จากบล็อกเมื่อความไร้ระเบียบมาเยือน ทำให้ผมนึกถึงกรณีตัวอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจว่า บางครั้ง การรู้จักแต่ทวงสิทธิเพียงอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักให้สิทธิเสียบ้าง ทำให้เราต้องเสียมากกว่าที่ควรเป็น
เรื่องเริ่มตรงถนนประตูทางออกหน้ามหาวิทยาลัย
เป็นภาพถนนกาญจนวนิชกับถนนที่ออกจากมหาวิทยาลัย แถบสีดำคือเกาะกลางถนน ในสภาพที่ไม่มีรถ ทุกอย่างโล่งตลอด
แต่ลองดูภาพเดียวกันในชั่วโมงเร่งด่วน
ภาพนี้ เป็นตัวอย่างว่า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทุกคน รู้จักแต่ทวงสิทธิ แต่ไม่รู้จักให้
อันที่จริง ด้วยการให้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาวะตีบตันนี้จะหายไปทันที
ดูออกแล้วใช่ไหมครับ ว่า ใคร ควรให้ ใคร ?
ลองดูที่รถคันสีเหลืองที่กำลังจะเลี้ยวเข้าปั๊มนะครับ รถคันนี้ กำลังรอน้ำใจเล็กน้อยที่รถสีน้ำเงินตรงแยกเข้าปั๊ม-ร้านยา จะเอื้อเฟื้อให้
ถ้ารถที่กำลังเลี้ยวเข้ามหาวิทยาลัย รู้จักหยุดรอให้รถสีเหลืองตัดหน้าไปบ้างตามควรในภาวะที่รถติด - รู้จักให้สิทธิเสียบ้าง ไม่ใช่ทวงสิทธิเก่งอย่างเดียว - (ดูที่รถสีเขียวอ่อน) สิ่งจะเกิดขึ้นก็คือ โอกาสเกิดภาวะตีบตัน จะลดลงไปมาก เพราะเริ่มเกิดช่องว่างสำหรับการขยับขยาย เพราะรถเหลืองหายไปบางส่วน ทำให้เกิดการไหลเวียนแทนที่ เป็นการคลายล็อค
ในภาวะที่รถไม่ติด แน่นอนว่ารถที่กำลังขับเข้ามหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องให้ทางรถทางโทที่กำลังจะเลี้ยวตัดเลนเข้าปั๊ม เพราะกลายเป็นการทำตัวไม่อยู่ในวิสัยที่ควรเป็น รถที่ขับมาตามหลังคงไม่คาดว่าจะเห็นการจอดปุบปับให้รถทางโทไปก่อน ทั้งที่ถนนโล่งหมด และคงเสยท้าย
การเอื้อเฟื้อที่ว่า จึงเป็นการเอื้อเฟื้อในภาวะที่เห็นอยู่ว่า กำลังใกล้เกิดภาวะอุดตันของกระแสไหลเวียนของรถ เอื้อเฟื้อเพื่อสร้างช่องว่างให้เกิดการระบายออกไปจากระบบ ซึ่งก็จะหมุมเวียนกลับมาให้ตัวเองสามารถเคลื่อนต่อไปได้สะดวก
ถ้าใครเคยเข้าไปเห็นตรงจุดที่รถติดตายที่ขยับไม่ออก คงจะนึกออกว่า ถ้ามองฉาบฉวย คือเพราะไม่มีที่ว่างเหลืออยู่ มองให้ลึกลงไป คือไม่มีความเอื้อเฟื้อเหลืออยู่