ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

"ใบอนุญาตข่มขืน"ทารุณกรรมทางเพศ.. เหตุเกิดในโลกใบนี้......


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,157 ครั้ง
Advertisement

"ใบอนุญาตข่มขืน"ทารุณกรรมทางเพศ.. เหตุเกิดในโลกใบนี้......

Advertisement

บทความพิเศษ : เราจะกู้ชาติด้วยวัฒนธรรม

เรื่องและภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

บ้านเรือนของประชาชนไทใหญ่อพยพและครอบครัวทหาร ปลูกเรียงรายอยู่ตามไหล่เขาของดอยไตแลง


หมอกขาวอวลเคลื่อนคลุมยอดดอยไตแลง ที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ ชายแดนรัฐฉาน ประเทศพม่า ประชิดชายแดนไทยด้าน จ. แม่ฮ่องสอน อยู่ทั้งวันและคืน เกือบทั้งปีบนยอดเขาแห่งนี้จะมีอากาศหนาวเย็น หมอกลงจัด หน้าหนาวหมอกจะปกคลุมยอดดอยแทบทั้งวัน ส่วนหน้าฝนสายฝนจะกระหน่ำหนักติดต่อกันยาวนานทั้งวันทั้งคืนจนแทบไม่เห็นแสงแดด พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุดของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ เข้ามาบุกเบิกสันดอยแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกกำลังพลนักรบไทใหญ่ให้กลับเข้าไปสู้รบทำสงครามกู้ชาติ ให้รัฐฉานพ้นจากการกดขี่ข่มเหงของรัฐบาลทหารพม่า แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้คนหลายพันคนบนยอดดอยไตแลง ล้วนเป็นเด็ก ผู้หญิง และประชาชนไทใหญ่ผู้ทุกข์ยากที่หนีภัยสงคราม การฆ่าฟัน การข่มขืนมาจากเมืองต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินรัฐฉาน

ปัจจุบันมีคนไทใหญ่หลายแสนคนอพยพหลบหนีเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ขณะที่วัฒนธรรมทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ประเพณี มหรสพ ศาสนา ฯลฯ ของคนไทใหญ่ใจกลางรัฐฉานกำลังถูกทำลายให้ย่อยยับไปพร้อมกับหมู่บ้านเป็นพัน ๆ แห่ง ไร่นา ศาสนสถานต่าง ๆ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ที่ถูกทหารพม่าฆ่าฟันเผาทำลาย ดอยไตแลงในชั่วโมงนี้จึงเป็นที่รวมของวัฒนธรรมหลากหลายของประชาชนไทใหญ่ที่อพยพมาจากทั่วแผ่นดินฉาน ดอยไตแลงจึงมิใช่เพียงหมู่บ้านทหาร แต่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมอันเข้มข้นของคนไทใหญ่ และกำลังทำหน้าที่ฟื้นฟูสืบทอดวัฒนธรรมไทใหญ่ ให้การศึกษาด้านต่าง ๆ แก่เยาวชนไทใหญ่ ที่หลายร้อยคนคือเด็กกำพร้าซึ่งสูญสิ้นทั้งพ่อแม่ ครอบครัว ไม่เหลือกระทั่งชุมชนที่จะปกป้องดูแลพวกเขา มีเพียงกองทัพกู้ชาติเป็นที่พึ่ง เก็บรวบรวมพวกเขาเดินทางฝ่าฟันอันตรายยาวนานอยู่หลายปี กว่าจะมาถึงยอดดอยไตแลง ชายแดนไทย-พม่า

ทหารไทใหญ่แห่ง SSA ที่สู้รบแบบกองโจรและตั้งกองกำลังกระจัดกระจายอยู่ทั่วรัฐฉานในขณะนี้ คือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนไทใหญ่ ประชาชนสนับสนุนทหารในเรื่องข่าวสารและอาหาร ส่วนทหารก็ดูแลประชาชนทางด้านสาธารณสุข อยู่กับชาวบ้านเหมือนลูกหลาน ช่วยทำไร่ ดูแลเด็กกำพร้า พาเด็กๆ ส่งต่อเข้ามาบนดอยไตแลงให้มีที่พักมีการศึกษา


