ความหมายของการ์ตูน
ความหมายของคำว่า “ การ์ตูน ” ( cartoon ) นั้น ได้มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกันไปหลายทัศนะ บนพื้นฐานของสาขาวิชา และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำการ์ตูนว่า “ การ์ตูน ” หมายถึงภาพล้อ ภาพตลก บางทีเขียนเป็นภาพบุคคลแสดงเหตุการณ์ที่ผู้เขียนตั้งใจล้อเลียนจะให้ดูรู้สึกขบขัน บางทีก็เขียนเป็นเรื่องราว
ประยูร จรรยาวงษ์ ( ๒๕๑๓ ) อธิบายว่า การ์ตูน คือ ภาพที่ใช้แทนภาพจริง เป็นภาพมายาโย้เย้ไม่เหมือนของจริง อาจเป็นภาพคนภาพสัตว์ หรือสิ่งของซึ่งมีรูปลักษณะผิดธรรมดาก่อให้เกิดความขบขัน เร้าความสนใจผู้ดู
ชัย ราชวัตร ( ๒๕๒๙ ) ให้ความหมายไว้ในหนังสือคู่แข่ง ที่ทีมงานของกลุ่มลูกกวาดได้ยกมากล่าวไว้ใน หัดวาดการ์ตูนภาพสัตว์ “ การวาดการ์ตูน คือ การวาดภาพเหมือนแต่ให้ดูไม่เหมือน แต่ดูแล้วต้องรู้ว่าเหมือนใคร ”
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ให้แนวคิดไว้ในเอกสารการสอนชุดวิชา ๒๐๓๑ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ( ๒๕๒๓ ) ไว้ว่า การ์ตูน เป็นภาพลายเส้นเน้นจุดเด่นในลักษณะเสียดสีเกินเหตุและเป็นสัญญลักษณ์ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปใช้แสดงเรื่องราว หรือลักษณะของบุคคล กลุ่มชน สถานที่และปรากฎการณ์ต่างๆ
สันทัด และพิมพ์ใจ ( ๒๕๒๕ ) อธิบายว่า การ์ตูน เป็นภาพเขียนแบบง่ายๆ ที่ใช้แทนหรือล้อเลียนบุคคล แนวคิดหรือสถานการณ์ที่ทำขึ้นเพื่อกระตุ้นความคิดของคน
Webster ( อ้างอิงใน ธนพงศ์ . ๒๕๓๑ ) อธิบายว่าการ์ตูนเป็นภาพที่แสดงความคิดที่ต้องการเสียดสี เปรียบเทียบล้อเลียน เล่นสำนวน ชวนให้ตลกขบขัน อาจจะมีคำอธิบายสั้นๆประกอบภาพ หรือไม่มีก็ได้ ภาพการ์ตูนแต่ละภาพถ้ามีคำพูดหรือคำสนทนาด้วย จะนิยมทำกรอบคำพูดไว้ให้ผู้ดูหรือผู้อ่านเข้าใจ
ศักดิ์ชัย เกียรตินาคินทร์ ( ๒๕๓๓ ) ให้ความหมายว่า การ์ตูน ( cartoon ) หมายถึงภาพวาดในลักษณะง่ายๆบิดเบี้ยว โย้เย้ ในลักษณะไม่เหมือนภาพในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมีรูปลักษณะที่เลียนแบบธรรมชาติ เรขาคณิต หรือรูปร่างอิสระ ที่ลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อความหมายแทนตัวหนังสือ เป็นผู้แสดงแทนในการพูดหรือแสดงออกต่างๆ ทั้งเป็นภาพประกอบตกแต่งมุ่งให้เกิดความสวยงาม น่าขัน ล้อเลียน เสียดสี ในทางการเมือง สังคม และใช้เป็นสื่อในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ประกอบการเล่าเรื่องในทางบันเทิงคดี และสารคดี
อารี สุทธิพันธุ์ ( ๒๕๑๙) การ์ตูนเป็นลักษณะของการแสดงอย่างหนึ่งที่ผู้วาดมีจินตนาการมีความคิดตลกขบขัน และเมื่อถ่ายทอดเป็นการวาดเขียนแล้ว ทำให้ผู้ดูคิดตลกขบขันตามไปด้วย การ์ตูนมีอยู่หลายประเภทตามความสนใจของผู้วาด เช่น ภาพล้อ การเมือง การ์ตูนประกอบเรื่อง การ์ตูนเรื่องสั้น และเรื่องยาว การ์ตูนโทรทัศน์ และภาพยนต์การ์ตูน เป็นต้น.
ดังนั้นคำว่า การ์ตูน อาจสรุปได้ความว่า หมายถึงภาพวาดที่มีลักษณะง่ายๆ ไม่เหมือนจริง ทั้งภาพคน ภาพสัตว์ และสิ่งของ ที่มีความน่ารัก ตลกขบขัน ฝันเฟื่อง สนุกสนาน เสียดสี ล้อเลียน ในทางการเมือง สังคม บันเทิง การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการศึกษา โดยอาศัยรูปลักษณ์จากธรรมชาติ เป็นสื่อกลางจินตนาการ สร้างสรรค์รูปลักษณ์ใหม่ให้สื่อความหมายได้.
บทความ..
อาจารย์ประจวบ ฟักผล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยภาคกลาง
ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ตและFw:mail