หนังตะลุง
หนังตะลุงเป็นการแสดงประเภทเล่าเรื่องด้วยการเชิดรูปเล่นเงา เล่าเรื่องด้วยบทเจรจา บทบรรยาย และใช้บทกลอนประกอบ บทกลอนใช้ทั้งบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร บรรยายฉากและบรรยากาศ สอดแทรกคำสอน และช่วยในการเดินเรื่อง ความสำคัญอยู่ที่นายหนังหรือคนเชิด ลีลาการเชิดมีรูปแบบเฉพาะตัว ต่างกันไปตามลักษณะนิสัยและบทบาทเช่น เทวดา ยักษ์ มนุษย์ ประเภทเจ้าเมือง ผู้ดี คนชั่ว พระ นาง นักพรต และตัวตลก ซึ่งมีขนบธรรมเนียมในการแสดงเป็นการเฉพาะตัว
ชาวนครศรีธรรมราช เรียกชื่อหนังตะลุงแตกต่างกันออกไป เป็นต้นว่า หนังลุงบ้าง หนังควนบ้าง หนังควายบ้าง หนังโหม่งบ้าง ในจังหวัดเรามีนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน ปัจจุบันนี้หนังตะลุงเริ่มหมดความนิยมจากคนในเมืองเพราะคนในเมืองนิยมการละเล่นอื่น ๆ ที่ทันสมัยมากกว่า เป็นต้นว่า ภาพยนต์ วงดนตรี แต่อย่างไรก็ตามหนังตะลุงยังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปในชนบทอยู่อีกมาก
รูปหนังตะลุง
1. ประวัติ ของหนังตะลุงที่มีแสดงอยู่โดยทั่วไปในภาคใต้นั้น ยังหาข้อยุติที่แน่ชัดลงไปไม่ได้ว่า มีความเป็นมาอย่างไร บางท่านก็กล่าวว่าได้รับอิทธิพลมาจากชวา มลายู บางท่านกล่าวหนังตะลุงในภาคใต้นี้มีขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดพัทลุง คนทั่วไปจึงเรียกหนังตะลุง ที่มาจากพัทลุงว่าหนังพัทลุง หรือหนังพัดลุง จนกลายมาเป็นหนังลุงหรือหนังตะลุง
2. เรื่องที่นิยมเล่น ในสมัยก่อน นิยมเล่นเรื่อง พระอภัยมณี เงาะป่า สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน ลักษณะวงศ์ รามเกียรติ์ แก้วหน้าม้า ปัจจุบันมีการแทรกการเสียดสีสังคม และการเมืองเข้าไปในเรื่องที่เล่นด้วย
3. เครื่องดนตรี ที่ใช้ในสมัยก่อนมี 6 - 7 อย่าง ได้แก่ โหม่ง 1 ตู่ ทับหรือโทน 1 คู่ กลองตี 1 ใบ ปี่ชวา 1 เลา กลับหรือแกระ 1 คู่ และฉาบ บางแห่งก็มีซอด้วย แต่ ในปัจจุบันหนังตะลุงส่วนใหญ่จะนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามาแทรกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร้าอารมณ์และจูงใจผู้ชม
ดนตรีหนังตะลุง
4. รูปหนัง สิ่งที่สำคัญที่ขาดเสียมิได้ ได้แก่รูปหนัง ซึ่งลักษณะการผลิตรูปหนัง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หนังตะลุงคณะหนึ่งจะมีรูปหนังประมาณ 150 - 300 ตัว โดยจัดเป็น 3 ประเภท ได้แก่
4.1 รูปหัวหนัง เป็นรูปบุคคลสำคัญ เช่น ฤษี เจ้าเมือง และมเหสี
4.2 รูปเชิด เป็นบุคคลทั่ว ๆ ไป ยกเว้นรูปตลก เช่น รูปพระ รูปนาง รูปยักษ์
4.3 รูปกาก เป็นพวกรูปผี รูปสัตว์ ต้นไม้ และรูปตัวตลกทุกตัว
รูปฤษี
รูปหนังตะลุงชนิดต่าง ๆ
5. โรงหนัง ปลูกเป็นเสายกพื้น สูงประมาณ 2 เมตร ใช้เนื้อที่ราว 2 - 3 เมตร ฝา 3 ด้าน กั้นด้วยจาก หรือทางมะพร้าว หลังเพิงเป็นเพิงหมาแหงน ด้านหน้าใช้ผ้าขาวบางขึงเป็นจอ มีต้นกล้วยยาวเกือบเท่ากับจอ วางไว้ใช้ปักรูปหนังตอนเล่น บนหลังคาก็มีเชือกผูกไว้แขวนรูปหนัง ในโรงหนังสมัยก่อนใช้ตะเกียงน้ำมัน หรือตะเกียงเจ้าพายุ แต่ปัจจุบันนิยมใช้ดวงไฟฟ้า เพราะสะดวกแก่การใช้ ดวงไฟฟ้าใช้แขวนใกล้จอ เพื่อให้รูปหนังเกิดเงาปรากฏบนจอ และปัจจุบันโรงหนังบางคณะใช้โรงแบบสำเร็จรูป เวลาไปแสดงที่ไหนก็ยกไปด้วย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและไม่เป็นภาระให้กับเจ้าภาพ
6. วิธีการเล่น อาจเล่นกันตลอดคืนหรือเล่นเพียงครึ่งคืนก็มี ถ้าแสดงกันตลอดคืนก็มีการพักเที่ยงตอนเที่ยงคืน ประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มต้นด้วยการโหมโรง หรือลงโรง เมื่อจบเพลงโหมโรงแล้ว ก็จะมีเสียงปี่ทำจังหวะเอารูปฤษีออกเชิด ตั้งนโม 3 จบ ต่อด้วยคาถาอื่น ๆ จนจบ ต่อจากนั้นก็ออกรูปอิศวรหรือรูปโค และก็ออกรูปหน้าบทเพื่อคารวะผู้ชม ขับบทไหว้ครู อาจารย์ บิดา มารดา พร้อมอวยพรผู้ชม ต่อจากนั้นก็ออกรูปตลก ตัวหนังออกมาบอกเรื่องที่จะแสดง และออกรูปเจ้าเมือง และมเหสี เพื่อเปิดฉากดำเนินเรื่อง
ที่กล่าวมานี้เป็นรูปแบบการเล่นเพื่อความบันเทิงทั่ว ๆ ไป แต่หากเล่นประกอบพิธีกรรมจะมีรูปแบบเพิ่มขึ้น การเล่นเพื่อประกอบพิธีกรรมมี 2 อย่าง คือ เล่นแก้บน และเล่นในพิธีครอบมือ เล่นแก้บนเป็นการเล่นเพื่อบวงสรวงครูหมอหนังหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามพันธะที่บนบานไว้ หนังตะลุงที่เล่นแก้บนได้ต้องรอบรู้พิธีกรรมเป็นอย่างดี และผ่านพิธีครอบมือถูกต้องแล้ว การเล่นแก้บนจะต้องดูฤกษ์ดูยามให้เหมาะ เจ้าภาพต้องเตรียมเครื่องบวงสรวงไว้ให้ครบตามที่บนบานเอาไว้ เล่นแบบเดียวกับการเล่นเพื่อความบันเทิง แต่เสริมการแก้บนเข้าไปในช่วงออกรูปปรายหน้าบท โดยกล่าวขอร้องเชิญครูหมอหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับเครื่องบวงสรวง
...................................
ขอบคุณครูสุภาพ เต็มรัตน์ supaptemrat@thaimail.com เอื้อเฟื้อข้อมูลสนับสนุน