ร่อนเร่มากับกองทหารกู้ชาติ

ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หลังจากขุนส่า ราชายาเสพติดผู้นำกองทัพไทใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ “เมิงไตอาร์มี่” ซึ่งมีกำลังอาวุธทันสมัยและกำลังพลร่วม ๓๐,๐๐๐ คน ได้ทำสัญญาหยุดยิง วางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไขกับกองกำลังทหารพม่า แต่พันเอกเจ้ายอดศึก นายทหารผู้มีความสามารถสูงทางการรบ ไม่ยอมจำนน หากได้ตัดสินใจวางแผนพาทหารไทใหญ่จำนวน ๘๐๐ คน ข้ามลำน้ำสาละวินกลับเข้าสู่ฝั่งตะวันตก บริเวณป่าลึกกลางรัฐฉาน สามปีเต็มที่เจ้ายอดศึกกับเพื่อนร่วมตายสู้รบอยู่ในป่า ตรากตรำและอดทน สะสมอาวุธกำลังพล ขยายพื้นที่กอบกู้กองทัพไทใหญ่ขึ้นมาใหม่ในชื่อ SSA (Shan State Army) ประกาศทำสงครามกู้ชาติและปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มแข็งเด็ดขาดไปพร้อม ๆ กัน

ในช่วงนี้เองที่กองทหารพม่าตามกวาดล้างนักรบและประชาชนไทใหญ่ เพื่อไม่ให้ประชาชนให้ความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหาร การข่าว และที่พักแก่ทหารกู้ชาติของพวกเขา ช่วงเวลาเพียงปีกว่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๐ หมู่บ้าน ๑,๔๐๐ แห่งสาบสูญจากแผนที่รัฐฉานอย่างไม่เหลือซาก คนไทใหญ่ ๓ แสนกว่าคนไร้ที่อยู่อาศัย ครอบครัวพังทลาย พ่อถูกจับไปเป็นลูกหาบ แม่ถูกข่มขืน ผู้คนถูกฆ่าทิ้งอย่างทารุณนับจำนวนไม่ถ้วน และนั่นทำให้มีเด็กกำพร้าเพิ่มสูงขึ้นทั่วแผ่นดินฉาน และกำลังทวีจำนวนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน

จายตา เด็กวัยรุ่นชายอายุ ๑๗ ปีซึ่งขณะนี้เป็นหนึ่งในเด็กกำพร้า ๒๒๙ คนบนดอยไตแลง เล่าให้ฟังถึงความทรงจำเมื่อ ๑๐ ปีก่อนว่า

“ผมอยู่ที่บ้านหนองแดง เมืองนาย รัฐฉาน ปี ๒๕๓๙ ผมยังเด็กมาก อายุ ๖-๗ ขวบ พี่สาวผมเพิ่งอายุ ๑๔ ปี ถูกทหารพม่า ๔-๕ คนมาเอาตัวจากที่บ้านไปรุมข่มขืน พ่อผมถูกจับไปเป็นลูกหาบหาบอาวุธให้ทหารพม่า หายไปนาน กลับมามีแผลเต็มตัว แต่พ่อเด็กอื่นไปตายไม่ได้กลับ หลังจากนั้นทหารพม่าเข้ามาในหมู่บ้าน สั่งให้ทุกคนย้ายออกใน ๗ วัน ใครไม่ไปถูกยิง เขาเข้ามาเผาหมู่บ้าน ชาวบ้านหนีออกหมด บางคนย้ายไม่ทัน ลูกเล็กถูกเผาตายในกองไฟ เสียงร้องไห้ดังทั่ว พ่อแม่ผมร้องไห้ หมดตัวไม่รู้จะไปไหน พ่อแม่ผมกับครอบครัวลุงอ่องหนีไปอยู่ในป่า ไม่มีอะไรกิน ไม่มีที่อยู่ หลบอยู่ตามป่า ขุดหาเผือกมันกิน อยู่กัน ๖-๗ เดือน วันหนึ่งผมไปดักนก ได้ยินเสียงปืน ผมแอบในป่าจนค่ำ กลับมาดูเห็นพ่อแม่โดนยิงตายเลือดเต็มหน้า ลุงอ่องถูกฆ่าตัดหัวเสียบไว้กลางป่า เหลือผมคนเดียว ไม่รู้จะไปไหน เดินร้องไห้ไปเรื่อย ๆ ป่ารกก็บุกไป ไม่ได้กินอะไรวันหนึ่งเต็ม ๆ สัตว์ป่าร้องทั้งคืน ผมกลัวมาก เดินไปจนไปเจอชาวบ้านที่หลบอยู่ในป่า เขาเลยพาผมไปส่งไว้กับทหารไทใหญ่ในป่าเมืองโขหลำ”

