ตะลึง!'ผ้าขี้ริ้ว'สะสมเชื้อโรค89% 'การซัก' ไม่ช่วยอะไร
ศ. เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและสมาชิกของสภาด้านสุขอนามัยแห่งเอเชีย กล่าวภายหลังร่วมประชุมสภาด้านสุขอนามัยแห่งเอเชีย ที่ประเทศมาเลเซีย ว่า สภาด้านสุขอนามัย (The Hygiene Council) ได้เก็บสำลีตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียจำนวน 1,200 ตัวอย่างจากพื้นผิววัสดุจากบ้าน 120 หลัง ใน 7 ประเทศ
ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อนำไปศึกษาในระดับสากลด้านสุขอนามัยในครัวเรือน พบว่า สิ่งที่เหมือนกันในทุกประเทศคือ ห้องครัวเป็นสถานที่รวมเชื้อแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะผ้าเช็ดครัว หรือผ้าขี้ริ้ว จะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ถึงร้อยละ 89 ในจำนวนนี้ พบว่าร้อยละ 78 มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนสูงมาก และเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ จะแพร่กระจายทั่วทั้งห้องครัวเมื่อมีการทำความสะอาด
'ผ้าเช็ดครัวดูเหมือนว่าจะไม่มีอันตราย แต่กลับเป็นที่สะสมของเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก ผ้าเช็ดครัวจึงเป็นหนึ่งในพาหะที่ปนเปื้อนเชื่อโรคมากที่สุด เพราะว่าครัวเป็นแหล่งที่นำอาหารสด ที่อาจปนเปื้อนมาจากตลาด
และเมื่อผ้าเช็ดครัวไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกต้อง เชื้อโรคย่อมแพร่กระจายในครัว กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เช่น โรคทางเดินอาหาร อาทิ โรคอุจจาระร่วง และอาหารเป็นพิษ จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก' ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า วิธีการทำความสะอาดผ้าเช็ดครัวตามปกติ ที่นำผงซักฟอกมาทำความสะอาด จากนั้นนำไปพึ่งลมให้แห้ง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่นั้น ถือว่าไม่ช่วยให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาถูกทำลายได้เลย เพราะไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งสามารถทำได้ง่ายด้วยการนำไปต้มหลังซักทำความสะอาดแล้ว 5-10 นาที
จากนั้นนำไปตากแดด ซึ่งวิธีเหล่านี้จะทำให้เชื้อโรคตาย และผ้าเช็ดครัวไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และควรมีผ้าเช็ดครัวหลายผืน เพื่อสลับเปลี่ยนกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาสุขอนามัย มีความเห็นตรงกันว่า
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้การศึกษาแก่สาธารณะเกี่ยวกับการปฏิบัติ ด้านสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการทำความสะอาด และอนามัยส่วนบุคคลเช่น การล้างมือ ซึ่งคนส่วนใหญ่ละเลย และทำให้เกิดโรคติดเชื้อมากขึ้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคติดเชื้อที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ โรคท้องร่วง ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ที่เกิดจากการจับต้องสิ่งของที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่และไม่ได้ล้างมือ
เช่น ผ้าขี้ริ้ว ราวบันได การจับที่โหนบนรถเมล์ ฯลฯ ซึ่งสภาด้านสุขอนามัยแห่งเอเชีย ได้แนะนำให้ล้างมืออย่างเหมาะสมหลังการเตรียมอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณและสิ่งที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ เป็นประจำ เช่น รีโมทคอนโทรล ลูกบิดประตู และโทรศัพท์ และ การเตรียมอาหารที่ปลอดภัย
ขอบคุณที่มาข้อมูล ประชาชาติธุระกิจ