"คนเป็นครู" ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนความรู้ คุณธรรม จริยธรรมให้กับนักศึกษาที่มาลงเรียนในวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบ ไม่ว่าสถานะของวิชานั้นจะเป็นอย่างไร ครูบังคับ เอกบังคับ ครูเลือก เอกเลือก หรือ เลือกเสรี ก็ตาม
ในภาคเรียนหนึ่ง ๆ ครูอยู่กับนักศึกษา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา ถึง 4 เดือน ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ยัน เกรดออก
ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมเห็น ...
- อาจารย์หลายคน ไม่สนใจเรื่องความถูกหรือความผิดระเบียบของเด็ก ปล่อยไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิด ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องการนำระเบียบเหล่านี้มาเป็นสถานการณ์จำลองให้เด็ก เมื่อเด็กจบไป เด็กจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม หรือ สถานประกอบการ บางแห่งไล่ออกไปเลยก็มี เวลาไปถามอาจารย์เหล่านี้ อาจารย์เหล่านี้จะบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจบไปก็ปรับตัวได้เอง
- อาจารย์หลายคน ไม่กล้าให้เกรด D หรือ E หรือ F ต่อเด็กที่ทำคะแนนไม่ผ่านตามเกณฑ์ แต่อาศัยช่วยโดยใช้ปากกาของตนเองเปลี่ยนเกรดให้เด็กไปเลย โดยที่ไม่สนใจว่า จะได้ไม่ต้องมาเรียนใหม่อีก ช่วย ๆ ไป แล้วเมื่อไหร่เด็กจะประเมินศักยภาพของตัวเองได้ว่า ตัวเองเป็นอย่างไร หรือ ต้องพัฒนาอะไรเพิ่มขึ้น พอจบ ผลเสียก็เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัย และรุ่นน้องที่จะจบตามมา เพราะสถานประกอบการนั้น ไม่ขอรับนักศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้อีก
- อาจารย์หลายคน ไม่กล้าให้เกรด I หรือ ร กับเด็ก เพราะขี้เกียจต้องตามแก้เกรดให้อีกครั้งในภาคเรียนต่อไป หรือ ไม่อยากตามไปจ้ำจี้จ้ำไชในงานที่ไม่ถึงเกณฑ์ของเด็ก ให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานให้ได้ จึงปล่อยเกรดไปมั่ว ๆ แบบไม่สนใจว่า เด็กจะได้รับความรู้ หรือไม่
- อาจารย์หลายคน ไม่ตรวจงานนักศึกษา แต่คะแนนของชิ้นงานมันออกมาได้ อาจารย์ขี้รำคาญ กลัวเด็กไม่ได้ A B เวลาตรวจงานก็มีแต่ "ดี" กับ "ดีมาก" ความคิดเห็นต่อชิ้นงานก็ไม่มี เด็กเค้าจะคิดว่า แค่นี้อาจารย์ก็ว่าดีแล้ว แสดงว่า ไม่มีข้อบกพร่อง จะทำดีกว่านี้ไปทำไม
- ฯลฯ (ไว้คิดออกจะมาเพิ่มให้นะครับ)
ท่านทั้งหลายครับ ผมไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีคนประกอบวิชาชีพเดียวกันนะครับ แต่ผมเชื่อว่า ครูลักษณะแบบนี้มันมีทุกระดับ แต่ที่ผมเล่าให้ฟังนี่ ระดับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ที่มีแต่คำว่า "อาจารย์" นำหน้า แต่คำว่า "จิตสำนึกของความเป็นครู" ไม่มี ครับ