นอกจากจายตาแล้วยังมีเด็กไทใหญ่อายุตั้งแต่เพิ่งเดินได้ไปจนประมาณ ๑๐ ขวบที่พ่อแม่ตาย ถูกทิ้งให้อดอยากไร้ที่พึ่งอยู่ทั่วไป ครูเคอแสน เลขาธิการอันดับ ๒ ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) หน่วยงานทางการเมืองของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ เล่าว่า “ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ชาวบ้านไทใหญ่จะช่วยดูกันเอง แต่เด็กชายเขาไม่กล้าเลี้ยงไว้ เพราะใหญ่ขึ้นมาทหารพม่าจะมาจับไปเป็นลูกหาบ อีกอย่างทหารพม่าจะคิดว่าชาวบ้านเลี้ยงเด็กชายไว้เพื่อเตรียมให้เป็นทหารกู้ชาติไทใหญ่ ช่วง ๑๐ ปีก่อน เด็กกำพร้าผู้ชายลำบากมาก ไม่มีใครกล้าเลี้ยง ไม่มีใครเอา ไม่มีคนให้พึ่งพา เพราะพม่ามาเจอจะอันตราย ชาวบ้านพบเด็กที่ไหนก็พามาส่งไว้กับเจ้ายอดศึก เจ้ารับไว้หมด เพราะเด็กไม่มีที่ไป รวม ๆ แล้วราว ๔๐-๕๐ คน ตอนนั้นเจ้ายอดศึกก็ลำบากมาก ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ตั้ง ร่อนเร่อยู่ในป่าประมาณ ๒ ปี ไปไหนต้องพาเด็กตามกองทหารไทใหญ่ไปด้วย เจ้ากระจายทหารเป็นชุดเล็กชุดน้อย รบแบบกองโจร แบ่งเด็กไปกับทหารชุดต่าง ๆ ให้ช่วยกันดูแล หลบอยู่ในป่า กินอยู่เดินทางไปกับทหาร เด็กเล็กลำบากมาก ทหารต้องดูเหมือนพาลูกไปด้วย จนปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เจ้าเห็นว่าพาเด็กไปมาตามป่าอย่างนี้อันตรายกับเด็กมาก เด็กไม่มีอนาคต จะทำแบบนี้อยู่ตลอดไม่ได้ เจ้ายอดศึกเลยติดต่อกลุ่มคริสต์ของทางสาธุคุณจอห์น โปรฟิลด์ ชาวนอร์เวย์ที่เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ฝากให้ช่วยดูแลเด็ก แล้วเจ้าก็พาเด็กทั้งหมดมาที่ชายแดนไทย เอาแต่หน่วยรักษาความปลอดภัยของเจ้ามาช่วยคุ้มครองเด็ก ทหารพม่ารู้ข่าว พากำลัง ๖ ทัพ ๒,๐๐๐ กว่าคนตามฆ่าเจ้า ล้อมปราบ ยิงกันหลายครั้ง เด็กต้องหยิบปืนยิงกับทหารพม่า ป้องกันชีวิตตัวเอง รอดมาได้จนถึงชายแดนไทย พอปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เจ้าตั้งกองบัญชาการที่ดอยไตแลง พออยู่ได้แล้วก็ไปเอาเด็ก ๗๐ กว่าคนมาไว้บนดอย เปิดโรงเรียนสอนภาษาไทใหญ่ พม่า อังกฤษ ไทย สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ธรรมชาติศึกษา สอนวัฒนธรรมไทใหญ่ทั้งหมด หลักสูตรมีถึงชั้น ม. ๖ รวมลูกชาวบ้านที่หนีมาจากในรัฐฉานด้วยตอนนี้มีนักเรียนอยู่ ๗๐๐ กว่าคน”

เด็กกำพร้าและเด็ก ๆ ที่เกิดใหม่บนดอยไตแลงมีอนาคตที่ดีกว่าเด็กลูกชาวบ้านตามไร่นาในรัฐฉานที่ไม่เคยได้รับการศึกษา การสืบต่อทางวัฒนธรรมจากชุมชนหรือบรรพชนของเขาแต่อย่างใด


อาชญากรรมสงครามในนามการ “ข่มขืน”

สำหรับชะตากรรมของเด็กผู้หญิงไทใหญ่นั้น แม้พวกเธอบางคนจะมีครอบครัวดูแล แต่เด็กจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อการถูกทารุณทางเพศโดยทหารพม่า อย่างที่ตนเอง พ่อแม่และชุมชนชาวบ้านไทใหญ่ไม่อาจปกป้องได้

