การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางไกลอิเล็กทรอนิกส์
Learning Theory in e-Distance Education
อาจารย์ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์
วิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
M.S. (computer Science) Texas A&M University U.S.A.
การประยุกต์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ระบบไอซีที) กับการศึกษา เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบและวิธีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา เช่นการใช้อีเลิร์นนิ่งและระบบบริหารการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน การใช้สื่อประสมเพื่อเพิ่มความน่าสนใจในเนื้อหาวิชา
การใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งกับการศึกษายังสร้างทางเลือกให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกศึกษาและเรียนรู้
เมื่อมีความพร้อม สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่นๆ และเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้แบบหลายทิศทาง ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การใช้อีเลิร์นนิ่งในการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยนั้น ยังเป็นเรื่องใหม่ และเป็นภาระแก่ผู้สอนในการนำไปใช้ เนื่องจากผู้สอนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และยังมีปัญหาด้านวิธีการประยุกต์ใช้ ว่าจะสามารถประยุกต์ระบบอีเลิร์นนิ่งในการสอนอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน ระบบอีเลิร์นนิ่งมักถูกใช้เป็นที่เก็บเอกสารประกอบการสอน หรือเป็นที่เก็บวิดีโอการสอนหรือเนื้อหาของรายวิชานั้น และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนในการเข้ามาอ่านและดาวน์โหลดเนื้อหาไปศึกษา ซึ่งมีลักษณะเชิงรับ(Passive) ซึ่งหมายถึงผู้เรียนอาจใช้หรือไม่ใช้ประโยชน์จากอีเลิร์นนิ่งเพื่อการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญในการใช้อีเลิร์นนิ่งให้มีประสิทธิภาพคือการใช้แบบเชิงรุก (Active) ซึ่งหมายถึงการนำอีเลิร์นนิ่งมาเป็นเครื่องมือในระบบการเรียนการสอนโดยตรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งการสอนในระบบการศึกษาทางไกลนั้นสามารถใช้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทฤษฎีการเรียนรู้
การประยุกต์ใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจในทฤษฎีการเรียนรู้ เพื่อที่จะสามารถนำมาบูรณาการและใช้ประโยชน์ในการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันโดยแพร่หลายในปัจจุบันมี 3 ทฤษฎีคือ
:: ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเน้นพฤติกรรมของผู้เรียน (Behaviorist)
เป็นทฤษฎีที่อาจกล่าวได้ว่าใช้กันโดยแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน โดยทฤษฎีนี้มีสมมุติฐานที่สำคัญคือ การเรียนรู้หรือความเข้าใจใดๆของผู้เรียนจะแสดงออกเป็นพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของผู้เรียน ดังนั้นการกำหนดสภาพแวดล้อมในการเรียนจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งพฤติกรรมนี้จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้สอนจึงมีหน้าที่สังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น และทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้เรียน และกำหนดสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการที่เกิดขึ้น
การเรียนรู้แบบเน้นความคิดและการรับรู้ของผู้เรียน (Cognitivist)
เป็นทฤษฏีที่แย้งว่า ทฤษฏีการเรียนรู้แบบเน้นพฤติกรรมจำเพาะเจาะจงกับเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ จนเกินไป ทฤษฏีจะเน้นการมองที่ภาพรวมทั้งหมด และการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะและภูมิความรู้ของผู้เรียนแต่ละคนเป็นพื้นฐานหรือกำหนดว่าสภาพแวดล้อมแบบใดที่จะมีผลกระทบหรือทำให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น จะต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมที่จะส่งผลให้ผู้เรียนสามารถเลือกรับรู้ตามความต้องการและนำไปสร้างความรู้ใหม่ ๆ ได้ ซึ่งหมายถึงผู้สอนเป็นผู้จัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่มีโครงสร้างที่ดีและเหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกนำไปศึกษาและเรียนรู้ได้
:: การเรียนรู้แบบเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ (Constructivist)
