กฎหลักของ "มารยาทเน็ต" (2)
|
หมายเหตุ : ดัดแปลงจาก http://www.albion.com/netiquette/corerules.html คัดลอกมาจากหนังสือ มารยาทเน็ต (Netiquette) โดย เวอร์จิเนีย เชีย แปลและเรียบเรียง โดย สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต (http://thainetizen.org) ในการเสวนากล้วยน้ำไทวิชาการ หัวข้อ "กติกาพลเมืองชาวเน็ต" จากแนวปฏิบัติสู่จารีตประเพณีจนถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษร เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท
กฎข้อที่สาม รู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนในไซเบอร์สเปซ
มารยาทเน็ตในแต่ละ "พื้นที่" ไม่เหมือนกัน
การกระทำอะไรก็ตามอาจเป็นเรื่องยอมรับได้ในที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะไม่ใช่ เช่น คุณอาจซุบซิบนินทาไร้สาระได้เวลาโพสต์กระทู้เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ แต่ถ้าเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีมูลในเมลลิสต์ของนักข่าว คุณก็จะเป็นคนที่ไม่มีใครชอบหน้าเอามากๆ
เนื่องจากมารยาทเน็ตในแต่ละที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน ดังนั้นกฎที่ตามมาคือ .... ซุ่มก่อนร่วมวง
เมื่อคุณเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ที่นั่นถือเป็นที่ใหม่สำหรับคุณ ดังนั้น ลองใช้เวลาสักพักสังเกตการณ์ก่อนว่า ที่นั่นเขาคุยอะไรกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือเข้าไปอ่านข้อความเก่าๆ จากนั้นค่อยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเขา
กฎข้อที่สี่ เคารพเวลาและการใช้แบนด์วิธ
คนปัจจุบันดูเหมือนจะมีเวลาน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมามากนัก แม้ว่า (หรืออาจจะเพราะ) เรานอนน้อยลง และยังมีเครื่องมือทุ่นแรงมากขึ้นกว่าคนรุ่นปู่รุ่นพ่อเคยมี เมื่อคุณส่งอี-เมล โพสต์ข้อความลงอินเตอร์เน็ต รู้ไว้ว่าคุณกำลังทำให้คนอื่นเสียเวลามาอ่าน ดังนั้นเป็นความรับผิดชอบที่คุณควรแน่ใจก่อนส่ง ว่าข้อความหรืออี-เมลนั้นไม่ทำให้ผู้รับเสียเวลา
คำว่า "แบนด์วิธ" (bandwidth) บางครั้งมีความหมายพ้องกับเวลา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นคนละเรื่องกัน แบนด์วิธคือความจุของข้อมูลของสายไฟและช่องทางที่เชื่อมต่อทุกคนในโลกไซเบอร์สเปซ
ข้อมูลที่สายไฟรับได้นั้น มีปริมาณจำกัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ แม้ว่าจะส่งผ่านสายไฟเบอร์ออฟติกที่ไฮเทคที่สุดก็ตาม คำว่า "แบนด์วิธ" บางครั้งก็หมายถึงความจุของระบบโฮสต์ เมื่อคุณโพสต์ข้อความเดียวกันในกลุ่มข่าวเดียวกัน 5 ครั้ง คุณกำลังทำให้เสียเวลา (ของคนที่เข้าไปเปิดอ่านทั้ง 5 ข้อความ) และเปลืองแบนด์วิธ (เพราะข้อมูลที่ซ้ำกันทั้งหมดนั้นต้องเก็บไว้ที่ไหนสักแห่ง)
คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของไซเบอร์สเปซ
บางทีคำเตือนข้อนี้อาจจะดูไม่จำเป็นสำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ แต่ฉันยังคิดว่าควรต้องพูดถึง เพราะยิ่งเมื่อคุณกำลังทำรายงานหรือโปรเจ็คต์และกำลังคลุกคลีตีโมงกับมันอย่างหนัก คุณอาจจะลืมคิดไปว่า คนอื่นมีเรื่องอื่นที่ต้องทำนอกเรื่องของคุณ ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าคำถามทุกคำถามของคุณจะได้รับคำตอบในทันทีทันใด และอย่าทึกทักเอาเองว่าผู้อ่านทุกคนจะต้องเห็นด้วย หรือสนใจข้อโต้แย้งที่กระตือรือร้นของคุณ
กฎสำหรับกระดานสนทนา (discussion group)
กฎข้อสี่นี้มีนัยสำหรับผู้ใช้กระดานสนทนาหรือ discussion group ผู้ที่เข้ามาอ่านกระดานแบบนี้ส่วนใหญ่นั่งแช่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปอยู่แล้ว นานจนครอบครัวเพื่อนฝูงต้องนั่งเคาะนิ้วรอว่าเมื่อไหร่ถึงจะมากินข้าวสักที ในขณะที่ผู้ใช้เหล่านี้กำลังติดตามวิธีใหม่ล่าสุดในการฝึกลูกสุนัขสูตรทำหมูย่างจิ้มแจ่วในกระดานบนอินเตอร์เน็ต
นอกจากนั้น โปรแกรมรายการข่าวหลายโปรแกรมก็ทำงานได้ช้ามาก และผู้อ่านยังต้องตะลุยอ่านหัวข้อทั้งหมด กว่าที่จะไปถึงเนื้อความจริงๆ ไม่มีใครชอบหรอกถ้าต้องเสียเวลาทำทั้งหมดนั้นแล้วพบว่า มันไม่เห็นจะคุ้มค่าเวลาที่เสียไปเลย
ควรส่งอี-เมลหรือข้อความไปให้ใครบ้าง?
ในอดีต คนคัดลอกเอกสารโดยใช้กระดาษคาร์บอน ซึ่งอย่างมากก็ทำสำเนาได้แค่ 5 ครั้ง ดังนั้นเมื่อคุณจะส่งสำเนา 5 ครั้ง คุณจึงต้องคิดอย่างหนัก แต่ปัจจุบันการคัดลอกข้อความและส่งต่อให้คนอื่น (CC ในอี-เมล) นั้นทำได้ง่ายดาย บางครั้งเราลอกอี-เมลส่งต่อกันจนเป็นนิสัย โดยทั่วไป นี่ถือเป็นเรื่องไร้มารยาท
วันนี้คนมีเวลาน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะพวกเขามีข้อมูลต้องรับรู้มากมาย ดังนั้นก่อนจะส่งเมลต่อไปให้ใคร ลองถามตัวเองดูก่อนว่าเขาจำเป็นจะต้องรู้เรื่องในอี-เมลนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็อย่าส่ง ถ้าอาจจะอยากรู้ ก็ทบทวนทีก่อนส่ง
ขอบคุณ มติขนออนไลน์ (19/5/09) ครับ