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ เด็กหญิงจ๋ามเฮือง อายุ ๗ ขวบ ตัวเล็กผอมบาง อยู่บ้านคานมน จ. หัวเมือง ตรงข้าม จ. แม่ฮ่องสอน นั่งเล่นกับน้องชายอายุ ๓ ขวบอยู่ใต้ถุนบ้าน วันนั้นพ่อแม่ของเธอออกไปทำงาน จ๋ามเฮืองเล่าว่า เธอไม่ทันรู้ตัวเมื่อผู้ชายตัวดำ ๆ ใหญ่ ๆ นุ่งโสร่ง ใส่เสื้อทหารพม่า เข้าประชิดตัว เอาแตงกวายัดปากเธอไม่ให้เสียงร้องดังออกมา มัดมือเธอไว้ข้างหลัง อุ้มเธอตัวปลิวขึ้นไปบนบ้าน ดึงผ้าถุงเธอออกและข่มขืนเธอ จ๋ามเฮืองบอกว่า เธอไม่รู้ทหารพม่าทำอะไร แต่เจ็บมากและเลือดไหลเต็มไปหมด หลังจากนั้นทหารพม่าแก้มัดเธอ หันหลังเดินออกไป จ๋ามเฮืองเดินไม่ไหว ได้แต่ร้องไห้คลานลงบันไดบ้าน ไปหลบอยู่ข้างกอไม้ ขณะที่เลือดไหลไม่หยุด สักพักพ่อแม่กลับมาบ้าน เห็นสภาพจ๋ามเฮืองก็รู้ว่าลูกโดนข่มขืน พ่อแม่รีบพาจ๋ามเฮืองไปหาหมอ หมอถามว่าโดนอะไรมา แม่ไม่กล้าบอก หมอถามว่าใครทำ ฉีดยาให้แล้วบอกให้ไปแจ้งความ หลังจากนั้นตำรวจพม่าไปเอาคนมา ๕ คนให้ชี้ตัว จ๋ามเฮืองชี้ไม่ได้เพราะไม่เห็นหน้า ตำรวจก็ไม่ทำอะไรอีก สิบห้าวันแรกที่นอนป่วย จ๋ามเฮืองลุกไม่ได้เพราะแผลอักเสบมาก เธอป่วยหนักอยู่เดือนหนึ่งเต็ม ๆ หลังจากนั้นพ่อแม่กลัวทหารพม่าจะตามมาทำร้าย พอจ๋ามเฮืองเริ่มเดินได้ ญาติพี่น้องจึงไปชวนทั้งครอบครัวให้มาอยู่ที่ดอยไตแลง เพราะเป็นที่เดียวที่ทหารพม่าจะเข้ามาทำร้ายประชาชนไทใหญ่ไม่ได้

จ๋ามเฮืองยังดูเศร้าซึมและหวาดกลัว ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นเด็กสนุกสนานร่าเริง ยังต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าชุมชนที่รักและห่วงใยจะเยียวขาจิตใจเธอให้ฟื้นสภาพกลับคืนมาได้

ส่วนบัวหอม เด็กหญิงกำพร้าอายุ ๑๕ ปี ซึ่งอยู่ที่ดอยไตแลงมา ๗ ปีแล้วนั้น แม้ตัวเธอจะไม่โดนข่มขืน แต่ความทรงจำในช่วงเวลาก่อนจะมาถึงดอยไตแลง ก็ทำให้เธอน้ำตาทะลักร่วงพรูทุกครั้งที่หวนรำลึก บัวหอมเล่าว่า ตอนเธออายุ ๘ ขวบ แม่ของเธอถูกทหารพม่า ๑๕ คนข่มขืน และลากออกมาเอามีดเสียบอกตายต่อหน้าลูก บัวหอมหนีออกมาพร้อมเด็ก ๆ รุ่นเดียวกัน ๓-๔ คน ซึ่งต่างอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ พากันหลบซ่อนในป่า กระเซอะกระเซิงเดินลงมาตามลำน้ำสาละวิน อาศัยเก็บกินยอดไม้เป็นอาหารอยู่หลายเดือน ได้ข้าวสุกจากคนไทใหญ่ที่ผ่านทางมาแบ่งให้กินบ้าง และมีคนชี้ทางให้ข้ามแม่น้ำไปหากองทัพของเจ้ายอดศึกบนดอยไตแลง เพราะเป็นที่เดียวที่ดูแลเด็กไทใหญ่ไร้ที่พึ่ง มีข้าวกิน มีที่พัก และมีโรงเรียนให้เรียนหนังสือ

