พระครูปลัด จิตติชัย จิตติชโย (มาตย์วงค์)
มุมมองพระกับฆราวาส
“ต้นไม้ยังให้ความร่มรื่นกับชีวิต นกตัวนิดให้เสียงเพลงแก่โลกหล้า
ดอกไม้น้อยยังได้ความชื่นบานตา แม้ต้นหญ้ายังให้อ๊อกซิเจน
แล้วเราเกิดมาในโลกนี้ ทำสิ่งดีอะไรให้โลกเห็น
กิน นอน เล่น เหล่านั้นหรือที่ทำเป็น ไม่ดีเด่นกว่าบรรดาต้นหญ้าเลย”
(สมุดบันทึก มกราคม ๒๕๔๘)
เริ่มต้นด้วยบทกลอนสอนใจเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เรานั้นมันมีคุณค่ามากกว่าต้นหญ้าจริงๆ จะเป็นพระหรือฆราวาสก็มีคุณค่าทั้งนั้น ถ้าจะถามว่าเป็นพระหรือเป็นฆราวาสจะดีกว่ากัน จึงขอนำเอาเรื่องหนึ่งมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านกัน เรื่องมีอยู่ว่า
นามแล้ว ที่ประเทศอินเดีย มีกษัตริย์องค์หนึ่งต้องการจะรู้ว่า เป็นพระหรือเป็นฆราวาสจะดีกว่ากัน เมื่อมีพระสงฆ์รูปใดก็ตามที่เข้ามาในประเทศของพระองค์ พระองค์ก็จะนิมนต์พระสงฆ์รูปนั้นมาซักถามคำถามนี้ พระบางรูปก็ตอบว่าเป็นพระนั้นดีกว่าแน่ บางรูปก็ตอบว่าเป็นฆราวาสดีกว่า กษัตริย์ก็ให้พระแต่ละรูปพิสูจน์ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ กษัตริย์ก็บังคับพระเหล่านั้นให้สึกและแต่งงานมีชีวิตอยู่อย่างฆราวาส
วันหนึ่งก็มีพระหนุ่มรูปหนึ่งเข้ามาในประเทศนั้น กษัตริย์ก็ถามคำถามเช่นเดี่ยวกันนี้ พระรูปนี้ได้ตอบว่า ถ้าได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีแล้ว จะเป็นพระหรือเป็นฆราวาสก็ดีทั้งนั้น แล้วก็ได้ทำการพิสูจน์โดยพากษัตริย์ไปยังประเทศใหญ่อีกประเทศหนึ่ง พอเข้าไปในเมืองหลวง ก็เห็นผู้คนมากมายกำลังชุมนุมกันอยู่ทั้งสองก็เดินเข้าไปดู ปรากฏว่าพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินในประเทศนั้นกำลังทำพิธีเลือกคู่ พระธิดาเสด็จผ่านพวกชายหนุ่มทั้งหลายแต่ก็ยังไม่มีใครเป็นที่พอพระทัย ทุกคนต่างรู้สึกเสียใจ แต่ในนาทีสุดท้ายได้มีพระหนุ่มรูปหล่ออีกรูปหนึ่งเดินเข้ามาดูการชุมนุมของประชาชน พอพระธิดาเห็นเข้าก็หลงรักทันที แล้วก็เสี่ยงพวงมาลัยไปยังพระหนุ่มรูปหล่อนั้น พระก็โยนพวงมาลัยทิ้งและพูดว่า “ เอ้ย! อะไรกัน ฉันเป็นพระ” พูดแล้วก็หันหลังจะเดินออกไป เพราะเจ้าแผ่นดินก็วิ่งตามไปและบอกว่า
“ครึ่งหนึ่งของพระราชสมบัติเป็นของท่านหากท่านแต่งงานกับลูกสาวของเรา และที่เหลือจะเป็นของท่านทั้งหมดเมื่อเราตายแล้ว” พระก็ตอบว่า “ฉันไม่สนใจเลย แล้วก็เดินเข้าป่าไป พระธิดาด้วยความหลงรักก็วิ่งตามพระเข้าไปในป่าแต่พระก็หลบหายไป ส่วนพระหนุ่มรูปแรกที่พากษัตริย์มาก็เดินตามพระธิดา เข้าไปดูเหตุการณ์พร้อมกษัตริย์พอเห็นพระธิดาร้องไห้อยู่ด้วยความทุกข์เสียใจก็เข้าไปปลอมแล้วบอกว่าจะพากลับไปในเมือง แต่เวลานั้นเป็นเวลาค่ำจึงพากันไปนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งใจจะค้างคืนอยู่ที่นั้น บนต้นไม้มีนกตัวผู้ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวมีนกตัวเมียเป็นภรรยาและมีลูกเล็ก ๆ อีก ๓ ตัวอาศัยอยู่ นกตัวผู้พูดขึ้นว่า
“วันนี้เราโชคดีมาก มีแขกเข้ามาอาศัยบ้านของเรา แต่จะทำอย่างไรดี เดี๋ยวแขกจะหนาว” พูดเสร็จก็บินออกไปหาไฟแล้วคาบไม้ที่ติดไฟอยู่นั้นมาทิ้งไว้ใกล้ ๆ แขกแล้วก็บินไปหาฝืนมากองๆ ไว้ ในที่สุดก็มีกองไฟที่ให้ความอบอุ่นได้ตลอดคืน แต่แล้วพ่อนกก็พูดต่อไปว่าแขกของเราจะต้องหิวแน่ๆ ฉันจะสละตัวฉันให้เขารับประทาน พูดแล้วก็บินเข้าไปในกองไฟและฆ่าตัวเองเพื่อให้แขกได้รับประทานพอภรรยาเห็นเข้าก็นึกว่าแขกมีตั้ง ๓ คนแต่มีนกตัวเดียวก็จะไม่พอรับประทาน คิดดังนั้นแล้ว ก็ตามสามีลงไปในกองไฟ ลูก ๆ ก็นึกเช่นเดียวกันและพูดต่อกันว่า