เป็นการประยุกต์ลักษณะของการเรียนรู้แบบเน้นความคิดและการรับรู้ของผู้เรียน โดยกล่าวว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะเรียนรู้และเข้าใจโดยอาศัยความรู้เดิมของตนเองที่มีอยู่มาพัฒนา
หรือสร้างความรู้ใหม่ๆ การเรียนรู้แบบนี้ ผู้สอนจะทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยเหลือและจัดหาสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ได้ ปัจจุบันทฤษฎีการเรียนรู้แบบนี้ได้ถูกประยุกต์ใช้ในอีกหลายแนวทางเช่น Problem-based Learning, Discovery Learning, Generative Learning, Collaborative Learning เป็นต้น
หมายถึง การศึกษาทางไกลที่มีการประยุกต์ใช้ระบบไอซีที เพื่อช่วยให้กระบวนการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการของสถาบันการศึกษา และในแง่ของกระบวนการสอนและการเรียนรู้
ในการประยุกต์ระบบไอซีทีในการศึกษาทางไกลนั้น นอกจากจะต้องมีส่วนของโครงข่ายพื้นฐานแล้ว ระบบอีเลิร์นนิ่งก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนทางไกลปัจจุบัน เพราะนอกจากจะมีเนื้อหาความรู้หรือสื่อการสอนที่ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนได้แล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน เช่นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ทั้งแบบประสานเวลา และไม่ประสานเวลา
องค์ประกอบทั่วไปของระบบอีเลิร์นนิ่ง
ระบบอีเลิร์นนิ่งในปัจจุบันมีมากมาย ทั้งในส่วนที่เป็นฟรีแวร์เช่น Moodle, ATutor, Claroline หรือระบบที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่น WebCT, Blackboard แต่องค์ประกอบของระบบอีเลิร์นนิ่งโดยทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน จะมีลักษณะคล้ายๆ กันดังนี้
- เนื้อหาวิชา (Content) โดยทั่วไปมี 3 ลักษณะคือ
1. ส่วนที่ให้ผู้สอนเก็บเอกสารประกอบการสอนประจำวิชานั้น ปกติจะอยู่ในลักษณะไฟล์ PowerPoint หรือ Word Document เอกสารส่วนนี้โดยทั่วไปจะให้ผู้เรียนดาว์นโหลดเพื่อนำไปอ่านประกอบการสอน
2. วิดีโอถ่ายทำการสอนของผู้สอน ซึ่งอาจถ่ายทำให้ห้องสอนจริงๆ หรือในห้องถ่ายทำเฉพาะ (Studio)
3. ส่วนที่เป็นเนื้อหาวิชาในลักษณะเดียวกันกับหนังสือเรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้ามาศึกษาและทำความเข้าใจ
- แบบฝึกหัดและแบบทดสอบ (Assessment)
เป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินหรือวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งอาจใช้วัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ศึกษาจากเนื้อหาวิชาด้วยตนเอง หรือวัดผลการเรียนจากผู้สอน
- เครื่องมือสื่อสารแบบประสานเวลาและไม่ประสานเวลา (Synchronous & Asynchronous Communication Tools)
โดยทั่วไปเครื่องมือสื่อสารแบบประสานเวลาหมายถึงระบบที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถโต้ตอบกันได้
ในเวลาเดียวกัน มีลักษณะเหมือนระบบห้องสนทนาที่ผู้พูดคุยจะโต้ตอบกันได้ตลอดเวลา ส่วนเครื่องมือสื่อสารแบบไม่ประสานเวลาจะประกอบด้วยระบบเมล์และระบบเว็บบอร์ด ซึ่งการพูดคุยจะเป็นการส่งข้อความเข้าในระบบ และเมื่อผู้รับพร้อมจะเป็นผู้เข้ามาอ่านข้อความนั้นๆ
- ระบบรับส่งไฟล์
เป็นเครื่องมือที่ให้ผู้เรียนส่งรายงานหรือการบ้านแก่ผู้สอน
- ระบบบันทึกการใช้ (User Tracking)
เป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกหรือควบคุมการเข้าถึงข้อมูลในระบบอิเลิร์นนิ่งของผู้เรียน ซึ่งระบบบันทึกการใช้นี้ สามารถนำมาใช้ควบคุมว่า ผู้เรียนได้เข้าศึกษาเนื้อหาวิชาตามที่ผู้สอนกำหนดหรือไม่
การเรียนรู้โดยใช้ระบบอีเลิร์นนิ่ง
ในการประยุกต์ใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งในสถานศึกษานั้น ควรเน้นที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่าเน้นที่เทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงการนำระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้นั้น ผู้สอนควรเน้นในวิธีการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนมากขึ้นกว่าการท่องจำเพียงเนื้อหาที่เรียนเท่านั้น
โดยทั่วไปการสร้างหลักสูตรการเรียนนั้น จะสร้างตามแนวความคิดของผู้สอนเป็นหลัก
ซึ่งจะพยายามสร้างหลักสูตรให้มีเนื้อหาครบถ้วน มีโครงสร้างที่ผู้สอนเชื่อว่าผู้เรียนสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ แต่เมื่อนำมาใช้ บ่อยครั้งจะพบว่าไม่สามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกกลุ่ม เนื่องจากตามทฤษฎีการเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างความรู้ตามพื้นฐานความรู้ที่ตนเองมีอยู่ หรือเลือกที่จะรู้ตามแนวทางของตนเองจากองค์ประกอบที่ผู้สอนจัดหาให้ ซึ่งผู้สอนจำเป็นต้องควบคุม แนะนำ หรือกระตุ้นให้ผู้เรียนศึกษาและเรียนรู้ตามแนวทางที่ตั้งเป้าหมายไว้