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่ทหารพม่ากระทำต่อประชาชนไทใหญ่ รวมทั้งเด็กและผู้หญิง ได้รับการเปิดเผยให้ทั้งโลกช็อกกันมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ จากรายงานชุด “ใบอนุญาตข่มขืน: บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน” ซึ่งเป็นการรวบรวมโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน และเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ รายงานฉบับนี้กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๔ มีผู้หญิงและเด็กไทใหญ่ ๖๒๕ คนตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนและการทารุณทางเพศ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ มีเด็กและผู้หญิงถูกฆ่าทิ้งภายหลังที่พวกเธอถูกข่มขืน เหยื่อเหล่านี้ถูกยิง รัดคอ ทุบตี แทง และเผาทั้งเป็น ส่วน ๖๑ เปอร์เซ็นต์ของกรณีที่ปรากฏในรายงานเป็นการข่มขืนหมู่ หลายสิบกรณีนายทหารพม่าระดับสัญญาบัตรจะส่งต่อ “เหยื่อ” ให้ลูกน้องรุมข่มขืนต่อจากตน เหตุการณ์เหล่านี้ทหารพม่ากระทำอย่างไม่เกรงกลัวว่าจะมีใครรู้เห็น หลายกรณีเหยื่อถูกปล่อยตัวออกมาเพื่อให้ชุมชนและประชาชนไทใหญ่รับรู้ จะได้เกิดความหวาดกลัว เสมือนว่ากองทัพพม่าได้ให้ “ใบอนุญาต” แก่กองทหารในการกระทำทารุณทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ต่อผู้หญิงชนกลุ่มน้อยทั้งไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะเรนนี ฯลฯ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนกองกำลังกู้ชาติที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เป้าหมายของการข่มขืนไม่เพียงข่มขู่ชนกลุ่มน้อยให้ยอมจำนนเท่านั้น แต่ในรายงานชุดนี้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “เป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของกองกำลังทหารพม่าต่อศัตรูที่เป็นเพศหญิง การข่มขืนผู้หญิงยังเป็นการทำให้กองกำลังฝ่ายต่อต้านของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับความอับอายและเสียขวัญอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาชญากรรมนี้ถือเสมือนเป็นรางวัลสำหรับทหาร (พม่า) ที่ถูกส่งออกไปสู้รบในสงคราม”

เหยื่อที่ถูกข่มขืนจำนวนมากถูกฆ่า บ้างหนีตายหนีอดีตเข้ามาเป็นแรงงานพลัดถิ่นในเมืองไทย แต่อีกจำนวนมากเช่นกันที่เข้ามาหลบภัยพักพิงอยู่ที่ดอยไตแลง เช่นเดียวกับจ๋ามเฮืองและบัวหอม ที่บัดนี้เวลาปีกว่าผ่านไป โรงเรียน ชุมชนและความปลอดภัยบนดอยไตแลงได้เยียวยาจ๋ามเฮืองให้กลับมาเป็นเด็กร่าเริง สดใส มีอารมณ์ขันสุด ๆ ชอบทำตลกเรียกเสียงหัวเราะจากคนรอบข้างอยู่เสมอ ส่วน ๗ ปีกว่าของบัวหอมบนยอดดอยไตแลงก็ได้ถนอมรักษาเปลี่ยนแปลงเธอให้เป็นนักรำนักฟ้อนไทใหญ่ ผู้มีลีลา “ฟ้อนนกกิงกะลา” ได้อ่อนหวานประณีตงามในทุกย่างก้าวบนเวทีการแสดงตลอดหลาย ๆ ครั้งที่มีการจัดงานพิธี ทั้งวันชาติไทใหญ่ วันปีใหม่ วันกองทัพกู้ชาติ และล่าสุดคืองานพิธีเฉลิมพระเกียรติการครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่กองกำลังไทใหญ่จัดถวายในหลวงของเราอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ บนดอยไตแลง


โรงเรียนสอนเด็กกำพร้าและลูกชาวบ้านไทใหญ่อพยพบนยอดดอยไตแลง ปลูกด้วยอิฐและซีเมนต์ มุงหลังคาง่าย ๆ ปัจจุบันมีเด็กนักเรียน ๗๐๐ กว่าคน ยังขาดแคลนทั้งหนังสือเรียน เครื่องเขียน เสื้อผ้าและอาหาร

