วันแม่แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์ที่ใช้ในวันแม่คือ ดอกมะลิ ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
งานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
ดอกมะลิ ดอกไม้สัญลักษณ์วันเเม่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
การประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ และประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ การแสดง การประกวดต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล
นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่
วันที่ 12 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเป็น “วันแม่แห่งชาติ” โดยในปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานคำขวัญวันแม่แห่งชาติ ปี 2551 อัญเชิญลงหนังสือวันแม่แห่งชาติ ปี 2551 ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า “เมื่อเกิดมาอาศัยถิ่นแผ่นดินไหน ควรมีใจกตัญญูรู้คุณถิ่น หากคนไทยรู้ตอบแทนคุณแผ่นดิน จักไม่มีวันสิ้นแผ่นดินไทย”