การบริหาร : การจัดองค์กรโรงเรียน
เรียบเรียงโดย พระครูปลัดจิตติชัย จิตฺติชโย
การจัดองค์การ
การจัดองค์การเป็นกระบวนการทางการบริหาร ที่จะช่วยให้ทราบถึงโครงสร้างของการบริหารงาน อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ ช่องทางของการติดต่อสื่อสารของบุคลากรประจำตำแหน่งต่าง ๆ นอกจากนี้จะช่วยให้ทราบความสัมพันธ์ของหน่วยงาน ทราบวิธีประสานงาน เพื่อให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติงานทุกคนจะได้รวมกำลังกันปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหารสมัยใหม่ ปัจจุบันนี้นิยมนำแนวคิดของ Gulick และ Urwick ซึ่งมองว่าเป็นกระบวนการ โดยเรียกว่า POSDCORB มี 7 กระบวนการด้วยกัน คือ
1. Planning
2. Organizing
3. Staffing
4. Directing
5. Co – ordinating
6. Reporting
7. Budgeting
|
= การวางแผน
= การจัดองค์การ
= การบริหารงานบุคคล
= การอำนวยการ
= การประสานงาน
= การรายงาน
= การจัดทำงบประมาณ
|
(นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์, 2525 : 127)
ดังนั้นการจัดองค์การของโรงเรียน ควรจัดให้โรงเรียนได้แสดงตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ การที่จะมีหน่วยงานหรือบุคลากรตำแหน่งอะไรบ้าง ประสานงานกันอย่างไร สื่อสารอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของโรงเรียนในด้านบุคลากร อาคารสถานที่ ทรัพยากรของโรงเรียน และชุมชน การจัดองค์การมีความหมายครอบคลุมถึงกระบวนการจัดระบบ ตลอดระเบียบการทำงานทั้งหมดภายในองค์การ การจัดองค์การที่ดีนั้นควรจะต้องมีการวิเคราะห์งานจากบทบาทหน้าที่ด้วย ดังนั้นโรงเรียนชุมชนจะมีหน่วยงานย่อย ๆ หน่วยใดบ้าง แต่ละหน่วยมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร สมควรจะเริ่มต้นดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
1. กำหนดจุดประสงค์และนโยบายของโรงเรียนให้ชัดเจน มีส่วนไหนที่บ่งชัดในแนวคิดของโรงเรียนชุมชน
2. กำหนดลักษณะของตำแหน่งงาน เช่น งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
3. ระบุขอบเขตของอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น งานวิชาการ รับผิดชอบงานหรือกิจกรรมใด งานความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนรับผิดชอบงานใด ซึ่งควรชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกัน
4. การแบ่งงาน และการกำหนดงานที่ต้องการคนมีความชำนาญเฉพาะอย่าง นั่นก็คือ การกำหนดตำแหน่งของบุคลาการประจำงานแต่ละอย่างว่าต้องการคนที่มีคุณสมบัติใด เช่น คุณวุฒิ วัย ประสบการณ์ ฯลฯ
5. การจัดสายการบังคับบัญชา สายการบังคับบัญชาจะบ่งบอกอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบและช่องทางการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน ระหว่างงานกับงาน ตำแหน่งกับตำแหน่ง ทำให้ทราบบุคคลที่เป็นผู้บังคับบัญชา และผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
การจัดสายการบังคับบัญชาที่ดี ควรให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชาช่วงการควบคุมงานไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป การติดต่อสื่อสารต้องรวดเร็ว สะดวก และคล่องตัว ประสานงานไปสู่เป้าหมายขององค์การโดยมีความขัดแย้งให้น้อยที่สุด
6. เขียนโครงสร้างความสัมพันธ์ให้เห็นความสัมพันธ์ตามสายงานและระหว่างสายงานหรือระหว่างตำแหน่งต่าง ๆ ให้ทุกคนในองค์การได้ทราบและเข้าใจตรงกัน
โรงเรียนชุมชนส่วนใหญ่แล้วจะตั้งสถานที่อยู่ในชนบทจริง ๆ มีความไม่พร้อมในทรัพยากรหลาย ๆ ประการ โดยเฉพาะด้านบุคลากรและงบประมาณ ดังนั้นถ้าโรงเรียนได้จัดองค์การหรือองค์กรภายในให้ดี ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ บทบาทหน้าที่และความพร้อมในทรัพยากรที่มี จะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังต่อไปนี้
1. ทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ทำให้งานทุกอย่างในองค์การดำเนินไปตามผลสำเร็จด้วยดี
3. ทำให้ประหยัดและคุ้มค่า เพราะไม่เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนและล่าช้า
4. ทำให้องค์การสามารถพัฒนาและเจริญเติบโตต่อไป
5. ทำให้สมาชิกเกิดการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน
6. ทำให้สมาชิกในองค์การมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
(พะยอม วงศ์สารศรี, 2531 : 94)
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. แผนปฏิบัติการปีงบประมาณ 2535.
เชาวน์ มณีวงษ์. การบริหารกิจการนักเรียน. กรุงเทพมหานคร : อมรการพิมพ์, 2528.
นพพงษ์ บุญจิตราดุลย์. ก้าวเข้าสู่ผู้บริหารสถานศึกษา กรุงเทพมหานคร : อนงค์ศิลป์การพิมพ์, 2525.
พยอม วงศ์สารศรี. องค์การและการจัดการ. กรุงเทพมหานคร : พรานนกการพิมพ์, 2531.
หวน พินธุพันธ์. ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน, 2528.