Advertisement
|
ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง |
|
ในพระธรรมบทพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง แล้วอย่างไรบ้างจึงเรียกว่า "ธรรมทาน"
ทานกุศลแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ 1. อามิสทาน 2.ธรรมทานและอภัยทาน
อย่างไรจึงเรียกว่า ธรรมทาน ?
ปฏิบัติธรรมเองเพื่อชำระกิเลสออกจากกาย วาจา ใจของตนเอง ตั้งตนอยู่ในคุณความดี เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เรียกว่าแจกธรรมะ ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้ที่ดำเนินชีวิตประจำวันพูดแต่คำพูดไม่ดี ทำแต่กรรมที่ไม่ดี คิดแต่ความคิดที่ไม่ดีมาตลอด ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างที่เลวแก่ผู้อื่น ชื่อว่าแจกอธรรม
ธรรมทานต้องปฏิบัติเองเพื่อละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส เพื่อชำระกิเลสหยาบ กลาง และละเอียดๆ ยิ่งขึ้นไปถึงวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์แห่งใจ แล้วจึงจะพบสันติสงบ และจะถึงนิพพานคือความดับกิเลสไม่มีเหลือ
จะถึงนิพพานต้องเป็นลำดับจนถึงที่สุดอย่างถาวรนี่เรียกว่าธรรมทาน
เบื้องต้นเป็นปฐมคือทำความดี ละชั่ว ทำใจให้ใสเองทั้งหมด และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น แล้วยังให้การแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่น ให้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรม พระวินัย และสนับสนุนอุปการะแก่ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นนั้นของบุคค หรือคณะบุคคล ผู้ที่กำลังเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลสแห่งทุกข์นั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ตรงนี้ก็ยิ่งด้วยธรรมทานไปอีก
อย่างไรเรียก อภัยทาน ?
ก็เมื่อบุคคลเจริญธรรมขึ้นด้วยทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล เพื่อละชั่ว ทำดี ฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องใสและอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเพียงใด ความเข้าใจ ความซึ้งใจในบาปบุญคุณโทษก็เจริญมากขึ้น
และพรหมวิหารธรรมอันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เจริญขึ้นเป็นบุญบารมี เป็นเมตตาบารมี และ อุเบกขาบารมี อุปบารมี และ ปรมัตถบารมียิ่งขึ้นเพียงนั้น
ความเห็นอกเห็นใจเข้าใจในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสัตว์โลกผู้ยังมีจักษุอันมืดบอดด้วยความหลงผิด จึงคิดผิด พูดผิด ทำผิดๆ ในเราก็มีมากขึ้น ความรักปรารถนาให้สัตว์โลกเป็นสุขด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม และความเวทนาสงสารปรารถนาให้สัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ด้วยกรุณา พรหมวิหารธรรม แม้จะถูกกร้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน และถูกก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนมาแล้วมาก จากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเพียงใด ย่อมไม่ติดใจโกรธพยาบาทยิ่งขึ้น และสามารถอดทน อดกลั้นต่อความก้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน ความเบียดเบียนจากสัตว์โลกทั้งหลายผู้ล่วงเกิน และผู้เบียดเบียนโดยรอบทั้งหลายเหล่านั้น ได้มากขึ้นเพียงนั้น จนถึงวางใจเป็นอุเบกขาไม่ยินดี ยินร้ายได้มั่นคง นี้ชื่อว่า อภัยทาน จัดเป็นทานอันเยี่ยมยอดไปอีก
ธรรมทาน คืออะไร
ธรรมทาน คือ การให้คำแนะนำสั่งสอนสิ่งที่ดี บอกศิลปวิทยาที่ดีที่มีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เป็นเหตุให้มีความสุข รวมถึงการอธิบายให้รู้และเข้าใจในเรื่องบุญบาป ให้ละสิ่งที่เป็นอกุศล ดำรงตนอยู่ในทางกุศล ซึ่งจะนำพาตนให้สะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้
ประเภทของธรรมทาน
ธรรมทาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วิทยาทาน และ อภัยทาน
1. วิทยาทาน
วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ ยังแบ่งออกได้อีกเป็นวิทยาทานทางโลก และวิทยาทานทางธรรม
วิทยาทานทางโลก คือ การสั่งสอนให้เกิดความรู้ความสามารถในเชิงศิลปวิทยาการ เพื่อนำไปประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงชีวิต และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยความสะดวกสบายทุกอย่าง ดังนั้นทางพระพุทธศาสนาได้จัดความรู้ว่าเป็นขุมทรัพย์อย่างหนึ่ง ชื่อ องฺคสมนิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์ติดตัวได้ บุคคลผู้มีความรู้ดี จึงเปรียบได้ว่ามีขุมทรัพย์ติดตัวไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เชื่อมั่นได้ ว่าจะสามารถใช้ปัญญารักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้แน่นอน
วิทยาทานทางธรรม (จัดเป็นธรรมทานแท้) คือ การให้ความรู้ที่เป็นธรรมะนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ด้วยเหตุที่ว่า การดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั้น ถ้าขาดเสียซึ่งหลักธรรม ชีวิตก็จะพบแต่ความทุกข์ เดือดร้อน ผิดหวังตลอดไป ต่อเมื่อได้ยินได้ฟังธรรม และนำมาประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม ย่อมเกิดความเจริญงอกงามในชีวิตของตน ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ในที่สุดก็ทำให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้
