จระเข้(crocodile) คำๆนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 290 อธิบายความหมายเอาไว้ว่า “จระเข้(จอระ-) น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในวงศ์ Crocodylidae อาศัยบริเวณปากน้ำ หนังเป็นเกล็ดแข็งปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูกเรียกว่า ก้อนขี้หมา หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ มักหากินในน้ำ ในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ
1.จระเข้บึง จระเข้น้ำจืด หรือจระเข้สยาม(crocodylus siamensis)
2.จระเข้อ้ายเคี่ยม หรือจระเข้น้ำเค็ม(c. porosus)
3.จระเข้ปากกระทุงเหว หรือตะโขง (tomistoma schlegelii) ,ตะเข้ หรือ อ้ายเข้ ก็เรียก,อีสานเรียก แข้,ปักษ์ใต้เรียก เข้”
สวนสัตว์สงขลา อธิบายความหมายและรูปลักษณะของจระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้อ้ายเคี่ยม ว่า “จระเข้น้ำเค็ม ชื่อสามัญ salt-water crocodile ส่วนชื่อ วิทยาศาสตร์ของจระเข้น้ำเค็มเรียกว่า crocodylus porosus ปากมีลักษณะเรียวยาวไม่มีเกล็ด 4 เกล็ดบนท้ายทอย ขนาดยาวเฉลี่ยประมาณ 5.50 เมตร น้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม สีลำตัวค่อนไปทางสีเหลืองอ่อน มีนิสัยดุร้ายและเป็นอันตรายต่อคน
จัดเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หากโตเต็มที่จะยาวประมาณ 9 เมตร ถิ่นอาศัยบริเวณน้ำ กร่อยแถวปากแม่น้ำ ป่าชายเลนซึ่งเป็นน้ำนิ่งและลึกพอประมาณ พบกระจายตั้งแต่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนอาหารของจระเข้น้ำเค็มคือ จระเข้ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า สมเสร็จ เป็นต้น”
จระเข้ คือสัตว์ขนาดกลาง เป็นสัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนไทยเราทุกยุคทุกสมัยรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจระเข้ร้ายที่ชื่อ “ชาละวัน” อันเป็นตัว เด่นในเรื่อง “ไกรทอง” ซึ่งชาละวันนี้เองเป็นจระเข้ที่สามารถแปลงกายให้เป็นคนก็ได้ จัดเป็นจระเข้เจ้าที่ฤทธิ์มาก
แต่ถึงจะมีฤทธิ์มากอย่างไรเสียก็มาพ่ายแพ้ให้แก่ความ เก่งกล้าสามารถของ “ไกรทอง” หมอจระเข้หนุ่มฝีมือดีเมืองพิจิตรอันเป็นพระเอกในเรื่อง นอกจากชาละวันแล้วจระเข้ที่มีผู้นิยมกล่าวถึงมากอีกตัวหนึ่งก็คือ “ไอ้ด่างเกยชัย” หรือ “ไอ้ด่างคลองบางมุด” อันเป็นจระเข้ขนาดยักษ์ ออกอาละวาดไล่กัดกินคนเป็นอาหารในช่วงปี พ.ศ.2507 ในพื้นที่คุ้งน้ำละแวกคลองบางมุด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ไอ้ด่างคลองบางมุดเป็นจระเข้ที่ชาญฉลาดมันรู้ว่าเมื่อไรควรออกล่าและเมื่อไรควรหลบหนี ชาวบ้านคลองบางมุดถึงกับขนานนามให้มันว่า “จระเข้ปีศาจ” หรือ “จระเข้ผีสิง” เลยทีเดียว
ในหนังสือ “ชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด” ของ “ตัณติมา ประภาวิชัย” หน้า 78-81 ได้กล่าวอ้างถึงนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เมริกัน ว่า “เมริกันได้กล่าวว่าจำพวกจระเข้มีด้วยกัน 6 ชนิดคือ
1.อัลลิกาเตอร์(alligator)
2.ไกมัน(caiman)
3.โกรโกได ลัส(crocodiles)
4.โอสติโอเลมัส(osteolemus)
5.กาไวเอลิส(cavialis)
6.โตมิสโตมา(tomistoma)
