็กเก่ง ที่จัดแยกออกไปตามความถนัด ตามความสมัครใจ การพัฒนาการเรียนรู้ที่ดี จะต้องจัดการเรียนรู้ตามความสามารถ ประเมิน ปรังปรุง และพัฒนาเป็นรายบุคคลตามศักยภาพ
การสอนจนจบเนื้อหาที่เตรียมเอาไว้ด้วยเวลาที่จำนวนมาก กับการได้พัฒนาผู้เรียนเพียง 1 คนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะช้าก็น่าจะมีผลทางจิตใจต่อผู้เรียนได้บ้างหรือได้มากกว่า และถ้าได้พัฒนาผู้เรียนให้มากที่สุดจนครบทุกคน ขอใช้คำว่า เป็นการสอนคน ให้มีความรู้ จนเกิดปัญญาแก้ปัญหาได้ น่าจะใช้คำว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” ครับ ถึงแม้ว่าผมจะผ่านประสบการณ์ในการสอนมานานจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้วก็ตาม (ผมไม่ยังไม่ลืมนิทานอีสปเรื่องราชสีห์กับหนู)
ถ้าวิธีการที่ผมเล่ามาทั้งหมดไม่ตรงทาง มีข้อผิดพลาด ยินดีที่จะรับไปปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง และเหมาะสมในทันที
ขอบพระคุณที่มาข้อมูล ....คุณครูชำเลือง มณีวงษ์ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1