เมื่อพิจารณาแล้ว ระบบอีเลิร์นนิ่งมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเรียนรู้ และนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากผู้สอนสามารถกำหนดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในระบบได้ สามารถสร้างทางเลือกแก่ผู้เรียน ในการเรียนรู้ตามที่ตนเองต้องการ มีเครื่องมือให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และสามารถสร้างกลุ่มการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้โต้ตอบ อภิปราย เพื่อก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ
การประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ (Constructivist) กับระบบอีเลิร์นนิ่ง
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ อาศัยแนวความคิดที่ว่าผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างความรู้ใหม่ๆ ด้วยตนเอง โดยอาศัยภูมิความรู้เดิมของตนเอง ซึ่งการใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งนั้น ผู้เรียนสามารถค้นคว้าความรู้จากอินเทอร์เน็ตหรือจากเนื้อหาวิชาและนำมาสร้างเป็นความรู้ได้ โดยผู้สอนทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยผ่านการโต้ตอบและการอภิปรายระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และผู้สอนจะต้องคอยควบคุม เมื่อการเรียนรู้นั้นดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้
การค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ ในระบบอินเทอร์เน็ตจะช่วยกระตุ้นความน่าสนใจแก่ผู้เรียน และผู้เรียนเองสามารถเลือกที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ตามที่ตนเองต้องการ และผู้เรียนจะต้องอ่านข้อมูลจำนวนมากซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ นอกจากนี้ผู้เรียนยังต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาว่าถูกต้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของเนื้อหาในการเรียน
ครั้งนั้นหรือไม่ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในเนื้อหาอย่างลึกซึ้งและ
เก็บเป็นฐานความรู้เพื่อนำไปสร้างความรู้ใหม่ๆ ต่อไป
1. ส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
ในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ความคุ้นเคยกับผู้สอนจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกสบายใจที่จะถามเมื่อสงสัย หรือต้องการหาความรู้เพิ่มเติม ระบบอีเลิร์นนิ่งมีเครื่องมือที่สนับสนุนการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะนี้ เช่นระบบอีเมล์ ระบบห้องสนทนา ซึ่งสามารถนำมาใช้ปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนทั้งในและนอกเวลาเรียนได้
2. ส่งเสริมให้มีการอภิปรายหรือความร่วมมือระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง
การอภิปรายหรือร่วมมือกันทำงานระหว่างผู้เรียนจะก่อให้เกิดการแตกแขนงทางความคิดและมีข้อมูลใหม่ๆ และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ดังนั้นถ้าผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถซักถาม อภิปรายถึงปัญหาในแต่ละข้อร่วมกัน โดยผู้สอนทำหน้าที่ชี้แนะ และควบคุมให้การอภิปรายให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การอภิปรายในลักษณะนี้อาจไม่เหมาะกับห้องเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งการใช้เครื่องมือในระบบอีเลิร์นนิ่งจะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวได้ เช่นการใช้ระบบเว็บบอร์ด ซึ่งผู้สอนสามารถตั้งหัวข้อเพื่อให้ผู้เรียนร่วมอภิปราย โดยอาจใช้ร่วมกับการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ในการอภิปราย และผู้เรียนมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
3. เน้นการเรียนเชิงรุก (Active Learning)
มีบทวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ว่าการเรียนรู้แบบเก่าที่ผู้เรียนเข้าไปนั่งฟังผู้สอนในห้อง จำสิ่งที่ผู้สอนพูด และทำข้อสอบจากสิ่งที่จำไม่ได้ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ที่มากขึ้น แต่การเรียนแบบเน้นเชิงรุก ที่ผู้เรียนจะต้องอภิปรายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ บันทึกความรู้นั้น และนำไปประยุกต์เข้ากับการใช้งานในปัจจุบันจึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของการเรียนรู้เชิงรุกเช่น การจัดให้มีการทำโครงงานเป็นทีม การวิจารณ์ผลงานระหว่างผู้เรียนด้วยกัน การอภิปราย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยการประยุกต์ใช้เครื่องมือในระบบอีเลิร์นนิ่งเช่น ระบบเว็บบอร์ด เป็นต้น นอกจากนี้การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาการเรียน ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนเชิงรุกเช่นเดียวกัน
4. เข้าใจว่าวิธีการเรียนรู้ในสิ่งเดียวกัน สามารถดำเนินการได้หลายวิธี
การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หนึ่งๆ อาจทำได้จากหลายวิธีการ ผู้เรียนที่ชอบอ่าน อาจใช้วิธีค้นคว้าตามห้องสมุด หรืออินเทอร์เน็ตและอ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นและนำมาวิเคราะห์ให้เกิดความรู้ตามที่ตนเองต้องการ ในขณะที่ผู้เรียนที่ชอบปฏิบัติ อาจทดลองปฏิบัติจริง เพื่อทดสอบผลการเรียนรู้ว่าถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นผู้สอนจะต้องเข้าใจและให้โอกาสผู้เรียนในการเลือกวิธีที่ตนเองถนัดและสนใจเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้
ที่มีประสิทธิภาพระบบอีเลิร์นนิ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกที่จะค้นคว้าตามแนวทางที่ตนเองต้องการ ประกอบกับเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจำลองสถานการณ์ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นการประยุกต์ใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้กำหนดทางเลือกในการเรียนรู้เอง จะส่งผลให้การเรียนรู้นั้นประสบความสำเร็จ
ข้อจำกัด
การประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้กับระบบอีเลิร์นนิ่งนั้น จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อผู้สอนมีความเข้าใจในทฤษฎีการเรียนรู้ และยอมทุ่มเทเวลาที่จะประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้นั้นกับระบบอีเลิร์นนิ่ง เนื่องจากแนวทางการสอนลักษณะนี้ ผู้สอนจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้การเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เรียนและผู้สอนต้องมีเครื่องมือที่สามารถโต้ตอบกันได้ตลอดเวลา และผู้เรียนสามารถค้นคว้า
หาข้อมูลใหม่ๆ เพื่อนำมาสร้างเป็นความรู้ ซึ่งทั้งสองประการนั้นมีความจำเป็นที่ผู้เรียนต้อง
มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาของการเรียน อีกทั้งประสิทธิภาพของระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้ ก็มีผลต่อความพึงพอใจของผู้เรียน ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพต่ำ การค้นคว้าหาข้อมูลทำได้ช้ามาก ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ และประการสุดท้าย ผู้เรียนบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและการศึกษาวิธีการใช้เทคโนโลยีก็อาจส่งผลต่อการเรียนรู้เนื้อหาตามวัตถุประสงค์จริงๆ
บทสรุป
การใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งในสถาบันการศึกษานั้น ไม่ควรเน้นที่ตัวระบบหรือเทคโนโลยี แต่ควรเน้นที่กระบวนการเรียนรู้โดยประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้ในระบบการสอนที่ใช้อีเลิร์นนิ่ง เพื่อให้ระบบอีเลิร์นนิ่งไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่ให้ผู้เข้ามาอ่านเนื้อหาเมื่อต้องการเท่านั้น แต่ทำให้ระบบอีเลิร์นนิ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้สอนสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ต่อไป
บรรณานุกรม
Bangert, A. W. (2004), "The Seven Priinciples of Good Practice: A framework for evaluating on-line teaching", Internet and Higher Education, pp 217-232.
Chickering, A. W., & Gamson, Z. F. (1987), "Seven principles for good practice in undergraduate education". AAHE Bulletin, 39(7), 3-7.
Merriam, S. and Caffarella (1991, 1998), Learning in Adulthood. Acomprehensive guide, Sanfrancisco:Jossey-Bass, pp 121-131.
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oet/Research%20011.html
ที่มา : วารสารเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (ECT Journal)
จัดทำโดย : สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การศึกษาทางไกลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Distance Education)
บทนำ