จระเข้ในเมืองไทยเป็นแบบโกรโกได เนื่องด้วยมีความยาวของกระดูกกรามได้ 1 เท่าครึ่ง ขนาดกว้างของต้นกรามประเภทหนี่ง และอีกประการหนึ่งนั้นเขี้ยวยาวของมันพ้น ขึ้นไปเหนือกรามข้างบน โดยเฉพาะจระเข้ที่อาศัยอยู่ตามปากน้ำรอยต่อของทะเลจะมีขนาดใหญ่ที่สุดคือยาวถึง 20 ฟุตเลยทีเดียว”
ทวด(tuad) หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งชาวไทยถิ่นใต้และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอันเรียกตนเองว่า “ไทยสยาม” ให้ความเคารพนับถือเป็นประหนึ่งผีบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันนำมาสู่ความเจริญงอกงาม
ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้พุทธศักราช 2525 หน้า165 ได้ให้ความหมายของคำว่าทวดว่า “ทวด หมายถึง
1.พ่อ แม่ ของปู่ ย่า ตา ยาย,บรรพบุรุษ หรือผู้ มีบุญวาสนาที่ล่วงลับไปแล้ว
2.สัตว์ที่มีอายุมาก ตัวใหญ่ หรือมีลักษณะพิเศษเชื่อว่าเป็นพญาสัตว์ ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น จระเข้ทวด งูทวด ช้างทวด เสือทวด เป็นต้น” นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง “ศึกษาพัง ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา” หน้า 64 ของ “ทรงพรรณ สังฆะโต” ยังได้ อธิบายความหมายของคำว่าทวดไว้เพิ่มเติมว่า “ทวด หมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อถือ เช่น ภูติผีปีศาจ
เทวดา โดยมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะสามารถดลบันดาลให้เกิดความสุขหรือทุกข์ภัยแก่มนุษย์ได้หากผู้ใดปฏิบัติได้ถูกต้อง ความเคารพต่อสิ่งที่ตนเองนับถือก็จะ เกิดผลดี แต่หากผู้ใดดูหมิ่นหรือล่วงละเมิดก็จะดลบันดาลให้เกิดผลร้าย”
“ทวดจระเข้” หรือ “จระเข้ทวด” จัดเป็นทวดในอีกรูปลักษณะหนึ่ง เป็นประเภททวดครึ่งเทวดาครึ่งสัตว์ ซึ่งในคติทางความเชื่อในแบบไทยถิ่นใต้ล้วน เชื่อกันว่าเป็น
“จระเข้ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “เข้เจ้า” (จระเข้เจ้า) อันมีดวงวิญญาณของบรรพชนสถิตอยู่ มีอำนาจที่จะสามารถให้คุณแก่ผู้ทำการสักการบูชาและให้โทษแก่ผู้ทำการลบหลู่ดูหมิ่นได้ เป็นต้น
รูปลักษณะของทวดจระเข้
จากคำเล่าลือรวมถึงตำนานชาวบ้านเล่าปากต่อปากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ทวดจระเข้มีลักษณะเป็นจระเข้ใหญ่ มีดวงตาเป็นสีแดงสุก หากได้จ้องมองในยามค่ำ คืนจะดูคล้ายเปลวไฟสองดวงลุกไหม้แลดูน่าเกรงขาม
ทวดจระเข้มีลักษณะของส่วนลำตัวที่ใหญ่และยาวมากตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวเลในจังหวัดสงขลาว่า ทวด หัวเขาแดง ที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่นั้นมีลักษณะที่ใหญ่มากพอๆกับเรือหาปลา
แต่ครั้งพอจ้องมองดูไปนานๆเข้าทวดก็จะหายไปกับความมืด นอกจากนี้ในตำนาน ของทวดเรียม หรือทวดคลองนางเรียมซึ่งเป็นทวดที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกันนั้นก็ปรากฏว่าเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่มากโดยมีความยาวจากหัวจรด ปลายหางเท่ากับความกว้างของคลองนางเรียมพอดี
จึงพอสรุปได้ว่ารูปลักษณะของทวดจระเข้นั้นจะมี 2 สิ่งที่แตกต่างจากจระเข้โดยทั่วไปคือ
1.ทวดจระเข้มีขนาดใหญ่กว่าจระเข้ในแบบธรรมดามาก
2.ทวดจระเข้มีดวงตาเป็นสีแดงสุกคล้ายเปลวไฟลุกไหม้
อายุของทวดจระเข้
