พลังจิตทำชีวิตให้เต็ม
พุทธสุภาษิตบทหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่มีบาปกำเนิดเหมือนศาสนาที่มีพระเจ้า พุทธศาสนาเน้นว่า ไม่ว่าใครจะดีหรือเลว มีบาปหรือบริสุทธิ์ล้วนขึ้นอยู่กับตนเองเป็นผู้กำหนดด้วยการคิด พูด ทำ ไม่มีใครเป็นที่พึ่งของเราได้นอกจากตนเอง ดังนั้น ต้องคิดพูดทำให้ดี หมั่นฝึกดัดให้เกิดความคุ้นเคยกับพฤติกรรมที่ดี เมื่อทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความเคยชินกับความดี เมื่อคิดชั่วก็จะมีความชั่งใจ ทั้งก่อนคิดและลงมือทำ
ภาษิตว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นี่เป็นความลุ่มลึกของคนไทยโบราณที่ชี้ให้ลูกหลานเห็นความจริงที่ว่า หากต้องการมีความสุขแท้ ๆ ต้องหมั่นปลูก รักษารดน้ำเอาใจใส่ที่ “จิต” ไม่ใช่ “กาย” เพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ต้องฝึกหัดบังคับตนเอง ผู้อื่นจะเป็นศัตรูคิดทำร้ายเราก็ไม่เท่ากับเราเป็นศัตรูหรือทำร้ายเราเอง อีกทั้งหากยังไม่สามารถบังคับดูแลคนอื่นได้ ไม่จำต้องหวังดูแลคนอื่น คุณค่าของการบำรุงจิตใจจะสามารถบังคับตนเองได้อย่างน้อยคือ
1. บังคับการหลับและตื่นนอน การหัดนอนให้หลับสนิทเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนักในการพักผ่อนของร่างกายและจิตใจ เหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมี 2 ประการ
1.1 ร่างกายไม่สบาย อาจเนื่องมาจากอาหารที่ย่อยยาก หรือรับประทานมากเกินไป ร่างกายทำงานหนักเพราะต้องทำการย่อยมากเกินไป ดังนั้น หลังรับประทานอาหารเสร็จแล้วไม่ควรนอนทันที ควรจะนั่งหรือเดินผ่อนคลาย ทำจิตให้สบายก่อน ขณะนอนควรจัดระเบียบร่างกายให้สบายที่สุด
1.2 ความคิดฟุ้งซ่าน เป็นสาเหตุสำคัญของการนอนไม่หลับ ดังนั้น ถ้าจิตฟุ้งซ่านให้คิดถึงอะไรก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงจุดเดียวหรือเรื่องเดียว เช่นจะกำหนดพุท-โธ หรือสวดมนต์เฉพาะบทก็ได้ เสร็จแล้วก็เลิกไม่คิดสิ่งนั้นและไม่คิดอะไรอื่นทั้งสิ้น ทำจิตให้หมดจดเหมือนน้ำที่ใสสะอาด
การบังคับตัวให้ตื่นตามเวลาที่กำหนด กล่าวคือ ก่อนนอนต้องคิดให้แน่วแน่ ตั้งจิตอธิษฐานสั่งตนเองให้ตื่นเวลาเท่านั้น กำหนดจิตและฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถทำได้
2. ผ่อนความคิดได้ตามต้องการ คือ เมื่อต้องการคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็คิดเฉพาะเรื่องนั้นเรียกว่า มีโฟกัสและมีระเบียบทางความคิด อีกทั้งเมื่อไม่ต้องการคิดอีกต่อไปก็จะสามารถเปลี่ยนเรื่องได้ทันทีไม่วุ่นวายในการคิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ได้เป็นเหตุให้สมองมีเวลาพักผ่อนชั่วคราว ทำให้สมองมีกำลังแข็งแรง
3. สมานจิตเมื่อตกอยู่ในอันตราย เมื่อประสบทุกข์หรืออยู่บรรยากาศที่เศร้าสลด ก็ไม่เสียใจ สะดุ้งดิ้นรนจนหมดปัญญาแก้ไข ความสงบไม่ตื่นเต้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ทำกิจการงานก็สำเร็จได้โดยง่าย
4. เปลี่ยนร้ายกลายเป็นดี การฝืนใจตัวชั่วขณะหนึ่ง สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ทีเดียว เช่นเดียวกันกับการทำตามใจตัวชั่วขณะหนึ่งก็สามารถทำลายชีวิตได้เช่นกัน
5. มีการทดสอบอยู่เสมอ การตรวจสอบตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้รู้ว่า กำลังใจมั่นคงขึ้นหรือไม่ ความดีความชั่วเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ใจสะดุ้งหวาดกลัวอยู่หรือเปล่า ให้ทดสอบพลังจิตอยู่เนือง ๆ อย่างนี้
6. ไม่เผอเรอเพราะจิตตานุภาพ การสะดุ้งตกใจหรือเสียใจ ความกลัว ความกังวล เป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและบั่นทอนสุขภาพจิต คนไข้หากสุขภาพจิตดีก็หายไว เจ็บป่วยไม่นานก็ทุเรา
พระมหาปุณณ์สมบัติ ปภากโร
ผอ.ศูนย์บริการวิชาการ
มมร วิทยาเขตล้านนา
|