“เราจะต้องเสียสละเพื่อแขกของเรา” ว่าแล้วก็กระโดดลงในกองไฟ พระและกษัตริย์มองดูเหตุการณ์ด้วยความตกตะลึง ในที่สุดพระก็พูดกับกษัตริย์ว่า
“นี้แหละคือข้อพิสูจน์ ถ้าเป็นพระก็ต้องสละโลกจริงๆ ไม่สนใจรูปร่างหน้าตาของพระธิดาที่สวยงามที่สุดในโลก และไม่สนใจทรัพย์สมบัติทั้งปวง หากจะเป็นฆราวาสก็ควรจะเป็นแบบครอบครัวนกที่อาศัยอยู่บนต้นไม้นั้น พยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ทำหน้าที่พลเมืองดีต่อสังคมถึงแม้จะต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง”
ดังนั้น การเป็นพระหรือเป็นฆราวาสที่ทำหน้าที่ได้ถูกต้อง เช่นนี้จึงจะถือว่าเป็นบุคคลที่วิเศษที่สุดของโลก คนที่มีคุณค่าแก่สังคมจึงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและน่านับถือ ถ้าจะถามว่าจะมีหลักธรรมใดมาเป็นพลังสร้างสรรค์สังคม ให้บุคคลที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้มีคุณค่า และน่านับถือ มีพรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐหรือผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่กว้างขวางดุลพระพรหม ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้
๑. เมตตา ความรัก คือความปรารถนาดี มีไมตรีต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนประสบประโยชน์และความสุข
๒. กรุณา ความสงสาร คืออยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้องบำบัดทุกข์ยากเดือนร้อนของคนและสัตว์ทั้งปวง
๓. มุทิตา ความเบิกบานพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็มีใจแช่มชื่นเบิกบาน เมื่อเห็นเขาทำดีงามประสบความสำเร็จก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจด้วยพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน
๔. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง คือ มองความเป็นจริง โดยวางจิตเรียบสม่ำเสมอ มั่นคงเที่ยงตรงดุจตาชั่งมองเห็นการที่บุคคลจะได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุที่ตนประกอบ พร้อมที่จะวินัยฉันวางตนและปฏิบัติไปตามหลักการเหตุผลและความเที่ยงธรรม
(ที.ม.๑๐/๑๘๔/๒๒๕)
จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าชีวิตมนุษย์ของเรานั้นมันมีคุณค่ามากกว่าต้นหญ้าจริงๆ และจะเป็นพระหรือฆราวาสก็มีคุณค่ากันทั้งนั้น ขออำนวยพรทุกท่านที่อ่านจงมีความเจริญใยธรรมทุกท่านเทอญ ฯลฯ
หนังสืออ้างอิง
๑. สมเด็จพระสังฆราช พระศาสนโศภน, พระนิพนธ์พระธรรมเทศนาคติธรรม. (กรุงเทพฯ: เอเชียคิท แพ็คพริ้นท์), ๒๕๔๖.
๒. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุดโต), ธรรมนูญชีวิต. (กรุงเทพฯ :สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ), ๒๕๔๘.
๓. องจอง ชุมสาย ณ อยุธยา,ดร.; แนวทางจัดความสุข ,(กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง.กรุ๊ปจำกัด), ๒๕๓๓.
๔. ศูนย์บริการวิชาการ มมร.วิทยาเขตล้านนา, คัมภีร์วาทศาสตร์. (เอกสารประกอบการฝึกอบรมคุณธรรมในโครงการพระธรรมวิทยากร, ๒๕๔๘.
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร
น.ธ.เอก, ศน.บ.(ปรัชญา), ศศ.ม.(การวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น)