พันเอกเจ้ายอดศึกจะดูแลเด็กกำพร้าและประชาชนบนดอยไตแลงอย่างใกล้ชิด เวลาไปเยี่ยมเด็ก เจ้าจะพลิกหัวหูเด็กเพื่อดูว่ามีเหาหรือเปล่า เจ้ายอดศึกจัดอบรมทั้งเด็กและครูทุกเดือน บอกว่าถึงจะจนและขาดแคลน เสื้อผ้าเก่าก็ไม่เป็นไร แต่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย ให้อุ่นมาก ๆ ที่สำคัญต้องซักผ้าและอาบน้ำให้สะอาด จะได้ไม่เป็นโรค
 


เขียนตำรากับครูเคอแสน

เงื่อนไขสำคัญของการฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทใหญ่ที่เป็นจุดมุ่งหมายหลักอย่างหนึ่งของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ก็คือ “การศึกษา”

ผู้ดูแลการวางหลักสูตรการศึกษา ดูแลนักเรียนและเด็กกำพร้าบนดอยไตแลงในขณะนี้คือ ครูเคอแสน ครูหญิงชาวไทใหญ่วัย ๕๐ ปี อดีตผู้นำนักศึกษาไทใหญ่ที่เคยติดคุกตั้งแต่ยังเป็นสาวรุ่นอายุ ๑๘ ปี

ก่อนที่เจ้ายอดศึกจะชักชวนให้เข้าร่วมในขบวนการกู้ชาติ ครูเคอแสนเป็นเจ้าหน้าที่ทางการเงินอยู่ในมหาวิทยาลัยตองยี ปัจจุบันครูเคอแสนรับผิดชอบงานด้านวางแผนการศึกษา เขียนตำราเรียน ๔ ภาษาให้เด็กไทใหญ่เรียนกัน ทั้งภาษาพม่า ภาษาไทย ภาษาไทใหญ่ และภาษาอังกฤษ ชั่วเวลา ๒ ปี ครูเคอแสนเพียงคนเดียวสามารถเขียนตำราเสร็จ ตีพิมพ์เรียบร้อยถึงร่วม ๒๐ เล่ม เป็นตำราประวัติศาสตร์ไทใหญ่ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มีกระทั่ง picture dictionary เทียบคำภาษาไทใหญ่กับภาษาอังกฤษ มีรูปประกอบงดงาม พลิกดูตำราวิทยาศาสตร์ชั้นประถม ๓ ของครู มีการสอนเรื่องโลก จักรวาล และสอนเด็กไทใหญ่ดูดาวบนฟ้า แถมภาพประกอบสีสันสดใส ครูเคอแสนวาด ลงสีทั้งหมดด้วยฝีมือตัวเอง

ถามครูว่า เอาแรงที่ไหนทำคะ เยอะแยะไปหมดอย่างนี้ เมืองไทยต้องใช้คนทั้งกระทรวงบริหารจัดทำ นี่...ครูเหมาคนเดียว

ครูตอบว่า สองปีมานี้ครูนอนวันละ ๓ ชั่วโมง รีบเร่งเขียนตำราให้เด็กไทใหญ่ เพราะเด็ก ๆ มีช่วงเวลาที่จะได้เรียนหนังสือในระยะสั้น จึงต้อง “อัด” เนื้อหาหลักสูตรอย่างเร่งรัด เพื่อให้สามารถเติบโตมีความรู้ มีความชำนาญ ๔ ภาษา ให้พึ่งตัวเองได้

อันที่จริงตอนอยู่ในตองยี ครูเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง มีฐานะดี เมื่อตัดสินใจกู้ชาติ ครูทิ้งบ้าน ๒ หลัง ยอมทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมด สิ่งเดียวที่ขนมาเต็มรถปิกอัป ๒ คันก็คือหนังสือต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าที่สุดที่จะให้แก่เด็กไทใหญ่ต่อไปในอนาคตได้

ตำราที่ครูเขียนมิได้ใช้เพียงในพื้นที่ดอยไตแลงเท่านั้น แต่ยังใช้กันอยู่ในชุมชนคนไทใหญ่ในเมืองไทย และที่สำคัญก็คือ ทุกเล่มถูกส่งกลับเข้าไปให้แอบเรียนแอบสอนกันอยู่ทั่วรัฐฉาน ประเทศพม่า ที่ต้องแอบเรียนแอบสอนก็เพราะรัฐบาลทหารพม่าสั่งห้ามการเรียนภาษาไทใหญ่ในโรงเรียนของรัฐฉาน การเรียนภาษาเขียน การพูดภาษาไทใหญ่ในโรงเรียน และการศึกษาวัฒนธรรมไทใหญ่เป็นความผิดร้ายแรง ประชาชนไทใหญ่จึงต่อสู้ด้วยการนำตำราของครูเคอแสนไปเป็นหลักสูตร “ใต้ดิน” เพื่อสืบต่อวัฒนธรรมของตน