การให้คำสอนที่ถูกต้องที่เป็นธรรมะนั้น เปรียบได้กับการให้ขุมทรัพย์ที่เป็นอมตะติดตัวไว้ หรือให้ประทีปแสงสว่างที่คอยติดตามไป ดังนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่า การให้ธรรมทาน เปรียบเหมือนการให้ ขุมทรัพย์ หรือประทีปที่จะเป็นเครื่องส่องทางชีวิต ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องดีงาม นำชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญ
และเมื่อยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำ มีชีวิตที่ดีงาม ได้เกิดในสุคติภพ เมื่ออบรมบ่มบารมีแก่กล้าแล้ว ย่อมสละละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง เข้าถึงพระนิพพานได้ เพราะเหตุนี้ พระผู้มี-พระภาคเจ้าจึงตรัสว่า การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง
2. อภัยทาน
อภัยทาน คือ การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีภัยแก่ตนและผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธเคืองในการ ล่วงเกินของผู้อื่น ไม่มีเวร ไม่ผูกเวรกับผู้ใด ทั้งยังมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นนิตย์
การให้อภัย เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เป็นการให้ที่ง่าย แต่ที่บางคนทำได้ยาก เพราะมีกิเลสอยู่ในใจ ต้องอาศัยการฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เห็นคุณ ประโยชน์ของการให้อภัย แล้วจะให้อภัยได้ง่ายขึ้น
หากมองเผินๆ จะดูเหมือนว่าการให้อภัยเป็นการให้ประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุขสบายใจ แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์สุขมากที่สุดก็คือตนเอง เพราะทุกครั้งที่ให้อภัยได้ จะรู้สึกปลอดโปร่ง เบากายเบาใจ สดชื่นแจ่มใส มีความสุข
นอกจากนี้ การช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในอันตรายให้ปลอดภัย หรือพ้นจากอันตรายนั้นได้ เช่น การช่วยปล่อยสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่าให้พ้นจากการถูกฆ่า ดังประเพณีปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ก็นับว่าเป็นอภัย ทานเช่นกัน เพราะได้ให้ความไม่มีภัย ให้ความเป็นอิสระแก่สัตว์เหล่านั้น
การให้ความปลอดภัย ให้ความไม่มีเวรไม่มีภัยแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการไม่เบียดเบียน จัดเป็น การให้ที่สูงขึ้นไปอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า มหาทาน ซึ่งท่านจัดไว้ในเรื่องศีล
ส่วนการให้อภัย คือ ทำตนเป็นผู้ไม่มีภัยกับตนเอง ใครที่สามารถสละภัย คือโทสะออกจากใจได้ มีจิตใจสงบ สะอาด จิตจะประกอบไปด้วยเมตตา เมื่อทำไปแล้วถึงระดับหนึ่ง จัดว่าเป็นการภาวนา ที่ เรียกว่า เมตตาภาวนา ซึ่งมีอานิสงส์สูงยิ่ง
อานิสงส์ของธรรมทาน
ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก ดังที่มีการพรรณนาคุณไว้ในอรรถกถาธรรมบท 1 ว่า
แม้ทายกจะถวายจีวรอย่างดีที่สุดแด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ที่นั่งติดๆ กันเต็มห้องจักรวาลนี้ ก็ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าการอนุโมทนาของพระพุทธเจ้า ด้วยพระคาถาเพียง 4 บาท และจีวรทานนั้นมีค่าไม่ถึงเศษส่วน 16 แห่งพระคาถาที่พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา
แม้ทายกจะถวายโภชนะข้าวสาลี กอปรด้วยสูปะพยัญชนะ (แกงและกับข้าว) อันประณีต เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้าก็ดี จะถวายเภสัชทาน มี เนยใส เนยเหลว น้ำผึ้ง เป็นต้น ให้เต็มบาตรพระพุทธเจ้า ที่นั่งติดๆ เต็มห้องจักรวาลก็ดี ยังมีอานิสงส์น้อยกว่าธรรมทานที่พระพุทธเจ้าอนุโมทนาด้วยพระคาถาเพียง 4 บาท
จักไม่กล่าวคำที่กระทบตนและผู้อื่น คือไม่แสดงธรรมโดยยกความดีของตัวเองเพื่อโอ้อวด หรือ ยกความผิดพลาดหรือจุดด้อยของคนอื่นขึ้นมาเป็นเหตุเพื่อประจานความผิด หรือกล่าวล้อเลียนเขา ต้อง กล่าวมุ่งอธิบายธรรมะจริงๆ และหากต้องยกตัวอย่างประกอบในการอธิบายเพื่อความเข้าใจในธรรมนั้น ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้อื่นเสียหายได้
ผู้ที่จะให้ธรรมทาน พึงตั้งอยู่ในองค์คุณดังกล่าวมานี้ จะยังประโยชน์ใหญ่ อานิสงส์ยิ่งใหญ่ให้เกิด ขึ้นกับผู้แสดงธรรมได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผู้แสดงธรรมได้บุญกุศลมหาศาล ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส สรรเสริญว่า บุคคลให้ธรรมเป็นทาน โดยไม่ปรารถนาลาภสักการะ ย่อมมีอานิสงส์ประมาณมิได้
ที่มา http://board.palungjit.com/
|
|
วันที่ 17 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,783 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,154 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,184 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,144 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,145 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,195 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,376 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 13,768 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,284 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,675 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,064 ครั้ง |
เปิดอ่าน 51,890 ครั้ง |
|
|