อาจารย์ที่นักศึกษาไม่ชอบนะครับ คือ "ดุ เนื้อหาวิชายาก ระเบียบวินัยสูง ยุติธรรม ประจบขอเกรดไม่สำเร็จ งานเยอะและยาก จู้จี้จุกจิกในชิ้นงาน ฯลฯ"
ส่วนอาจารย์ที่กลัวนักศึกษาเกลียด ไม่รัก จะมีพฤติกรรมการสอนที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาครับ
"โอ๋ นักศึกษาที่รักของครู"
"โอ๋ ถ้าเธอทำแค่นี้นะ ครูก็ให้คะแนนเยอะ ๆ แล้วล่ะ"
ฯลฯ
เท่าที่ผมสังเกต อาจารย์พวกนี้จะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง ศักยภาพในวิชาชีพต่ำ และไม่ค่อยพัฒนาตนเอง สอนมา 10 ปีอย่างไร ปัจจุบันก็สอนแบบนั้น ให้ไปเข้าสัมมนา อบรม เสริมความรู้ ก็ไม่ค่อยไป อ้างโน้นอ้างนี่
ดังนั้น การทำให้อาชีพครูของตัวเองคงตัว คือ ปล่อยเกรดง่าย ๆ สอนง่าย ๆ งานไม่ต้องสั่งเยอะ นักศึกษาจะชอบมาลงเรียนกับอาจารย์พวกนี้เยอะจนล้นหมู่เรียน
ยิ่งถ้ามีการเปรียบเทียบครับ เช่น วิชาเดียวกัน 5 หมู่เรียน อาจารย์ผู้สอน 2 คน เด็กจะเลือกไปลงกับอาจารย์ที่ให้เกรดง่าย ๆ แต่ไร้คุณภาพการสอน ส่วนอาจารย์ที่ให้เกรดยาก ๆ งานเยอะ เด็กจะไม่เลือกลง
แต่ต้องบอกว่า หากเด็กเลือกลงกับอาจารย์ที่ให้เกรดยาก เด็กคนนั้นมักจะเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน และมั่นใจว่า สามารถเรียนผ่านอาจารย์ท่านนั้นได้ เรียกว่า ศักยภาพของเด็กจะสูงกว่าที่หนีไปเรียนกับอาจารย์ที่ให้เกรดง่าย ครับ
เล่าจากประสบการณ์ตรงครับ
เด็ก ๆ มักจะไม่รักผม พาลไม่อยากพบหน้า แต่ผมก็ไม่สนใจมากนัก เพราะผมเชื่อมั่นว่า ผมมี "ความเป็นครู" และพร้อมจะให้ความรู้เด็กเหล่านี้เสมอ ถ้าพวกเขาต้องการ และผมเชื่อว่า ผมมี "ความเป็นครู" มากกว่าครูที่กลัวเด็กเกลียด แน่ ๆ
ผมเองก็เคยเสียใจ กับพฤติกรรมที่เด็กมีต่อผม แต่ผมไม่เสียใจเลยในความตั้งใจสอนที่ผมมี
อาจารย์พวกนั้น มักจะบอกผมว่า "ในสาขาวิชาเดียวกัน ก็มีอาจารย์ใจดี กับอาจารย์ที่ดุ สลับกันไป เด็กจะได้พบอาจารย์หลากหลาย"
"อืมม ครับ"
แต่บังเอิญสาขาผมมีอาจารย์อยู่ 6 คน "ใจดี ซะ 5 คน ที่เหลือดุ คือ ผมคนเดียว"
แถมเวลาอาจารย์คนนี้ไปพูดกับเด็กเอก บอกเด็กว่า "เวลาอาจารย์เค้าสั่งงานอะไร เธอก็ทำไปสิ ไม่ต้องบ่น ไม่ต้องพูดมาก ไม่งั้นเธอก็ติด E"
คำพูดแค่นี้ ควรคิดยังไงได้บ้างครับ โยนความผิดว่า ทำ ๆ ไป จะได้ไม่ตก พูดเหมือนผมไม่มีเป้าหมายในการสอนเขา
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า "ต้องมาทำตามผมทุกอย่าง แต่อยู่ที่ว่า นักศึกษาเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ผมอยากให้เขาได้รับความรู้นั้นหรือไม่"
เหนื่อยครับ .. และเบื่อคนพวกนี้ ที่คิดแต่จะสร้างภาพให้ตัวเองเป็นคนดีในสายตาใคร ๆ
พูดได้คำเดียวว่า "สู้ต่อไป" ครับ ผมไม่แพ้คนแบบนี้หรอก
ขอบคุณครับ