ในเรื่องอายุของทวดจระเข้หรือจระเข้ทวดนี้ดูจะคล้ายๆกันกับงูทวดกล่าวคือ เนื่องด้วยชาวไทยถิ่นใต้ล้วนมีคติทางความเชื่อว่าเมื่อเกิดเป็นทวดจระเข้ แล้วก็จะดำรงคงเป็นทวดจระเข้ตลอดไป
ดวงวิญญาณไม่มีวันดับสลายหรือแตกสลายหายไปแต่ประการใด อายุของทวดจระเข้ก็จะเพิ่มทวีขึ้นไปเรื่อยๆไม่มีวันแตกดับและยัง คงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยถิ่นใต้ให้ความเคารพสักการบูชาเรื่อยมาจวบจนยุคปัจจุบัน
ถิ่นที่อยู่ของทวดจระเข้
สำหรับในเรื่องถิ่นที่อยู่หรือที่สถิตของทวดจระเข้นี้ก็ปรากฏเป็นคติทางความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
เชื่อว่าทวดหัวเขาแดง สถิตอยู่ในบริเวณทะเลปากน้ำเมืองสงขลา
ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดคลองนางเรียม สถิตอยู่ในบริเวณคลองนางเรียม
ชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดแหลมจาก สถิตอยู่ในบริเวณถ้ำใหญ่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 อันถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์
ชาวบ้านบริเวณควนท่าข้าม หรือ ควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อว่าทวดท่าข้าม หรือ พญาท่าข้าม สถิตอยู่ในบริเวณควนท่าข้าม และในแม่น้ำตาปี หรือ แม่น้ำหลวง เป็นต้น
ทวดจระเข้ อำนาจความศักดิ์สิทธิ์และการบวงสรวงบูชา
เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่นใต้ว่าการบูชาทวดจระเข้จะก่อให้เกิดโชคลาภนานับประการ อาทิ คนที่มีอาชีพหาของป่าหากบูชาทวดจระเข้ก็เชื่อว่าจะทำให้หา ของป่าได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม คนที่ออกทะเลหาปลาหากบูชาทวดจระเข้ก็จะทำให้สามารถหาปลาได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทวด จระเข้จะช่วยคุ้มครองและปกป้องให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆนานารอบด้าน ส่วนการบวงสรวงบูชาทวดจระเข้นั้นก็มีความเชื่อที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้างออกไปใน แต่ละพื้นที่ กล่าวคือ
ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จะทำกรบวงสรวงบูชาทวดหัวเขาแดงด้วยการลอยหมากพลู หรือจุดประทัด
ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำการบวงสรวงบูชาทวดคลองนางเรียมด้วยการลอยหมากพลูลงในคลองนางเรียม แต่ไม่ปรากฏ ว่ามีการจุดประทัดแต่ประการใด
ส่วนการบูชาทวดจระเข้ในสถานที่อื่นๆนิยมการตั้งเครื่องเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน หมากพลู ข้างตอกดอกไม้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคลไป
ตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้
ตำนาน(legend) หมายถึงเรื่องราวอันมีมานมนานและเล่าขานสืบทอดต่อๆกันมาโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเข้าทำนองประวัติศาสตร์ ประวัติต่างๆที่ ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งเนื้อเรื่องในบางตอนอันเกี่ยวข้องกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เข้าไปด้วยเพื่อตอบสนองความเชื่อและพลังศรัทธาเชื่อถือในตำนานบทนั้นๆ
