เรื่องภาวนา : ความสุขจากประสบการณ์ตรง
ท่านสาธุชนทั้งหลาย กลับมาพบกันในฉบับที่ ๓ ในกระแสของการเปลี่ยนแปรงทางสังคมที่รุนแรงนี้ ผู้คนในสังคมต่างดิ้นรน แสวงหาความสุขให้กับตนเอง อาตมาได้เล็งเห็นสภาพความวุ่นวายดังกล่าวแล้วจึงอยากเสนอแนวทางปฏิบัติให้ สาธุชนทั้งหลาย ได้ปฏิบัติเพื่อความสงบสุขตามอัตภาพของตนและตน ถ้าเราพิจารณาตามปัจจัยของชีวิตจะพบว่า ชีวิตที่ตั้งอยู่เป็นตัวตนนี้ ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ หลอมรวมกันเป็นรูป – นาม ปรุงแต่งเป็นตัวเราในที่สุด การจะหาความสงบสุขใส่ตัวเป็นภาระหลักของชีวิตมนุษย์ ทำไมถึงกล่าวดังนี้ เพราะชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไรเป็นแก่นเป็นสาร นอกจากความสงบสุขการสร้างคุณงามความดีการสัมผัสความสงบสุขจากการปฏิบัติหรือทางวิชาการใช้คำว่า “ประสบการณ์ตรง” (Experience) การที่เราจะพบความสงบสุขจากการปฏิบัติได้นั้นจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเพราะตัวเราเป็นตัวหลักในการปฏิบัติ การปฏิบัติให้เกิดความสงบสุขภาษาพระเรียกว่า “ภาวนา” คำนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ภาวนาไม่ใช่การอธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า ภาวนาคือการเจริญหรือการฝึกอบรมใจ พัฒนาใจให้สงบปราศจากกิเลสทั้งปวง ผู้เขียนขอนำเอาเรื่องการภาวนามาฝากท่านสาธุชนทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
๑. กายภาวนา เป็นการเจริญให้พัฒนากาย การฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายภายนอกอินทรีย์ทั้งห้าด้วยดีและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านนั้นในทางที่เป็นคุณมิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมงดงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ เมื่อเราเจริญกายให้สงบความมีระเบียบวินัยจะบังเกิดเป็นอุปนิสัยที่ดีในที่สุด
๒. สีลภาวนา เป็นการเจริญศีล พัฒนาความประพฤติ หมายถึงการฝึกอบรมศีลให้อยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกุลแก่กัน ขยายความว่า คำว่าเจริญศีล คือการรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดำรงตนอยู่ได้ปกติ มีจิตใจเบิกบานมิใช่มองดูศีลมีกี่ข้อหรือเลือกข้อปฏิบัติอย่างนี้ไม่ใช่
๓. จิตตภาวนา เป็นการเจริญจิตพัฒนาจิต กล่าวคือหมั่นฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่นมีเมตตากรุณาขยันหมั่นเพียร อดทน มีสมาธิและสดชื่นเบิกบาน เป็นสุขผ่องใส บุคคลที่มีใจผ่องใสมักมีคุณภาพ นั้นหมายความว่า เมื่อใจมีพลังทำให้สติปัญญาเกิดตามมาในที่สุดในการปฏิบัติงาน หน่วยงานหรือองค์กรใดจะเพิ่มศักยภาพในหน่วยงานหรือ องค์กรอย่าลืมพัฒนาจิตใจด้วยก็แล้วกัน
๔. ปัญญาภาวนา เป็นการเจริญปัญญาพัฒนาปัญญา กล่าวคือเพียรฝึกอบรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาวะ สามารถทำจิตให้เป็นอิสระทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสและปลอดพ้นจากความทุกข์ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา ชาวพุทธมีหลักสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องระลึกหรือถือปฏิบัติ นั้นก็คือปัญญา มีความฉลาดรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน มิใช่ประเภทเชื่อทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังมา การที่เราฝึกอบรมเจริญปัญญาอยู่เนื่องนิจ จะบังเกิดความสงบสุขไม่ทุกข์ตามกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ถึงแม้โลกนี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าเรามีหลักเจริญใจ หลักพัฒนาตน ความสงบสุขก็อยู่กับเรา
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการภาวนาก็เพื่ออบรมจิตใจ ทั้งกาย วาจา และใจ ค้นหาความจริงในชีวิต ความทุกข์หรือความไม่สงบในสังคมไทยจะไปถามหาผู้ต้องหานั้นยากเหลือเกิน เพราะความทุกข์ในปัจจุบันมันพัฒนาจนจิตเราตามแทบไม่ทัน จึงขอนำเสนอสาเหตุแห่งความทุกข์ในสังคมปัจจุบันมาให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมศึกษาร่วมกัน อันจะนำไปสู่ความสงบหรือที่เรียกว่า “สันติสุข”
ปัญหาเกิดในจิตของคน จิตนั้นมีอะไร? จิตมีปมปัญหาสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงให้หลักไว้แล้ว เราจึงต้องมาทำความศึกษากันว่าคืออะไร ในศัพท์ของทางพระท่านบอกไว้ว่ามี ๓ คำ ดังนี้
๑. ตัณหา
๒. มานะ
๓. ทิฎฐิ