เงินทุนในการผลิตตำราทั้งหมดนี้ ครูเคอแสนได้รับจากองค์กรพัฒนาเอกชนของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งให้ทุนอย่างจำกัด จึงต้องใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างประหยัด คุณทิพยา เจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งนี้กล่าวถึงการให้ทุนเพื่อฟื้นฟูการศึกษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ที่ดอยไตแลงว่า “มีเอ็นจีโอเข้ามาทำงานพัฒนาที่ดอยไตแลงน้อย เพราะอยู่นอกเขตประเทศไทย และรัฐบาลไทยไม่ถือว่าคนไทใหญ่เป็นผู้อพยพ เนื่องจากมีค่ายอพยพของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ หลายแสนคนแล้ว จึงเป็นการยากที่เอ็นจีโอจะเข้ามาทำงานในพื้นที่โดยตรง ต้องผ่านบางหน่วยงานที่ทำงานกับคนอพยพหนีสงคราม ดังนั้นเงินช่วยเหลือจึงเข้ามาที่ดอยไตแลงได้ไม่มาก ที่นี่ยังจำเป็นต้องผลิตครูไทใหญ่จำนวนมากเพื่อกลับเข้าไปสอนหนังสือในรัฐฉาน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อีกมากเพื่อกลับเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานแก่คนไทใหญ่ในรัฐฉาน เพราะไม่มีใครดูแลพวกเขาทางด้านการแพทย์ ตอนนี้ดอยไตแลงเป็นที่ผลิตบุคลากรเพื่อเข้าไปทำงานไปดูแลประชาชนในรัฐฉานทุกด้าน ที่นี่เป็นที่เตรียมคนหากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด ๆ ตามมา และเราก็เห็นว่าดอยไตแลงทำได้ผล เด็กดอยไตแลงมีคุณภาพสูงทางการศึกษา เขากล้าและมีความมั่นใจ ความกล้าแสดงออกมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเด็กกำพร้าบาดเจ็บทางจิตใจ การเยียวยาของที่นี่ทำให้เขาดีขึ้น สดชื่นขึ้น อย่างจายตานี่ชัดเจนเลย ๖-๗ ปีก่อนเขามีแต่ความทรงจำเลวร้าย แววตากร้าวกระด้าง ไม่รู้จักความอ่อนโยน ตั้งใจแต่จะจับปืนไปฆ่าพม่า ตอนนี้ดีขึ้น ยิ้มเป็น กล้าพูด กล้าแสดงออก และอ่อนโยน ดูแลน้อง ๆ เด็กกำพร้าเขารักกัน แบ่งเวรยามดูแลเด็กเล็ก หัดปกครองกันเอง เป็นญาติกันเอง เพราะเขาไม่มีครอบครัวที่ไหน”

..............................................


การแสดงของคนไทใหญ่ในงานพิธีบนยอดดอย ทั้งดนตรี การร่ายรำ จะเน้นประเด็นการรวมชาติ กู้ชาติ ในภาพเป็นการแสดงที่เล่าถึงการเกิดขึ้นของธงชาติไทใหญ่ หลังหลุดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ


หมอกบางยังลอยอ้อยอิ่งปกคลุมยอดดอยไตแลงเหมือนวันอื่น ๆ ที่ผ่านมา ขณะแดดอ่อนสีทองเริ่มฉายผ่านกลางละอองหมอก ไอแดดอุ่นค่อย ๆ ขับไล่ความหนาวเยือกเย็นและหมอกมัวให้สลายไปทีละน้อย เสียงกลองดังตุ๊ม ๆ ๆ ๆ กังวานทั่วยอดดอย เด็ก ๆ เตรียมซ้อมตีกลอง รำดาบ ฟ้อนนก ฟ้อน (สิง) โต พันเอกเจ้ายอดศึกตอบคำถามของนักเขียนสารคดีขี้สงสัยอย่างอดทนอีกครั้ง กับข้อกังขาที่ว่า “กองทัพลำบากขนาดนี้ เงินเดือนทหารยังแทบไม่ค่อยมี ทำไมยังจัดงานฉลองตามประเพณีของไทใหญ่กันอยู่ไม่เลิกรา ?”