ซึ่งใน เรื่องตำนานเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้ก็ปรากฏพบว่าเกิดรูปแบบทางความคิด รูปแบบทางความเชื่อที่ซึ่งแพร่หลายในสังคมของชาวไทยถิ่นใต้ ในทิศทางที่สอดคล้อง สัมพันธ์กันบ้างขัดแย้งกันบ้าง ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอรูปแบบทางความคิดรูปแบบทางความเชื่อในแง่ตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับทวดจระเข้ที่ซึ่งแพร่สะพัดในสังคมของ ชาวไทยถิ่นใต้ไว้เพื่อสำหรับเป็นกรณีศึกษาแก่ท่านผู้สนใจสักเล็กน้อย ดังต่อไปนี้ ทวดแหลมจาก
เป็นความเชื่อของชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ตำนานทวดแหลมจากมีดังนี้กล่าวคือ ภายในอาณาบริเวณของหมู่ที่ 1 ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่ามีถ้ำใหญ่อยู่แห่งหนึ่งที่ซึ่ง ณ ถ้ำแห่งนี้ เองชาวบ้านล้วนเชื่อกันว่าภายในถ้ำมีทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ถ้วยชามที่เป็นทองคำฝังเอาไว้อยู่ภายในเป็นจำนวนมาก และภายในถ้ำนี้เองปรากฏว่ามีจระเข้ใหญ่ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นจระเข้เจ้าและศักดิ์สิทธิ์
พร้อมทั้งขนานนามให้ว่า “ทวดแหลมจาก” มีหน้าที่เฝ้าปกปักรักษาทรัพย์สมบัติดังกล่าวอยู่ คนแต่ครั้งโบราณหรือชาวบ้านในสมัยก่อนจะสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติ ต่างๆของทวดแหลมจากได้แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องนำมาคืนในระยะเวลาที่กำหนด ครั้งกาลต่อมามีคนพาลเข้าไปหยิบยืมทรัพย์ของทวดแล้วไม่ได้นำไปคืนให้
ทวดแหลมจากจึง โกรธและปิดถ้ำลงด้วยหินก้อนขนาดใหญ่ตรงบริเวณปากทางเข้าถ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครสามารถเข้าไปหยิบยืมทรัพย์สมบัติของทวดได้อีก แต่ชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ดัง กล่าวก็ยังเชื่อว่าทวดแหลมจากในรูปของจระเข้ทวดขนาดใหญ่ยังคงสถิตอยู่ภายในถ้ำแห่งนั้น
ทวดท่าข้าม หรือ ทวดพญาท่าข้าม
เป็นความเชื่อของชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำนานทวดท่าข้าม หรือทวดพญาท่าข้าม มีดังนี้กล่าวคือ เชื่อกันว่าทวดท่าข้ามเป็นจระเข้ใหญ่มีถิ่นที่อยู่ อาศัยภายในบริเวณวังน้ำของควนท่าข้าม หรือควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กล่าวกันว่าทวดท่าข้ามเป็นเทวดากึงสัตว์มีฤทธิ์เดชแก่กล้าสามารถ ยามใดที่แผดเสียง คำรามฟ้าดินจะสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งบาง อยู่มาวันหนึ่งทวดท่าข้ามคิดถึงสาวคนรักนาม “แม่ศรีขวัญทอง” อันเป็นนางพญาจระเข้มีที่สถิตอยู่ ณ วังวนตรงบริเวณปากคลองอี ปันซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำตาปี(แม่น้ำหลวง)
เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วทวดท่าข้ามจึงได้กระโจนลงน้ำแหวกว่ายกระแสธารเดินทางไปหาแม่ศรีขวัญทองในทันที แต่ปรากฏว่าขณะ เดียวกันนั้นเอง “ทวดยอดน้ำ” หรือ “พญายอดน้ำ” ซึ่งเป็นงูทวดขนาดใหญ่(บ้างก็ว่าเป็นงูเทวดา) ก็เกิดมาชอบพอกับแม่ศรีขวัญทองอยู่เช่นเดียวกัน จึงเกิดการต่อสู้นอง เลือดของสองพญาสัตว์ขึ้น
หลายวัน หลายคืน นานเข้าจนน้ำในลำคลองขุ่นข้นไปด้วยกระแสโลหิตของพญาสัตว์ทั้งสอง ในที่สุดทวดยอดน้ำเริ่มอ่อนแรงลงจนเป็นฝ่ายพ่าย แพ้และจำต้องล่าถอยกลับไป เนื่องด้วยสายโลหิตอันแดงฉานที่ปกคลุมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังผลให้พื้นดินเปลี่ยนเป็นสีแดงจึงได้ชื่อ “บ้านย่านดินแดง” หรือ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน
ทวดยอดน้ำ หรือ พญายอดน้ำ นั้นคนโบราณแทนด้วยลำคลองอีปันอันคดเคี้ยวไหลลงมาจากภูเขา ฤดูน้ำหลากน้ำจะเชี่ยวกรากเป็นอันตรายอย่างยิ่ง สำหรับผู้สัญจรโดยทางเรือ ทวดท่าข้าม หรือ พญาท่าข้าม แทนด้วยแม่น้ำตาปี(แม่น้ำหลวง) ส่วนแม่ศรีขวัญทองอันเป็นนางพญาจระเข้นั้นแทนด้วยจุดบรรจบของแม่น้ำทั้ง สองสายนัยจะบอกให้รู้ว่าคลองอีปันหรือทวดยอดน้ำนั้นพ่ายแพ้ถอยล่นกลับไปเพราะช่วงฤดูน้ำหลากมีแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียงเท่านั้น
ทวดโต๊ะหินขวาง
เป็นความเชื่อของชาวจังหวัดกระบี่ เรื่องราวของตำนานทวดโต๊ะหินขวางมีดังนี้กล่าวคือ นานมาแล้วในจังหวัดกระบี่มีชายยากจนคนหนี่งชื่อ “สูเฉม” มี อาชีพจับปลาในคลองกระบี่ใหญ่(คลองใหญ่) สูเฉมทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็งเรื่อยมา จนในที่สุดก็พบรักกับสาวงามนามว่า “สูฝาย” แต่เนื่องด้วยสูเฉมมีฐานะยากจน ไม่มีเงินทองพอที่จะไปสู่ขอสาวคนรักได้ จึงได้เดินทางมาทำการ “บน” ต่อศาล “โต๊ะหินขวาง” อันเป็นศาลเจ้าเล็กๆตั้งอยู่ริมคลองกระบี่ใหญ่
ซึ่งตรงกลางของคลองกระบี่ใหญ่นี้เองมีแนวหินดานพาดผ่านร่องน้ำจึงได้ชื่อตามลักษณะปรากฏว่า “หินขวาง” สูเฉมทำการบนบานต่อศาลโต๊ะหินขวางว่า ต้องการขอให้เจ้าที่ ซึ่งก็คือ “ทวดโต๊ะหินขวาง” ทำการช่วยขอให้ตนนั้นจับปลาได้ในปริมาณมากๆ
เพื่อจะได้นำไปขายได้เงินมาแต่งงานกับสาวคนรักได้ ในขณะเดียวกันนั้นเองลึกลงไปจนสุด ก้นคลองอันเป็นวังน้ำลึกมีจระเข้น้อยใหญ่อาศัยอยู่หลายพันตัว ตัวที่เป็นเจ้าที่เจ้าวังดังกล่าวปรากฏกายในรูปลักษณ์ของจระเข้ใหญ่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นทวดจระเข้ หรือ จระเข้เจ้า เรียกว่า “ทวดโต๊ะหินขวาง” ซึ่งทวดโต๊ะหินขวางเองก็รับรู้ถึงแรงอธิษฐานของสูเฉมดีจึงนำพาบริวารนับได้หลายพันตัวช่วยกันไล่ต้อนปลาในคลองกระบี่ใหญ่มารวม กันบริเวณโต๊ะหินขวาง
ฝ่ายสูเฉมจึงตั้งจิตอธิษฐานต่อว่าหากปลาตัวใดถึงที่ตายแล้วก็ขอให้ว่ายขึ้นมาบนโต๊ะหินขวาง ในที่สุดสูเฉมก็สามารถตักปลาได้จนเต็มลำเรือเมื่อนำ ปลาไปขายแล้วสามารถมีเงินมากพอที่จะไปสู่ขอสาวคนรักได้ หลังจากนั้นผู้คนก็นิยมมาบนบานต่อศาลโต๊ะหินขวางกันอย่างแพร่หลาย
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องจระเข้ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน
จระเข้กับความฝัน ในตำราทำนายฝันเชื่อกันว่าถ้าฝันเห็นจระเข้ตาย จะมีเคราะห์ร้ายเข้ามาหาตัว เพื่อนสนิทจะคิดร้ายและทรัพย์สินจะเสียหาย หากถูกจระเข้กัดอย่าให้จิ้งจกเลียแผล เชื่อว่าหากถูกจิ้งจกเลียแผลแล้วจะตาย
จระเข้กับก้อนหินในท้อง เชื่อกันว่าหากจระเข้เดินทางผ่านวังน้ำใดก็ตามแต่ มันจะต้องกลืนก้อนหินขนาดเท่าไข่ไก่กลมเกลี้ยงไว้ในท้อง 1 ก้อน ดังนั้น หากทำการผ่าท้องของจระเข้ออกมาแล้วพบก้อนหินจำนวนเท่าใด ก็เชื่อกันว่าก้อนหินจะเป็นตัวบ่งบอกว่าจระเข้ตัวนั้นได้เคยเดินทางผ่านวังน้ำมาแล้วเป็นจำนวนเท่ากับก้อน หินในท้องของมัน
หินในท้องของจระเข้ เชื่อกันว่าหากเอาหินที่ได้จากท้องของจระเข้ไปใส่ลงในตุ่มน้ำจะทำให้ปลอดภัยจากโรคห่า(อหิวาตกโรค)รวมถึงโรคมาลาเรีย,โรคไข้ป่า เป็นต้น
ข้อมูล
http://www.siamsouth.com
|