“ดอยไตแลงไม่ใช่แค่ที่ฝึกทหาร หรือเป็นแค่หมู่บ้านทหาร” พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำสูงสุดของชุมชนแห่งนี้ให้คำอธิบายถึงความมุ่งมั่นของกองทัพกู้ชาติไทใหญ่อย่างชัดแจ้ง โดยกล่าวถึงการเปิดโรงเรียนสอนเด็กไทใหญ่บนยอดดอย การพยายามพัฒนาดอยไตแลงให้เป็นศูนย์กลางในการสืบต่อภาษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ และจิตวิญญาณรักชาติของเยาวชนไทใหญ่ว่า “เราจัดงานเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และรู้จักประเพณีของไทใหญ่ วัฒนธรรมไทใหญ่เป็นสายเลือดของประชาชน หากกู้ชาติได้แต่แผ่นดินกลับคืนมา แต่วัฒนธรรมถูกทำลายหมดสิ้น คนไทใหญ่ไม่รู้จัก ไม่มีวัฒนธรรมของตนเอง ไม่เหลือความเป็นไทใหญ่อยู่ในหัวใจเด็กของเรา มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร”
 





This article comes from Sarakadee สารคดี
http://www.sarakadee.com/web

The URL for this story is:
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=734

โพสต์โดยสมาชิกหมายเลข 3113 วันที่ 19 พ.ค. 2552


"ใบอนุญาตข่มขืน"ทารุณกรรมทางเพศ.. เหตุเกิดในโลกใบนี้......

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

แบบว่า...ฝรั่งดอง..

แบบว่า...ฝรั่งดอง..


เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง
อาหารตา

อาหารตา


เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง
"จิตอาสา"หรือ "อาสาสมัคร"

"จิตอาสา"หรือ "อาสาสมัคร"


เปิดอ่าน 7,414 ครั้ง
แนวทางแห่งการแก้ปัญหา....

แนวทางแห่งการแก้ปัญหา....


เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง
Mind mapping

Mind mapping


เปิดอ่าน 7,402 ครั้ง
ข้อคิดดีๆ ....ก่อนคิดจะหึง

ข้อคิดดีๆ ....ก่อนคิดจะหึง


เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ชื่นชมจ่านกร้อง(อีกครั้ง) เสียดายครับถ้าจะยุบวง

ชื่นชมจ่านกร้อง(อีกครั้ง) เสียดายครับถ้าจะยุบวง

เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
คนดีกับคนโง่...สุดท้ายก้อไม่ได้ต่างกันเลย
คนดีกับคนโง่...สุดท้ายก้อไม่ได้ต่างกันเลย
เปิดอ่าน 7,157 ☕ คลิกอ่านเลย

เคล็ดลับพอกหน้าสวยใส....
เคล็ดลับพอกหน้าสวยใส....
เปิดอ่าน 7,140 ☕ คลิกอ่านเลย

นาตาลี คลุ้มครั่ง!!!
นาตาลี คลุ้มครั่ง!!!
เปิดอ่าน 7,147 ☕ คลิกอ่านเลย

วิธีขจัดรอยไหม้ บนเตารีด.........
วิธีขจัดรอยไหม้ บนเตารีด.........
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย

เมื่อแฟนผมให้ผมไปออกเดทกับหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่เธอ
เมื่อแฟนผมให้ผมไปออกเดทกับหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่เธอ
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย

Thunderbirds วิหคสายฟ้า โชว์บินผาดแผลง 10 ต.ค.นี้ ที่ดอนเมือง
Thunderbirds วิหคสายฟ้า โชว์บินผาดแผลง 10 ต.ค.นี้ ที่ดอนเมือง
เปิดอ่าน 7,137 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

กินแคลเซียมป้องกันโรคกระดูกผุ กลับไปเสี่ยงให้เกิดหัวใจวายขึ้น
กินแคลเซียมป้องกันโรคกระดูกผุ กลับไปเสี่ยงให้เกิดหัวใจวายขึ้น
เปิดอ่าน 11,316 ครั้ง

ประเภทของระบบสารสนเทศ
ประเภทของระบบสารสนเทศ
เปิดอ่าน 100,476 ครั้ง

มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก
เปิดอ่าน 11,199 ครั้ง

พิกเซล (Pixel)
พิกเซล (Pixel)
เปิดอ่าน 3,682 ครั้ง

วิธีการปลอกเปลือกไข่ต้มที่สมบูรณ์แบบและรวดเร็วที่สุด
วิธีการปลอกเปลือกไข่ต้มที่สมบูรณ์แบบและรวดเร็วที่สุด
เปิดอ่าน 12,564 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